เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เปิดใจ แนวทางรับมือ “คนรุ่นใหม่” 6 ตุลาคม ต้องไม่ให้เกิด

ทันทีที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ วัย 66 ปี มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ต้องเจองานใหญ่

เพราะเป็นช่วงที่นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยจัดชุมนุมเรียกร้องรัฐบาล 3 ข้อหลัก 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3.ยุบสภา

จึงต้องเชิญอธิการบดีมากำชับสั่งการให้ดูแลการชุมนุมอย่าให้คนภายนอกมาร่วม และห้ามปราศรัยล่วงละเมิดสถาบัน

“มติชนสุดสัปดาห์” ได้มีโอกาสสนทนากับ รมว.อว.คนใหม่ในหลากหลายประเด็น โดยเจ้าตัวระบุว่า งานเฉพาะหน้าที่สำคัญคือ

1. งานในสถานการณ์หลังโควิด ซึ่งมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ต้องวิจัยค้นคว้าที่จะช่วยกระทรวงสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี

2. ต้องเข้ามาช่วยนายกรัฐมนตรีและช่วยรัฐบาล ทำให้ขบวนนักศึกษาที่กำลังมีบทบาทให้ได้พูดแสดงความเห็น เรียกร้องอะไรตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมายได้ก็ต้องสนับสนุน แต่ต้องมีความเข้มงวด ไม่ใส่เกียร์ว่าง ในเรื่องที่จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะคนที่ยังเคารพ ยังจงรักภักดีก็มีมากเหลือเกิน

“ถ้าเราไม่ระมัดระวังเสียเลย จะเกิดการปะทะกันทางความคิดและปะทะทางกายภาพได้ เพราะฉะนั้น ต้องทำอย่างระมัดระวัง คนที่เขาจงรักภักดี คนที่เขาเทิดทูน คนที่เขาระแวดระวัง ผมว่าเขาก็มีสิทธิ์ที่จะออกมาเสนอความคิดอะไรต่างๆ ได้ เราไม่ได้ทำเฉพาะในส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น ในส่วนที่เขาต้องการให้คิดให้ดีให้รอบคอบ ให้คำนึงถึงสถาบันดั้งเดิมของประเทศก็ต้องสนับสนุนเช่นเดียวกัน แต่ต้องไม่ให้บาดหมาง หรือกระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์แบบที่หลายคนวิตกว่าจะซ้ำรอย 6 ตุลาคมอะไรแบบนี้ เราต้องไม่ให้เกิด”

“เรื่องแบบนี้มันไม่มีอะไรดีกว่าคุยกัน แล้วเราก็ต้องอดทน ต้องรอบคอบ ที่สำคัญที่สุดต้องนุ่มนวล ผมเข้าใจนักศึกษาพวกนี้ และต้องพยายามฟังเขาด้วย”

ถาม ดร.เอนกว่า มองว่าสถานการณ์การเมืองตอนนี้ เหมือนหรือแตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 หรือไม่

“ไม่ค่อยเหมือน คงต้องมีอะไรแตกต่าง เหตุการณ์มันคงไม่ซ้ำกันหรอก ไม่เหมือนช่วงก่อน 14 ตุลาคม และไม่เหมือนนักศึกษาเดินขบวนปี 2500 ทุกๆ เหตุการณ์ก็มีลักษณะพิเศษของมัน เราต้องศึกษาดู”

ในฐานะที่เคยผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาแล้ว อยากจะฝากอะไรถึงนักศึกษาที่ร่วมชุมนุมบ้าง

“ไม่มีอะไรจะบอก ทุกอย่างต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง”

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเวลานี้ น่าเป็นห่วงไหม

“ในเมืองไทยผมก็ไม่เคยเห็นราบเรียบ ราบรื่น ก็เป็นธรรมชาติแบบนี้ ถ้าเป็นห่วงมากเกินไปก็ผิดธรรมชาติ ย้อนหลังไปเคยเห็นช่วงไหนที่สงบราบเรียบบ้าง ผมเห็นเป็นอย่างนี้มาตลอด”

