ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม - 3 กันยายน 2563 |
---|---|
เผยแพร่ |
โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ [email protected]
เหรียญความเจริญก้าวหน้า
มงคลที่ระลึก 99 ปีชาตกาล
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ)
‘สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์’ (เจริญ ญาณวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ปูชนียาจารย์สำคัญ ผู้มีบทบาทและคุณูปการมากมายแก่วงการสงฆ์ไทย
เป็นพระอุปัชฌาย์ของ ‘พระธัมมวิตักโกภิกขุ’ หรือ ‘เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต’
ดังนั้น วัตถุมงคลอันเนื่องด้วยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ส่วนใหญ่ ท่านเจ้าคุณนรรัตน์จึงได้อธิษฐานจิตให้เป็นกรณีพิเศษมากมายหลายรุ่นหลายแบบ ล้วนมีค่าแก่การบูชา
สำหรับเหรียญแห่งความเจริญก้าวหน้า สร้างในปี พ.ศ.2514 วาระครบรอบ 99 ปีชาตกาล
จัดสร้างขึ้นทั้งสิ้น 4 ขนาด คือ ขนาด 9 เซนติเมตร ขนาด 7 เซนติเมตร ขนาดเท่าเหรียญบาทและขนาดเท่าเหรียญสลึง มอบให้กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ เป็นผู้สร้าง โดยรวบรวมชนวนมงคลโลหะที่เจ้าคุณนรรัตน์อธิษฐานจิตเอาไว้ เป็นชนวนมวลสารสำคัญในการหล่อหลอม
สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สันตังกุโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ และหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงษ์ เคยบอกเล่าว่า การจัดสร้างเหรียญนี้ เตรียมงานดำเนินการตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2513 ก่อนงานปี พ.ศ.2514 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 99 ปีชาตกาล ‘สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์’
เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เพื่อให้ทันแจกในงาน ปรากฏว่าตั้งใจจะให้ทันพิธีอธิษฐานจิตโดยเจ้าคุณนรรัตน์ในวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2513 แต่เหรียญสร้างได้ไม่ครบ สร้างเสร็จเฉพาะเหรียญขนาด 9 เซนติเมตร และ 7 เซนติเมตร ซึ่งเป็นเหรียญขนาดใหญ่ มีจำนวนเหรียญขนาดละ 99 เหรียญ
จึงนำเพียงเหรียญที่สร้างเสร็จเข้าพิธีอธิษฐานจิต
ส่วนขนาดเท่าเหรียญบาทและเหรียญสลึง ทำตามคำสั่งของเจ้าคุณนรรัตน์ คือให้พระโสภณศีลคุณ (หลุย) อธิษฐานจิตให้เป็นเวลา 3 วัน
สำหรับพระโสภณศีลคุณ (หลุย) เป็นศิษย์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ร่วมอาจารย์เดียวกับเจ้าคุณนรรัตน์ เป็นศิษย์ลำดับที่ 23
เหรียญแห่งความเจริญก้าวหน้า บางคนเรียกว่า ‘เหรียญปทุมโสฬส’
มีนามเดิมว่าเจริญ สุขบท เกิดเมื่อวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2415 อยู่ที่ ต.ตลาดกลาง อ.บางปลาสร้อย จ.ชลบุรี บิดา-มารดาชื่อนายทองสุขและนางย่าง สุขบท
อายุ 8 ปี เข้าศึกษาในสำนักของพระชลโธปมคุณมุนี (พุฒ ปุณณโก) วัดเขาบางทราย อ.เมือง จ.ชลบุรี
อายุ 12 ปี เข้าพิธีบรรพชาที่ศาลาในสวนของย่า ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีพระชลโธปมคุณมุนี (พุฒ ปุณฺณโก) เป็นพระอุปัชฌาย์
กลับมาเล่าเรียนที่วัดเขาบางทรายสืบต่ออีก กระทั่งอายุ 14 ปี เข้าศึกษาพระปริยัติธรรม อยู่ในสำนักพระครูวินัยธร (ฉาย) ฐานานุกรมของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธฯ
อายุครบ 20 ปี กลับไปอุปสมบทที่วัดเขาบางทราย โดยพระชลโธปมคุณมุนี (พุฒ ปุณณโก) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่าญาณวโร
