จรัญ พงษ์จีน : เส้นทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ “วุฒิสภา” เป็นเป้าหมายแรก

จรัญ พงษ์จีน

“ศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560” ทำท่าจะไม่ใช่จินตนาการเพ้อฝันซะแล้ว เพราะมีการขับเคลื่อนหนักทั้งในและนอกสภา โดยผู้จุดคบไฟให้สว่างหู สว่างตา ต้องยกเครดิตให้กับ “เด็ก” ในนาม “ม็อบเยาวชนปลดแอก”

ขณะนี้ทุกอย่างเหมือนสายน้ำไหลไปบรรจบสู่ที่เดียวกันคือ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลยังขานรับ ขนาด “พลังประชารัฐ” ส่ง “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิป มาแสดงจุดยืน รับหลักการแก้ไขโดยดุษณี แต่ไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2

ซึ่งสอดคล้องกับ 6 พรรคการเมืองจากพรรคฝ่ายค้าน ที่มีเห็นต่างกันอยู่บ้างก็ในรายละเอียดเท่านั้น ขณะที่ “กมธ.” หรือ “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ที่มี “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” เป็นประธาน ก็เร่งคีย์ตีจังหวะ เตรียมสรุปประเด็น-แนวทางเสนอต่อรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในเร็วๆ นี้

สรุป มิตรหรือศัตรูตอนนี้ ไม่ยึดติดกับ “สี-ความรู้สึก” เหนือความเป็นมนุษย์ ไม่เอากิเลสมาเป็นตัวผลักดัน ลืมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ชั่วคราว พร้อมใจก้าวข้ามกองขยะแห่งความขัดแย้ง ไล่ซาตานออกจากร่างกันชั่วขณะ

เมื่อนิสัย สันดาน “คนการเมือง” เปลี่ยนได้ นับประสาอะไรกับขุนเขาจะปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ไม่ได้

แต่ “ศึกแก้ รธน.” ยังเป็นทางสว่างที่ราคาแพงอยู่ เพราะมีอุปสรรค โดยเฉพาะประเด็น “ยกเลิกวุฒิสมาชิก 250 คน” ที่ผูกเป็นเงื่อนตายไว้ในบทเฉพาะกาล ตามบทบัญญัติ หมวด 15 มาตรา 256 ซึ่งระบุว่า

“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำโดยหลักเกณฑ์ (1) ต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย”

ซึ่งบันไดขั้นแรกดูเหมือนจะไม่ยาก แต่ที่จะติดติ่งก็ตรง (6) ที่กำหนดว่าการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม “ขั้นตอนสุดท้าย” ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และ “มีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา”

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล เพราะ (6) วรรคโดยสรุป ต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย คือ ส.ส.ทุกพรรค และที่เหนื่อยหนักพอๆ กับจับช้างเดินผ่านรูเข็ม ตรงที่ต้องใช้เสียง “วุฒิสมาชิก” 84 เสียงขึ้นไป

“ส.ว.ไม่ได้กินแกลบ” ที่จะไปเห็นดีเห็นงามชักนำคนเอาระเบิดเพลิงมาเผาบ้านตัวเอง ทุบหม้อข้าวตัวเองทิ้ง

 

“วุฒิสมาชิก” ชุดปัจจุบันเพิ่งแต่งตั้ง มีอายุราชการอีกนาน หากรากงอกได้ครบเทอม สามารถทำหน้าที่ “ฝักถั่ว” แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้อีกรอบ นานกว่า “บิ๊กตู่” อยู่ครบเทอมซะอีก

รายได้น้อยเสียเมื่อไหร่ “ค่าตอบแทน” ประจำที่จับต้องได้ประกอบด้วย “ประธานวุฒิสภา” เงินเดือน 74,420 บาท เงินประจำตำแหน่ง 45,000 บาท รวมเดือนละ 119,920 บาท “รองประธานวุฒิสมาชิก” เงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวม 115,740 บาท “วุฒิสมาชิก” เงินเดือน 71,230 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,330 บาท รวม 113,560 บาท ไหนยังมีเบี้ยประชุมอีกสารพัด สรุป รายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 115,000 บาทต่อคน/ปี เท่ากับ 1,400,000 บาท ศิโรราบรวม 5 ปีที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งคนละ 7,000,000 บาท

วุฒิสมาชิกจำนวน 250 คน บวกลบคูณหารกันเอาเองว่าใช้งบประมาณจำนวนเท่าไหร่

ทีนี้ลองตามไปดู ที่ไปที่มาของ “วุฒิสมาชิก” ตัดฉากแค่รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่ประกาศใช้ และถูกฉีกทิ้ง ที่กลิ่นยังหมาดๆ มาเทียบเคียง แล้วตรึกตรองกันดู ว่าฉบับไหนดี-ร้ายมากกว่ากัน

“ฉบับปี 2540” วุฒิสมาชิกประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวน 200 คน การเลือกตั้ง ส.ว.ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง การคำนวณเกณฑ์จำนวน ส.ว.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี การเลือกตั้งให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ในกรณีที่จังหวัดใดมีสมาชิกวุฒิสภามากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่จะพึงมีได้

“รธน.ปี 2550” วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวม 150 คนซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้น หักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

ในกรณีที่มีการเพิ่มหรือลดจังหวัดระหว่างวาระของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

ขณะที่ “รธน.ปี 2560” ระบุส่วนประกอบของวุฒิสมาชิก ตามมาตรา 107 ไว้ว่า วุฒิสภาประกอบด้วยจำนวนสองร้อยคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่ม ต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้

แต่อย่าเพิ่งงง “วุฒิสมาชิก” จำนวน 250 คน ชุดปัจจุบัน ไม่ได้มาตามช่องทางรัฐธรรมนูญจากมาตรา 107 แค่นำปิ่นโตเข้าวัดแล้ว แต่ยังไม่ได้ประเคน โดย ส.ว.ชุดนี้มาตามกรอบ “บทเฉพาะกาล” แห่งมาตรา 269 ที่ระบุว่า

“ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน โดยในการสรรหาและแต่งตั้ง ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิก ส.ว.คณะหนึ่ง ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคน แต่ไม่เกินสิบสองคน มีหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน”

แม้วุฒิสมาชิกชุดปัจจุบันจะไม่ได้มาจากกระบอกไม้ไผ่ก็จริง แต่นำไปหมกแล้วไหม้ยากกว่าข้ามหลามหนองมน เพราะมีมาตรา 256 เป็นกำแพงอีกด่าน

สรุป ส.ว.ชุดนี้ไม่มีทาง “ตกม้าตาย” ยกเว้น “แก่ตาย”

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)