บทความพิเศษ /นงนุช สิงหเดชะ/ ขาด ‘วุฒิภาวะ’ ทั้งอาจารย์-นักศึกษา

บทความพิเศษ /นงนุช สิงหเดชะ

ขาด ‘วุฒิภาวะ’

ทั้งอาจารย์-นักศึกษา

 

เห็นพวกอาจารย์-นักวิชาการ 2 กลุ่ม คือกลุ่ม 105 คน กับกลุ่ม 353 คน ที่ออกแถลงการณ์ปกป้องการกระทำของผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา แล้วก็ต้องบอกว่า “ขาดวุฒิภาวะ” กันทั้งอาจารย์และนักศึกษา

จนไม่แน่ใจว่าในอนาคตข้างหน้าเราจะได้ประชากรที่มี “วุฒิภาวะ” พอที่จะทำให้สังคมอยู่กันได้อย่างสงบสุข รู้จักเคารพความเชื่อ ความศรัทธา ของคนอื่นหรือไม่

พวกอาจารย์และนักวิชาการเหล่านี้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมทางการเมือง โดยไม่ต้องหวาดกลัวต่ออำนาจอธรรม และยังเป็นการป้องกันนักศึกษาไม่ให้มีความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากไปจัดกิจกรรมข้างนอก

นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมพิจารณาข้อเรียกร้องของนักศึกษาอย่างมีสติ มีเหตุผล ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม

ไม่ใช่ปฏิเสธจะรับฟังด้วยอคติ ใส่ร้ายป้ายสีหรือปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง

 

แถลงการณ์ของพวกอาจารย์เหล่านี้ มีขึ้นหลังจากม็อบ “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” กระทำล้ำเส้น เพราะไม่ได้ชุมนุมเรียกร้องแค่ 3 ข้อ คือ ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และหยุดคุกคามประชาชน

แต่ขยายไปไกลเรื่องสถาบันกษัตริย์ โดยมีการปราศรัยอย่างเปิดเผยบนเวที มีการนำป้าย นำข้อความโจมตีสถาบันกษัตริย์ที่เคยอยู่ข้างล่างเวทีในม็อบนักศึกษาอื่นๆ ที่จัดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้านี้ไปแสดงบนเวที

มีการฉายภาพเชิดชูผู้ต้องหามาตรา 112 ที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ คือนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แล้วมีการแต่งภาพ ใส่สัญลักษณ์บางอย่างที่สื่อความหมายว่าต้องการเชิดชูสองคนนี้เป็นกษัตริย์

พร้อมกันนั้น ยังมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ซึ่งอ่านดูแล้วถ้าทำครบ 10 ข้อ ในทางปฏิบัติก็หมายความว่าไม่มีสถาบันกษัตริย์นั่นเอง และเชื่อว่าจะไม่เรียกร้องแค่ 10 ข้อแน่ เป็นไปได้ว่าถ้า 10 ข้อนี้สำเร็จ อาจจะขยายไปอีก 10 ข้อ เช่น ให้เลิกโครงการพระราชดำริ ห้ามออกพบปะประชาชน ห้ามไม่ให้สถาบันกษัตริย์มีโครงการใดๆ ก็ตามในการช่วยเหลือประชาชน (เพราะนักการเมืองกลัวถูกแย่งซีน) ห้ามไม่ให้สานต่อหรือส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่พอใจจนกระทั่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องออกมาขอโทษและจะระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดยจะมีกฎเกณฑ์รัดกุมมากขึ้นก่อนจะอนุญาตให้ใช้สถานที่

พวกอาจารย์ที่ออกมาปกป้อง พยายามสร้างความชอบธรรมให้กับนักศึกษาและม็อบเหล่านี้ว่ามีสิทธิชุมนุมทางการเมืองภายใต้ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ แต่หลีกเลี่ยงไม่พูดถึงรายละเอียดการแสดงออกของนักศึกษาหรือผู้ชุมนุมกลุ่มนี้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ อ้างแต่ว่าเป็นแค่การตั้งคำถาม