ถึงตอนนี้ทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ที่สรุปว่า “คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล” ยังคงเป็นแบบนั้นอยู่หรือไม่

“บ้านเมืองเปลี่ยนไป แต่ว่าสาระสำคัญของ 2 นครา คือประเทศไทย แยกออกเป็นได้แต่ละหลายภาคส่วน สมัยก่อนเป็นภาคส่วนเมืองชนชั้นกลางภาคหนึ่ง แล้วเกษตรกรชนบทอีกภาคหนึ่ง เวลานี้แบบเก่าอาจมีอยู่ก็ได้ เราดูจากการเลือกตั้งอะไรต่างๆ เราก็ต้องเอาใจ สนใจ เอาใจใส่ภาคชนบท แต่ในขณะเดียวกันต้องสนใจ ใส่ใจภาคเมือง พรรคการเมืองใดจะประสบความสำเร็จได้มากๆ ก็ต้องได้ทั้งเมือง ได้ทั้งชนบท”

“ขณะเดียวกัน 2 นครา อาจหมายถึงเด็กกับผู้ใหญ่ก็ได้ ต้องดูต่อไป”

พูดได้ไหมว่าบ้านเราเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

“ประชาธิปไตยบ้านเรามันก็เป็นแบบนี้ มีระยะฟุบ ระยะเฟื่อง ถ้าเราดูวิวัฒนาการ 60-70 ปี ก็เป็นอย่างนั้น มีระยะฟุบ ระยะเฟื่อง ระยะฟื้นตัว ระยะทรุด-ทรงไป อะไรอย่างนี้อีก มันเป็นลูปเกือบจะเป็นวัฏจักร แต่ว่าในส่วนความรู้ความเข้าใจของคน ผมว่ามันหมุนๆ แต่มันยกสูงขึ้นๆ”

หมายถึงตอนนี้อยู่ในสภาพฟุบ หรือเฟื่อง หรือทรงตัว

“ต้องดูต่อไปมันเต็มไปด้วยการขับเคี่ยว การชิงชัย การประชันขันแข่ง เต็มไปด้วยเรื่องแบบนี้ แต่ประเทศไทยก็เจริญก้าวหน้ามาได้โดยลำดับ ไม่ว่าการเมืองเราจะเป็นแบบราบรื่น สงบอะไรก็ตาม เราก็เป็นระบบอะไรอีกระบบหนึ่งที่ถ้าดูเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งมันจะไม่เข้าใจว่า ทำไมเราเดินมาได้ไกลถึงขนาดนี้ ภาคเอกชนค่อนข้างเก่ง ภาคสังคมก็ค่อนข้างเก่ง ปรับตัว และเห็นใจกันและกัน”

“เห็นชัดตอนช่วงโควิด สังคมเราเก่งกว่าที่คิด”

หลายคนมองว่าสไตล์การทำงานอาจไม่เหมือนนักการเมืองทั่วไปเพราะเคยทำงานในแวดวงวิชาการมาก่อน

“ผมใช้ชีวิตอยู่ทั้งสองแบบ คือสนใจปัญหาบ้านเมืองตลอด แต่ว่าการทำมาหากินก็เป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์มาตลอด เพราะฉะนั้น ถ้าช่วงไหนต้องไปสอนหนังสือ ไปวิจัย ไปเขียนหนังสือก็ไป ช่วงไหนที่มีโอกาสทำงานการเมืองก็ทำ”

เมื่อเจอปัญหามีวิธีการแก้อย่างไร

“ผมเป็นคนมุ่งที่โอกาสมากกว่า ปัญหามีก็ต้องแก้ไป แต่ว่าเราต้องทำอะไรจากโอกาส ถ้ามาเป็นรัฐมนตรี อว. ต้องเห็นโอกาสของประเทศ โอกาสที่กระทรวงนี้จะได้ทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง ในแง่หนึ่ง มันเป็นวิกฤต คือโควิด แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันเป็นโอกาสของกระทรวงที่จะได้แสดงฝีมือ เวลาเจอใคร ผมก็ให้กำลังใจ ปลุกเร้าให้กำลังใจ ให้เขาเห็นโอกาสที่ให้มา ซึ่งธรรมะก็ต้องใช้ เพราะธรรมะไม่ใช่เรื่องศาสนาเท่านั้น”

