จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 28 ส.ค. – 3 ก.ย. 2563

จดหมาย

0 ห่วง (1)

—ทุกสีมีค่าเพื่ออยู่ร่วมกันและมีชีวิตชีวา—

ชอบสีอะไรก็อย่างหลงใหลว่าสีนั้นคือสีที่สวยสำหรับทุกคน

ทุกสีมีค่าเพื่ออยู่ร่วมกันและมีชีวิตชีวา

ชอบตัวเองเป็นเรื่องดี

แต่อย่าหลงไปว่าคนอื่นเขาไม่มีดี

บางทีเราก็ลืมทำตัวดี

เพื่อนก็ลืมทำตัวดีได้เช่นเดียวกัน

ถ้าต่างคนต่างเห็นคุณค่าของกันและกัน

ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข

รักเพื่อนก็เตือนเพื่อน

อย่าหลงเพื่อนจนพากันไปลงเหว

เสกสรร แสงจันทร์รุ่ง

 

ในภาวะการชี้นิ้ว

“ชังชาติ” – “หลงชาติ” ขึ้นสูง

ไม่รู้ว่าความห่วงใย

จาก “เสกสรร แสงจันทร์รุ่ง

จะตกอยู่ในภาวะ

“ฟังแต่ไม่ได้ยิน” หรือไม่

 

0 ห่วง (2)

แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง

โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนเตาปูน อ่างเก็บน้ำเตาปูน ประตูระบายน้ำเตาปูน (ปตร.) โครงสร้างเตาปูน ฯลฯ

  1. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้เป็นป่าซับน้ำที่ถาวรและยั่งยืน
  2. รักษาและพัฒนาป่าชุมชนไว้ใช้สอยเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น
  3. ปลูกต้นไม้เพิ่ม ให้กับครอบครัว ชุมชน ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าฟื้นสภาพเอง
  4. ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย ฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ทั่วทุกพื้นที่ ให้องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างแผนการจัดการน้ำชุมชน
  5. พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ซึ่งกรมชลประทานสำรวจพบแล้ว 26 จุด สามารถพัฒนาได้เลยโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
  6. ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบฯ เพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าถึง 3 เท่า
  7. พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะลดปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  8. สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สร้างประโยชน์ให้เป็นจริง และใช้งบฯ น้อยกว่าสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
  9. พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมควรได้รับการสนับสนุน
  10. กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยมีกฎหมายรองรับ
  11. ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ เลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
  12. ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม
  13. บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ และมีบทลงโทษในการพัฒนาที่ผิดพลาด ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง รวมทั้งส่งเสริมมาตรการลงโทษทางสังคมต่อผู้ใช้อำนาจการตัดสินใจ ผู้วางแผนงาน การบริหารประเทศ การพัฒนาที่ผิดพลาด
  14. ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายลูก ให้สิทธิชุมชนในการปกป้อง รักษาทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน

ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

 

ห่วงน้ำกำลังท่วมภาคเหนือหลายพื้นที่

และห่วงว่าคงมีการถกเถียง

ว่าควรสร้าง-ไม่สร้างเขื่อน กันอีก

อย่างตอนนี้ ก็เดือดกันอยู่ที่ลุ่มน้ำยม

กลุ่มชาวบ้านคัดค้านคณะกรรมการสร้างเขื่อน

มีแถลงการณ์ไม่ร่วมสังฆกรรมกับกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ ผลักดันการสร้างเขื่อน ของสภา

พร้อมเสนอ 14 ข้อเสนอทดแทนการสร้างเขื่อน

ดังที่ลงให้อ่าน

อาจจะเทไปยังฝ่ายคัดค้านเขื่อนไปบ้าง

แต่ก็เป็นข้อเสนอของชาวบ้าน

และเป็นทางเลือกที่ควรพิจารณา

มิใช่หรือ

กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)