คงมีแต่พวกอาจารย์เหล่านี้กระมังที่เห็นว่าเวทีวันนั้นเป็นแค่การตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพราะคนภายนอกส่วนใหญ่เขาไม่เห็นอย่างนั้น

แต่เขาเห็นว่าเป็นการแสดงออกแบบสนุกปาก เมามัน ไม่สน ไม่แคร์ ว่าจะกระทบความรู้สึกของผู้ที่ยังศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ ดูถูก ย่ำยีความเชื่อความศรัทธาของคนอื่นหรือไม่

 

ในสังคมประชาธิปไตยซึ่งเป็นพหุสังคม ซึ่งแต่ละคนมีความเชื่อ ความศรัทธาที่หลากหลาย คนมีจิตใจประชาธิปไตยและมีวุฒิภาวะ จะต้องไม่อ้างแค่ว่า อะไรก็ตามที่ไม่ผิดกฎหมายสามารถทำได้ เพราะสังคมเราไม่ได้อยู่กันด้วยตัวบทกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ทั้งนั้น แต่ยังมีเรื่องขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ ความศรัทธา และกฎกติกามารยาทในสังคม

เรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธา เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนสูง สังคมอารยะเขาถึงสอนกันว่าอย่าไปละเมิด ดูถูก วัฒนธรรม ความเชื่อของคนอื่น เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกแบบร้าวลึก ร้อยปีก็แก้ไม่ได้ อย่างที่เห็นกันในหลายประเทศ

พวกอาจารย์เหล่านี้จะสนับสนุนนักศึกษาในการแสดงออกทางการเมือง ย่อมไม่มีใครขัดข้อง แต่การเข้าข้างแบบไม่ลืมหูลืมตา และไม่ยอมเตือนสตินักศึกษาในสิ่งที่ไม่เหมาะสม เป็นสิ่งที่แย่-น่าเศร้า เพราะคนที่เป็นอาจารย์น่าจะมีวุฒิภาวะมากกว่าเด็กนักศึกษา

การเข้าข้างอย่างเดียว ไม่ยอมเตือนสติหรือติงบ้าง จะทำให้นักศึกษาหรือเยาวชนหลงผิดเข้าใจว่าเสรีภาพคือการทำอะไรก็ได้ ละเมิดคนอื่นในเรื่องละเอียดอ่อนอย่างไรก็ได้

ถ้าเป็นแบบนั้นต่อไปคนพวกนี้จะไม่หยุดอยู่แค่เรื่องสถาบันกษัตริย์ แต่อาจจะไปละเมิดเรื่องอื่นด้วย เช่น ดูถูกคนที่นับถือศาสนาต่างๆ ดูถูกวัฒนธรรมของคนอื่น

 

อาจารย์เหล่านี้ รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านบางพรรค เรียกร้องให้สังคมอดทน อดกลั้นและรับฟังนักศึกษาเหล่านี้อย่างมีสติ มีเหตุผล ไม่ปลุกปั่น ไม่สร้างความเกลียดชัง แต่อาจารย์แน่ใจหรือว่าสิ่งที่ผู้ชุมนุมเหล่านั้นแสดงออกมากระทำไปอย่าง “มีสติ ไม่ปลุกปั่น ไม่แสดงความเกลียดชัง”

พฤติกรรมของอาจารย์และนักการเมืองฝ่ายค้านบางพรรคที่เข้าข้างม็อบเหล่านี้ ก็คล้ายๆ กับว่า พากันจับประชาชนที่ยังศรัทธาในสถาบันกษัตริย์มัดมือไพล่หลัง แล้วให้ม็อบเหล่านั้น (หรือม็อบในเครือข่ายทั้งหมดไม่ว่าจะใช้ชื่อม็อบว่าอะไร) ด่าและล้อเลียนพ่อ-แม่ของเขา แล้วบอกให้ประชาชนที่ถูกจับมัดมือไพล่หลังเป็นฝ่ายอดทน ห้ามตอบโต้