“เราต้องพิจารณาว่าความสลับซับซ้อนเกิดจากเราเป็นตัวปัญหาจริงๆ เกิดจากจิตใจ หรือเกิดจากวิธีคิดของเรา เวลาเห็นอะไรเกิดปัญหา หรืออะไรเป็นโอกาส ตัวเรามันปรุงแต่ง ฉะนั้น อย่าเห็นปัญหาเป็นปัญหาหมด ต้องเห็นว่าเราปรุงแต่งจิตใจของเราอย่างไรด้วย ต้องปรุงแต่งให้มันแก้ปัญหาได้ เราจะไม่ปรุงแต่งแบบพาตัวเองให้เข้าสู่มุมอับ”

“อันนี้ผมว่าเป็นหลักธรรมะ ซึ่งคนสมัยใหม่ เรียนอะไรก็เอาแต่เรื่องความรู้ ส่วนมากเรื่องปัญญาไม่ค่อยได้เรียน ปัญญาที่สำคัญก็มาจากธรรมะที่ปฏิบัติได้ ผมเองอ่านหนังสือของท่านพุทธทาส และท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต มานานแล้ว”

จากเรื่องการบ้านการเมืองเข้าสู่เรื่องส่วนตัวกันบ้าง

ดร.เอนกบอกว่า บางคนคิดว่าตนเป็นนักสังคมศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ แต่ที่จริงแล้วเริ่มต้นชีวิตมหาวิทยาลัยด้วยการเป็นนักเรียนแพทย์ และได้ปริญญาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพียงแต่ไม่เรียนต่อจนจบแพทยศาสตร์เท่านั้น และมาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2538-2539 เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เคยเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. และเป็นนักวิจัย นักคิด เขียนหนังสือออกมาเยอะแยะ 30-40 กว่าเล่ม

“ครอบครัวผมเป็นครอบครัวหมอ โดยในจำนวนกว่า 30 ชีวิต เป็นหมอถึง 11 คน ภรรยาผม ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ก็เป็นผู้บริหารอยู่ที่สถาบันจุฬาภรณ์ฯ”

รมว.อว.เล่าว่า มีลูกทั้งหมด 4 คน 2 คนแรกเป็นคู่แฝด คนโตเป็นผู้หญิง ชื่อแพทย์หญิงเขมรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ไปเรียนที่อเมริกาตั้งแต่เรียนมัธยมจบปริญญาตรีที่อเมริกา จบแพทย์ที่อเมริกา เป็นหมอฉุกเฉินเกี่ยวกับปอด ตอนนี้ฝึกชั้นสูงที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก และรักษาคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคโควิคนับพันคน อายุ 31 ปี ลูกแฝดอีกคนชื่อเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ เป็น ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย

ส่วนลูกอีก 2 คนเป็นผู้หญิง คนที่ 3 ชื่ออินทิรา เรียนอินเดียจนจบ ม.ปลาย แล้วไปเรียนวิทยาศาสตรบัณฑิต จบแพทยศาสตรบัณฑิตที่อเมริกา ตอนนี้กำลังฝึกเป็นหมอเอ็กซเรย์ที่โรงพยาบาลในนิวยอร์ก ลูกสาวคนสุดท้องอิศรา อายุ 28 ปี เป็นนักวิทยาศาสตร์ กำลังเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส

คุณพ่อลูก 4 พูดถึงหลักการเลี้ยงลูกว่า “ผมฟังลูก เป็นเพื่อนกับเขา ลูกๆ ก็รักสนิทสนมกัน จนเดี๋ยวนี้เจอกันก็ยังกอดกันอยู่ ตั้งแต่เล็กเด็กๆ ถูกฝึกให้รู้จักสังคม รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และโชคดีได้ลูกสาวคนโตเขาเป็นพี่ เขาเอื้อเฟื้อ เขารักน้อง ส่วนน้องๆ ก็นับถือเขา”

จากนี้คงต้องติดตามกันว่า ดร.เอนกจะสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคมได้มากน้อยแค่ไหน