เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ภูมิเมืองกาญจน์

เลือดตัวแต่ปลายลำ แม่กลองไหลแลเป็นนาย

เลือดตูที่ต้นสาย บ่สำหรับจะดูแคลน ฯ

กาพย์บทนี้จากเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” แต่งโดยอัศนี พลจันทร นามปากกา “นายผี” เล่าประวัติต้นตระกูล “พลจันทร” คือนายจันทร เกิดราชบุรี (ปลายลำแม่กลอง) ต่อมาเป็นแม่ทัพคือพระยาพล มาประจำอยู่กาญจนบุรี (ต้นสายน้ำแม่กลอง)

ต้นสายน้ำแม่กลองมีเมืองกาญจน์เก่า-ใหม่ตั้งอยู่ เมืองกาญจน์เก่าตั้งอยู่ทุ่งลาดหญ้าริมแควใหญ่สบกับน้ำลำตะเพิน เมืองกาญจน์ใหม่อยู่ตรงต้นน้ำแม่กลองมีแควน้อยกับแควใหญ่มาบรรจบ

ตรงต้นแม่กลองฝั่งเมืองมีกำแพงเมืองเก่ากว้าง 210 เมตร ยาว 494 เมตร มีประตูเมืองจารึกอักษรว่า “เมืองกาญจนบุรี พ.ศ.2374”

กลางใจเมืองมีศาลหลักเมือง อาคารที่ทำการราชการ มีจวนผู้ว่าฯ (เก่า) และมี

โรงงานกระดาษ

เด่นตระหง่านอยู่กลางกำแพงเก่าที่ยังคงซากอิฐเก่าเหลือเป็นแนวอยู่บางส่วน

“โรงงานกระดาษกาญจนบุรี เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2478 และเปิดดำเนินกิจการเมื่อปีพุทธศักราช 2481 ถือได้ว่ากลุ่มอาคารโรงงานกระดาษและสิ่งปลูกสร้างของโรงงานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติการอุตสาหกรรมในประเทศไทย

เนื่องจากก่อตั้งเป็นโรงงานกระดาษแห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตเยื่อกระดาษเอง จัดว่ามีความทันสมัยมาก ในช่วงเวลาดังกล่าวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้งานในการผลิตได้ด้วยตนเอง มีกระบวนการผลิตกระดาษทันสมัย ใช้เครื่องจักรจากต่างประเทศ กลุ่มอาคารในพื้นที่นี้จึงเป็นประจักษ์พยานอันแสดงถึงการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหนัก และการค้าขนาดใหญ่ รวมไปถึงความเข้มแข็งของประเทศที่พัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิต”

ความข้างต้นคัดจากหนังสือของทางการเรื่อง “กำแพงเมืองกาญจนบุรี” และ “โรงงานกระดาษกาญจนบุรี”

นี่คือความ “เก่า-ใหม่” ของความเป็น “เมืองกาญจน์” ที่ปรากฏอยู่กลางเมืองอันน่าทึ่ง

ความมีชีวิตชีวาที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวมันเองอยู่ตลอดด้วยการหยุดเวลาไว้ตรงนี้

ตรงกลางใจเมือง

และกลางตากลางใจเรา

คณะศิลปินแห่งชาติทั้งสาขาสถาปัตย์ จิตรกรรม วรรณกรรม และนักวิชาการ ได้มาเยือน เห็นความขัดแย้งที่กลมกลืนกันของทั้งอดีตและปัจจุบัน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า

“นี่คือเสน่ห์อันอลังการของเมืองกาญจน์” จำเพาะกลุ่มอาคารที่มีปล่องชูขึ้นฟ้ากับถังประปาโดดเด่น ก็กำลังบอกเล่าเรื่องราวได้แล้วว่า ปล่องคือปากกา ถังประปาคือกระปุกหมึก กำลังเขียนเรื่องเมืองกาญจน์โดยใช้แผ่นฟ้าเป็นแผ่นกระดาษ

เมืองกาญจน์มี “เรื่องเล่า” มากมาย ล้วนเรื่องที่เป็น “ภูมิแผ่นดิน” ทั้งสิ้น

ภูมิศาสตร์ คือเมืองชายแดนที่มีป่าใหญ่ เขาใหญ่ และสายน้ำใหญ่ โดยเฉพาะ “แควน้อยสีไพล แควใหญ่สีพลอย”

ภูมิทัศน์ คือแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ใกล้เมืองหลวงที่สุด

ภูมิประวัติ คือถิ่นฐานมนุษย์ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ถึงในประวัติศาสตร์สงครามโลกและความเป็น “เมืองหน้าด่าน” ทุกยุคสมัย

ภูมิธรรม คือความเป็นแหล่งวัฒนธรรม ที่นอกจากเป็นพื้นภูมิของอารยธรรมหลากหลายแล้วยังเป็นเมืองแห่งชาติภูมิขององค์พระประมุขในพุทธศาสนาทั้งไทย จีน และญวนด้วย

“เรื่องเล่า” เหล่านี้จะต้อง “เล่าเรื่อง” ผ่าน “ศิลปะการเล่าเรื่อง” ด้วยงานสร้างสรรค์ทั้งภายในตัวกลุ่มอาคารและนอกอาคาร

ดุจดังปากกาวาดกระดาษฟ้า อยู่กลางตาและกลางใจเมืองอยู่นี้

นี้เป็น “ใจเมือง” ของคนเมืองกาญจน์

คนเมืองกาญจน์ทุกคนต้องได้เป็นเจ้าของ ต้องร่วมมือร่วมใจดังได้ทำให้ปรากฏมาแล้วจากการเข้าชื่อทวงคืนโรงงานมาเป็นของชาวเมืองได้สำเร็จ

สถานการณ์วันนี้เปิดโอกาสให้ชาวเมืองกาญจน์ต้องร่วมมือร่วมใจสร้างสรรค์โรงงานกระดาษให้เป็น “ภูมิเมืองกาญจน์” แท้จริงได้ตาม พ.ร.บ. “ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562” ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนเต็มที่

ภูมิเมืองกาญจน์ จะเป็นภูมิแผ่นดิน ไม่ใช่แค่คนเมืองกาญจน์เท่านั้น แต่เป็นความภูมิใจของคนทั้งประเทศ

และของชาวโลกโดยแท้