ฉัตรสุมาลย์ : จากภาพสู่เพลงในดวงใจ

เมื่อสองวันก่อน ภิกษุณีธัมมนันทา ท่านสอนในชั้นเรียน ตอนนี้อยู่ในพรรษา พระภิกษุณีสงฆ์พบกันทุกบ่ายเพื่อเรียนพระวินัย

วันหนึ่ง ท่านธัมมนันทาพยายามหาวิธีสอนที่จะให้บรรดาหลวงพี่ได้ใช้ความสามารถในการสื่อความรู้สึก ความคิด ออกมาเป็นภาษาที่สามารถสื่อให้คนอื่นรับรู้ได้ แม้ไม่ทั้งหมด อย่างน้อยก็ให้คนอื่นรับทราบได้

วันนั้น ท่านยกรูปที่อยู่บนฝาผนังมาวางบนโต๊ะ และตั้งคำถวามว่า เมื่อเห็นภาพนี้แล้วรู้สึกอะไร อย่างไร

อธิบายก่อนนะคะ ว่ารูปนี้เป็นรูปที่วาดโดยศิลปินไทย โดยที่ท่านธัมมนันทาไปถ่ายรูปมาจากจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเบลันวิลล่า ในเมืองโคลอมโบ ศรีลังกา แล้วให้ศิลปินไทย คือคุณฉัตรฐากูร วาดรูปออกมาจากภาพนั้น

เนื่องจากพื้นที่ที่อยู่ด้านหน้าภาพที่อยู่บนผนังจำกัด ก็เลยต้องถ่ายรูป 3 รูป เอามาต่อกัน ถ้าเป็นสมัยนี้ ก็คงใช้โปรแกรมพาโนราม่าได้ในช็อตเดียว

ศิลปินวาดรูปลงเฟรมใหญ่จากรูป 3 รูปที่เอามาต่อกัน

 

ภาพนี้เป็นภาพพระเจ้าติสสะ กษัตริย์ชาวศรีลังกาอยู่ในขบวนแห่รับเสด็จพระภิกษุณีพระนางสังฆมิตตา พระธิดาของพระเจ้าอโศกที่เสด็จมาตามคำทูลนิมนต์ให้มาพร้อมคณะภิกษุณีเพื่อให้การอุปสมบทแก่พระนางอนุฬา น้องสะใภ้ของพระเจ้าติสสะที่ได้บรรลุโสดาบัน และขอออกบวช

นำขบวนด้วยหน่อโพธิ์ที่พระเจ้าอโศกประทานมา นัยว่า เป็นกิ่งโพธิ์ด้านใต้ของโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา พระเจ้าอโศกฯ ทรงอธิษฐาน และกิ่งโพธิ์ด้านใต้นี้หักลงมาเอง

หน่อโพธิ์ที่ว่านี้ บรรจุมาในสุวรรณภาชนะ โถทองคำใบใหญ่ รอนแรมข้ามทะเลมาทางเรือ

ลีลาของต้นโพธิ์ที่อยู่ในสุวรรณภาชนะนี้ อ่อนนุ่ม ดูออกว่าเป็นลีลาของศิลปินศานตินิเกตัน

ทหารตามเสด็จ ทั้งแบกคานหามสุวรรณภาชนะที่ใส่หน่อโพธิ์ ตามด้วยภิกษุณีสงฆ์ที่ตามเสด็จพระนางสังฆมิตตามาจากอินเดีย

พระนางสังฆมิตตาเองนั้น มีรัศมีสีขาวนวลรอบพระเศียร เป็นนัยยะที่ศิลปินตั้งใจจะบอกว่า ท่านบรรลุธรรมแล้ว ลีลาของพระนางสังฆมิตตาแม้จะอ่อนช้อย แต่ก็มีความมั่นคงสมกับเป็นผู้นำ

จำนวนภิกษุณีที่ตามเสด็จในคัมภีร์มหาวงศ์ระบุว่า 10 รูป แต่ในคัมภีร์ทีปวงศ์ ซึ่งเก่ากว่าคัมภีร์มหาวงศ์ประมาณ 100 ปี นอกจากจำนวนแล้ว ยังระบุชื่อของแต่ละรูปด้วย