อาจารย์บอกคนอื่นอย่าใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา แต่ความเข้าใจของอาจารย์เหล่านี้ “ความรุนแรง” หมายถึงการใช้กำลังทางกายภาพเท่านั้น แต่ระดับคนเป็นอาจารย์ควรมีสติปัญญาพอที่จะรู้ว่า ความรุนแรงไม่ได้หมายถึงเรื่องกายภาพเท่านั้น แต่ยังมีความรุนแรงในเชิงนามธรรมด้วย ซึ่งได้แก่การแสดงออกหรือการใช้คำพูดรังแกข่มเหง ดูถูกคนอื่นให้ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจหรือถูกทำให้ด้อยค่าด้วย

 

อาจารย์เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยอนุญาตให้นักศึกษาใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมทางการเมือง เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของนักศึกษา ดีกว่าไปจัดข้างนอก

ในความเป็นจริง จัดที่ไหนก็ไม่ปลอดภัย ถ้ายังมีการล่วงละเมิดศรัทธาของคนอื่น ดังนั้น จะปลอดภัยหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับสถานที่ แต่ขึ้นกับพฤติกรรมของผู้ชุมนุม ถ้ายั่วยุ เหยียดหยามย่ำยีคนอื่นมาก ก็อาจจะโดนบุกมหาวิทยาลัย หรือถ้าเดินออกนอกรั้วมหาวิทยาลัยก็อาจไม่ปลอดภัย

ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้ต้องการให้ใครใช้ความรุนแรง

แต่ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะถ้ายังละเมิดศรัทธาคนอื่น ก็ไม่มีใครคุ้มกันภัยให้เราได้ เพราะนี่มันเลยจากขอบแดนการเมืองแล้ว ไม่ต้องมีใครสั่งการ ปฏิกิริยาตอบโต้ก็จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

อย่าเรียกร้องให้คนอื่นเป็นฝ่ายอดทนเราอย่างเดียว อย่าผูกขาดว่าความคิด ความเชื่อของตัวเองเหนือกว่า ถูกต้องกว่า

ฝ่ายม็อบหรือแนวร่วมม็อบ มักเรียกร้องคนอื่นไม่ให้คุกคามตัวเอง แต่ฝ่ายตัวเองก็คุกคามคนอื่น เช่น ถ้าใครไม่เข้าพวกตัวเอง ก็ด่าว่าเขาเป็นสลิ่มโง่

อย่างเร็วๆ นี้ดาราหรือคนมีชื่อเสียงคนไหนโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์พระพันปีหลวงเนื่องในวันแม่ 12 สิงหาคม พวกนี้ก็ตามไปล่าแม่มด ข่มขู่เขาว่าจะแบน ไม่ดูละคร ไม่สนับสนุนสินค้าที่ดาราเหล่านี้เป็นพรีเซ็นเตอร์

 

ส่วนในระดับโรงเรียนมัธยมบางแห่ง ที่นักเรียนกำลังนิยมชู 3 นิ้ว ก็คล้ายๆ เกิดระบบเผด็จการในโรงเรียน คือบังคับคนอื่นให้มาร่วมกับตัวเองเพื่อจะได้ถ่ายภาพโชว์ทางโซเชียลมีเดีย ใครไม่ยอมทำตามก็ข่มเหงกลั่นแกล้งเขา

เลยอยากฝากถามอาจารย์ว่า นักศึกษา เยาวชน คนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ โตขึ้นมีแนวโน้มเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

บอกตามตรงว่าเห็นอาการของเด็กเหล่านี้ ทั้งกร่าง ทั้งหลงตัวเอง ทั้งเหยียดหยันคนอื่นในสังคมแล้ว สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่นักประชาธิปไตย แต่คือคน “คลั่งลัทธิประชาธิปไตย” จนกลายเป็นเผด็จการเสียเอง

อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ ควรให้สตินักศึกษา ให้ใช้เสรีภาพอย่างมีสติและวุฒิภาวะ เคารพคนอื่น ควรจะใช้ความเป็นมนุษย์หรือหัวใจแห่งมนุษย์นำหน้าเสรีภาพ

สิ่งสำคัญในสังคมคือครูอาจารย์ต้องสอนคนให้เป็น “มนุษย์” (แปลว่าผู้มีจิตใจสูง) ให้ได้เสียก่อน

กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)