หนุ่มเมืองจันท์ | ดอกไม้ประชาธิปไตย

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมวางแผนไปสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อยากไปเห็นบรรยากาศว่าเป็นอย่างไรบ้าง

เพราะการชุมนุมวันนี้จะเป็น “สัญญาณ” ที่บอกอนาคตได้อย่างดี

ตามปกติเวลามีม็อบสีต่างๆ ผมจะแวบไปดูทุกครั้ง

การลงพื้นที่จริงเราจะได้เห็นแกนนำ กลุ่มผู้ชุมนุม และอารมณ์ของม็อบจะทำให้เราวิเคราะห์อะไรได้ชัดเจนขึ้น

แต่ผมไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มไหนเลย

เพราะยังติดกรอบความคิดเดิมๆ ว่า “นักข่าว” ต้องรักษาความเป็นกลาง

นักข่าวจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมก็ได้

เราสามารถแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ของเรา

แต่เราต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม

เพราะถ้าเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ชุมนุมเมื่อไรก็ยากจะทำให้คนดูหรือคนอ่านเชื่อได้ว่าเราเป็นกลางพอที่จะให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

วิธีคิดแบบนี้อาจจะผิดก็ได้

แต่จะให้เปลี่ยน คงเปลี่ยนไม่ได้แล้วครับ

ไปสังเกตการณ์ “ม็อบ” ครั้งนี้ผมเลือกเวลาตอนเย็นๆ

…แดดร่มลมตก

กะว่าจะเดินดูสัก 1-2 ชั่วโมง ค่อยกลับไปดู live ตามเพจต่างๆ

ไปถึงที่สะพานผ่านฟ้าประมาณเกือบ 6 โมงเย็น

คนเริ่มแน่นแล้ว

ผมเดินไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ไม่สามารถเดินอ้อมไปด้านหน้าเวทีที่หันไปยังสี่แยกคอกวัวได้

เพราะคนแน่นจนขยับไม่ได้

ตัดสินใจเดินอ้อมทางถนนดินสอ ไปโผล่ที่สี่แยกคอกวัว

ตอนนั้นด้านหลังยังพอมีที่ว่างอยู่บ้าง

แต่คนยังทยอยหลั่งไหลมาเรื่อยๆ

การชุมนุมครั้งนี้ ผมเชื่ออยู่แล้วว่าคนจะเยอะมาก

แต่มากแค่ไหน ไม่แน่ใจ

เพราะก่อนหน้านี้ที่ข้อเรียกร้องของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” มี 3 เรื่อง คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ. 3.ยุบสภา

ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

แต่ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการขยับเพดานการชุมนุมไปที่ข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

แม้แกนนำจะเป็นคนละกลุ่ม แต่ก็เป็นแนวร่วมกัน

การทลายเพดานครั้งนี้มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ทำให้ประเมินยากว่าคนจะมาร่วมชุมนุมมากแค่ไหน

แต่ผลที่ออกมาในวันนี้

สรุปได้เลยว่าคนเข้าร่วมเยอะมาก

แม้จะน้อยกว่าม็อบ กปปส. หรือม็อบเสื้อแดง ตอนที่พีกสุดๆ

แต่อย่าลืมว่า นี่คือการชุมนุมใหญ่ครั้งที่สอง

ได้ขนาดนี้ก็เหนือความคาดหมายแล้ว

การชุมนุมครั้งนี้เหมือนกับการจัดงาน 2 งานพร้อมกัน

คือ งานคืนสู่เหย้า และงานรับน้อง

ที่บอกว่าเป็นงานคืนสู่เหย้า ก็เพราะมี “คนเสื้อแดง” มาร่วมชุมนุมพอสมควร

เขากันพื้นที่ตรงหน้าร้านแมคโดนัลด์ ติดป้ายไว้เลยว่า “คนเสื้อแดง”