อันนี้ตอบข้อสงสัยที่ว่าท่านอาจจะไม่ได้มาเป็นคณะสงฆ์ ทำให้ไม่สามารถให้การอุปสมบทได้ ความคิดเช่นนั้นก็ตกไป เพราะมีหลักฐานหักล้างชัดเจน และยันกันทั้งในคัมภีร์มหาวงศ์และทีปวงศ์

ที่น่าสนใจ พระเจ้าติสสะเองรั้งท้ายขบวน อยู่ที่มุมขวาของรูป โดยจุดรวมสามภาพนี้ ตามที่ศิลปินตั้งใจให้เป็นเรื่องสำคัญของภาพ คือพระนางสังฆมิตตาที่อยู่ตรงกลาง

รูปนี้ติดตั้งอยู่บนพระวิหารทั้งชั้นสามและชั้นสองของตัวอาคาร บนชั้นสามเป็นรูปจริง แต่ที่ชั้นสองนั้นเป็นรูปพิมพ์ของรูปเดียวกัน

 

เป็นโอกาสที่จะได้คุยในรายละเอียด เพราะหลวงพี่หลายรูปก็ยังไม่ทราบที่มาของภาพ

วันนี้ผู้เขียนตั้งใจจะพูดถึงภาพนี้ ไปพบที่มาที่ไปลึกลงไปว่า ศิลปินคนแรกที่วาดภาพนี้บนฝาผนังวิหารที่วัดเบลันวิลล่า เป็นศิลปินชาวศรีลังกาที่ไปเรียนที่ศานตินิเกตัน มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ก่อตั้งโดยท่านรพินทรนาถ ฐากูร Rabindranath Tagore และศิลปินไทยที่วาดภาพนี้ซ้ำ ก็เป็นศิลปินที่จบปริญญาโทมาจากศานตินิเกตัน

โอ้ ว้าว

จากลายเส้นและโทนสีที่ใช้ ประทับตราได้ว่า ต้องมาจากจิตวิญญาณของศานตินิเกตันแน่ๆ

สานภาพมาสู่เพลง

สมุดที่เราเรียนกันสมัยที่เป็นนักศึกษาอยู่ที่ศานตินิเกตันนั้น มีเพลงประจำมหาวิทยาลัยอยู่ที่ปกหลัง

อ้อ ใช่ค่ะ ผู้เขียนก็เป็นศิษย์จากสถาบันนี้คือ ศานตินิเกตันเหมือนกัน แต่เรียนปริญญาตรีสายอักษรศาสตร์ ไม่ได้อยู่คณะกลาภวันที่เขาเรียนศิลปะกัน

ขออนุญาตแปลเพลงนี้ออกมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ให้ดูภาพถ่ายที่มีเนื้อเพลงทั้งภาษาอังกฤษและเบงกอลี ภาษาถิ่นของท่านรพินทรนาถ ฐากูร

เพลงประจำมหาวิทยาลัยศานตินิเกตัน

“เธอเป็นของเรา ผู้เป็นที่รักในดวงใจ

ใบหน้าของเธอสดสุกใสเปี่ยมในความรักทุกครั้งที่ได้ยล

เราพบกันภายใต้ร่มเงาไม้ของเธอ

ท่ามกลางท้องฟ้าที่เป็นอิสระ

สวรรค์ประทานจุมพิตมาทั้งยามเช้าและเย็น

เรารับรู้ถึงความสดชื่นที่เธอเป็นของเรา

ผู้เป็นที่รักในดวงใจ

ร่มเงาของเธอมีชีวิตด้วยเสียงรำพึงจากแนวป่า

ใบมะขามป้อมพลิ้วไหวในสายลม

เธอสถิตอยู่ในตัวเราเสมอไม่ว่าเราจะท่องเที่ยวไปไกลแสนไกล

เธอถักทอหัวใจของเราไว้ในลำนำเพลง

เราระลึกเสมอว่า เธอเป็นของเรา

ผู้เป็นที่รักในดวงใจ”

 