เดินทางกลับเข้าจังหวัดพระนคร อยู่วัดกันมาตุยาราม เพื่อความสะดวกในการศึกษา
ต่อมาไปเรียนในสำนักท่านเจ้าคุณพระศาสนโศภณ (อหึสโก อ่อน) ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี วัดพิชัยญาติการาม ถึงปีมะแม พ.ศ.2438 เข้าสอบพระปริยัติธรรมในมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยลำดับจนถึงชั้นเปรียญตรี เทียบ 4 ประโยค
ปีวอก พ.ศ.2439 จึงมาอยู่วัดเทพศิรินทราวาส เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ในสำนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น เป็นพระอาจารย์ ในปีนั้นเข้าสอบพระปริยัติธรรมในมหามกุฏราชวิทยาลัยได้โดยลำดับ จนถึงชั้นเปรียญเอก เทียบ 7 ประโยค ได้รับรางวัลที่ 1 ทุกประโยคตั้งแต่ชั้นต้นจนถึงชั้นที่สุด และได้รับตำแหน่งเป็นครูเอกโรงเรียนภาษาบาลี วัดเทพศิรินทราวาสสืบมา
ถึงปีจอ พ.ศ.2441 มีพรรษา 7 อายุเข้า 27 ปี ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระอมราภิรักขิต โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้อำนวยการศึกษาในมณฑลปราจีนบุรี และในปีเดียวกัน วันที่ 22 มกราคม สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงตั้งให้เป็นผู้กำกับวัดสัมพันธวงศ์อีกตำแหน่งหนึ่ง
ถึงวันพุธที่ 25 มกราคม 2441 หลังจากที่หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสในขณะนั้นทูลลาออกจากเจ้าอาวาสเพื่อจะลาผนวชในปลายปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส
ครั้นเมื่อเริ่มรับหน้าที่เจ้าอาวาสนั้น มีภิกษุที่อยู่ประจำวัด 46 รูป สามเณร 30 รูป ในการรับอุปสมบทกุลบุตรนั้น โดยที่มีพรรษา 7 เหตุนี้ในการอุปสมบทกรรม จึงเป็นแต่พระอุปสัมปทาจารย์ เพราะมีพรรษายุกาลยังไม่ถึงองค์กำหนดที่ควรจะเป็นพระอุปัชฌายะได้ ในระยะนี้จึงได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาเป็นพระอุปัชฌายะประจำ
ลำดับสมณศักดิ์ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2441 เป็นพระราชาคณะที่ พระอมราภิรักขิต
วันที่ 25 พฤษภาคม 2445 เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระราชมุนี
วันที่ 6 พฤษภาคม 2449 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพกวี
วันที่ 25 มกราคม 2453 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์
วันที่ 24 กันยายน 2464 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะธรรมยุติกนิกายที่ พระสาสนโสภณ
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2471 เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่หนเหนือที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2441 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส
พ.ศ.2445 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี
พ.ศ.2467 เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรีและมณฑลจันทบุรี
พ.ศ.2476 เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
พ.ศ.2486 เป็นประธานสังฆสภา
พ.ศ.2489 เป็นสังฆนายก
พ.ศ.2493 เป็นสังฆนายก สมัยที่ 2
อาพาธด้วยโรคเนื้องอกที่ตับ ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2494 เวลา 10.00 น.
กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)
- ลงทะเบียนเข้างาน รับต้นไม้ฟรี (จำนวนจำกัด) ลิงก์ลงทะเบียน
- ลงทะเบียน workshop ฟรี ลิงก์ลงทะเบียน