“คนเสื้อแดง” มีประสบการณ์การชุมนุมสูงมาก

มายึดพื้นที่ตรงนี้ตั้งแต่เช้า

มีถังน้ำแข็งมาลงเกือบ 10 ถัง มีทีมงานเตรียมข้าวกล่องแจกคนมาชุมนุม

เจอหน้ากันก็กระโดดกอดกันเหมือนไม่ได้เจอกันมานาน

เป็นบรรยากาศของการคืนสู่เหย้าจริงๆ

และคงคันไม้คันมือ เพราะน้องๆ ยังเพิ่งจัดม็อบครั้งแรก

ตอนที่ผมเดินอยู่ตรงอนุสาวรีย์ด้านหลังเวที บริเวณนี้มีคนนั่งกระจายอยู่ห่างๆ กัน

ผู้ชายรุ่นใหญ่คนหนึ่ง เดินมาตะโกนขอให้ทุกคนลุกขึ้น

ช่วยกันเขยิบมานั่งข้างหน้า

นั่งชิดๆ กันเพื่อให้คนด้านหลังได้นั่งบ้าง

จัดการกันเอง ไม่ต้องรอแกนนำสั่งการ

หรือพอตำรวจกั้นแผงเหล็กให้คนเดินอ้อมไกลๆ

มีผู้ชาย 2-3 คนก็เข้ามาตะโกนโวยตำรวจ

แล้วเปิดแผงเหล็กให้คนเดินเข้ามาเลย

แบบนี้เด็กๆ ทำไม่ได้

ต้อง “รุ่นเก๋า” เท่านั้น

สีสันใน “ม็อบ” มีเยอะมาก

แต่ที่ผมชอบที่สุด คือ ผู้ชายคนหนึ่งใส่ชุดรัดรูปทั้งตัวและหน้ากาก

นักข่าวถามว่าชุดอะไร

“มนุษย์ค้างคาว ครับ”

“ทำงานอะไร” นักข่าวถาม

“รปภ.ครับ”

“ทำไมใส่ชุดนี้”

“นายทิ้งครับ”

ฟังแล้วงง

“ทำไมนายทิ้ง” นักข่าวถาม

“ชุดนี้นายไม่ใส่แล้ว เขาทิ้งครับ ผมก็เลยเอามาใส่”

นักข่าวถามต่อว่า “วันนี้จะมาช่วยเป็นการ์ดให้นักศึกษาเหรอ”

“ไม่ได้เป็นการ์ดครับ” เขาบอก

“วันนี้มาเป็นตัวตลกครับ”

ครับ อยากบอกว่าคุณพี่บรรลุเป้าหมายแล้ว

ขำจริงๆ

ส่วนอีกงานหนึ่ง คืองานรับน้อง

เพราะม็อบนี้แตกต่างจาก “ม็อบ” ที่ผ่านๆ มาอย่างชัดเจน

คนส่วนใหญ่ที่มาชุมนุม คือ คนหนุ่ม-สาว

ไม่ใช่แค่ระดับนิสิต-นักศึกษา

แต่ลงไปถึงขั้นเด็กนักเรียน

หลายคนเพิ่งมาม็อบเองครั้งแรก

เหมือนกับ “งานรับน้อง” ของมหาวิทยาลัยราชดำเนิน

เด็กส่วนใหญ่จะเดินมาเป็นกลุ่มๆ

แต่บางคนก็มากับครอบครัว

มีคุณพ่อคนหนึ่งเดินมาทัก เขาพาลูกสาวมาด้วย

น่าจะอยู่ ม.ปลาย

ผมแกล้งถามว่าใครชวนใคร

เด็กยิ้มอายๆ

พ่อหัวเราะแล้วบอกว่า “ต่างคนต่างชวนครับ”

เจอแบบนี้หลายกลุ่มเลยครับ

มีรุ่นพี่บางคนก็มากับลูก

ลูกนัดเพื่อนจะมาชุมนุม

พ่อขอมาด้วย

มาถึงก็แยกย้าย

พ่อไปหาเพื่อน ลูกก็แยกไปหาเพื่อน

ระหว่างทางเจอ “นอบ” น้องนักข่าวการเมืองที่เคยอยู่มติชน

ตอนนี้เป็นผู้บริหารอยู่ “โพสต์ทูเดย์”

เหมือนกันครับ เขามาสังเกตการณ์ดูบรรยากาศในม็อบ

“นอบ” เป็นนักข่าวภาคสนามมาก่อน เขาจึงคุ้นเคยกับบรรยากาศในม็อบเป็นอย่างดี

มีข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจ

“นอบ” บอกว่าเป็นม็อบที่เด็กรุ่นใหม่เยอะที่สุด

ส่วนใหญ่มากันเองกับเพื่อน

เด็กที่มาต้องการแสดงพลังให้รัฐบาลเห็น

ไม่ได้มาหาข้อมูลจากบนเวที

เพราะเขารู้เรื่องทั้งหมดแล้ว ทั้งจากทวิตเตอร์ หรือการค้นข้อมูลในกูเกิล

มีเรื่องเดียวที่เขายังไม่รู้

คือ การเข้าร่วมชุมนุม

ผมนึกถึงคำพูดของอาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เธอลงไปทำวิจัย พูดคุยกับนักเรียนมัธยมที่เข้าร่วมชุมนุมในหลายจังหวัด

เด็กทุกคนรู้เรื่องการเมืองดีกว่าที่เราคิดมาก

ผมชอบบทสรุปประโยคหนึ่งของอาจารย์กนกรัตน์

“เขาไม่ใช่เด็ก แต่เขาเป็นคนที่อายุน้อยกว่าเราเท่านั้นเอง”