ท่านรพินทรนาถ ท่านร้อยเรียง ถักทอจิตวิญญาณของศานตินิเกตันไว้ในใจของเราที่เป็นศิษย์จากสถาบันนี้อย่างแท้จริง แม้กาลเวลาผ่านไป สำหรับผู้เขียนนั้น เข้า 60 ปีทีเดียว เพลงที่ท่านร้อยเรียงให้เราร้อง ให้เรารำ ให้เราเต้น ยังปรากฏเด่นชัดในใจของเราจริงๆ

ท่านเป็นกวีที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลก บทกวีของท่านละเมียดละไมเข้าไปในทุกขุมขน ท่านเป็นนายของภาษาทั้งภาษาแม่ คือภาษาเบงกอลี และภาษาอังกฤษ หากเราไปอินเดียโดยเข้าที่เมืองท่าที่ใกล้ประเทศไทยที่สุด คือ กัลกัตตา (โกลกตา) เป็นเมืองหลวงของรัฐเบงกอล ที่สถานีรถไฟฮาวราห์ มีรูปของท่านรพินทรนาถโดดเด่น ชาวเบงกอลีเรียกขานท่านว่า เป็นคุรุเทพ

นักศึกษาที่ไปอยู่ที่ศานตินิเกตัน จะเห็นภาพชัดเจน แม้ว่าท่านจะเสียชีวิตไปแล้วในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านใช้ภาษาให้โลดแล่นในใจของเราทั้งงานเขียนร้อยแก้วร้อยกรอง บทกวีต่างๆ ทั้งภาษาอังกฤษและเบงกอลี บทเพลงที่นักศึกษาเอามาร้อง และนำมาทำเป็นบทละคร ทั้งหมดนี้เกิดในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

หลังบ้านของท่านเป็นลานซีเมนต์ขัดมันกว้างเป็นรูปครึ่งวงกลม ตรงนี้ท่านจะให้นักศึกษาหัดร้องเพลง ฝึกละครจากบทประพันธ์ของท่าน แม้ในสมัยที่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาอยู่ที่นั่น (2505-2508) นักศึกษาคณะสังคีตภวันก็ยังจัดการแสดงอยู่บ่อยๆ

เพลงประจำมหาวิทยาลัย “อามาเด ศานตินิเกตัน” บรรยายถึงจิตวิญญาณของศานตินิเกตันที่แทรกอยู่ในแมกไม้ สายลมและท้องฟ้าที่สะท้อนความเป็นอิสระทางจิตวิญญาณ แม้กระนั้น ก็ผูกพันกัน

นอกจากงานทางภาษา เพลง บทละคร ความเป็นผู้นำทางความคิดที่จำเป็นยิ่งสำหรับชาวอินเดียในช่วงที่ต้องต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

ท่านยังแสดงออกในงานด้านสถาปัตยกรรมที่ไม่ค่อยได้ยินคนอื่นพูดถึง เมื่อเราเดินเข้าไปในส่วนที่เป็นบ้านของท่าน

ซ้ายมือเรียกว่า วิจิตรา เป็นอาคารที่จัดแสดงผลงานของท่าน

ขวามือเป็นสนามเทนนิส อาจจะเป็นของสมาชิกในครอบครัว เดินตรงเข้าไปอีกเป็นลานดินแดงกว้าง โล่ง ซ้ายมือเป็นบ้านของท่าน รูปทรงของบ้านแผ่กว้าง มีส่วนที่ขึ้นไปชั้นสอง แต่ลดหลั่นอย่างมีศิลปะทีเดียว

แต่บ้านอีก 3-4 หลังที่อยู่ด้านตรงกันข้าม ก็เป็นบ้านที่ท่านออกแบบเองให้สร้างขึ้นเหมือนกัน

ท่านจึงเป็นศิลปินโดยแท้

จากภาพสู่เพลง ด้วยหัวใจ

เพลงชาติของอินเดีย ท่านก็เป็นผู้ประพันธ์ แต่ที่ศานตินิเกตัน เราไม่ร้องเพลงชาติ ทุก 7 โมงเช้า เราไปเข้าแถวที่สนามหน้าห้องสมุด นักศึกษารุ่นพี่จะเป็นผู้นำร้องเพลงหลากหลายที่ท่านนิพนธ์ไว้ ให้ตัวหนังสือเข้าไปเต้นอยู่ในหัวใจของเรา

โอม ศานติ ศานติ ศานติ

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)