ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์/SPUTNIK ‘ต่างดาว’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

SPUTNIK

‘ต่างดาว’

 

กำกับการแสดง Egor Abramenko

นำแสดง Oksana Akinshina Fedor Bondarchuk Pyotr Fyodorov

 

โลกรู้จักคำว่า “สปุตนิก” เมื่อ ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) เมื่อสหภาพโซเวียตส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมในปีนั้น เป็นลูกโลหะกลมขนาดย่อมๆ เส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 23 นิ้ว ไม่ถึงสองฟุตด้วยซ้ำ โคจรด้วยแบตเตอรี่อยู่รอบโลกเป็นเวลาสามสัปดาห์ก่อนแบตหมด แล้วหมุนอยู่รอบโลกอีกสองเดือนก่อนจะตกกลับเข้าสู่บรรยากาศโลก

สปุตนิกเป็นความสำเร็จเหนือคาดของรัสเซีย และกระตุ้นให้เกิด “การแข่งขันในอวกาศ” ระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามเย็น”

นับเป็นการเริ่มต้นของยุคใหม่ในทางการเมือง การทหาร เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วในครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบ

จนทำให้อเมริกาต้องเร่งรุดโครงการอวกาศของตนเอง

อเมริกาเสียหน้าอีกครั้งเมื่อรัสเซียส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศ

ยูริ กาการินชาวรัสเซียกลายเป็นมนุษย์อวกาศคนแรกของโลกใน ค.ศ.1961

และอเมริกาแก้หน้าด้วยการส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกใน ค.ศ.1969 โดยนีล อาร์มสตรอง กับบัซ อัลดริน ที่ไปสู่อวกาศในยานอพอลโล 11

 

คําว่า สปุตนิก ในภาษารัสเซีย แปลว่า เพื่อนคู่ชีวิต หรือเพื่อนร่วมทาง

ซึ่งให้ความหมายแก่เรื่องราวที่หนัง Sputnik เล่าอย่างมาก

แรกทีเดียวเมื่อไม่กี่วันก่อนนี้ ตอนที่เห็นหนังรัสเซียเรื่องนี้ออกฉาย หลังจากได้ยินข่าวล่าสุดเปิดตัววัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่รัสเซียพัฒนาขึ้นในชื่อ สปุตนิก 5 ยังนึกอยู่ว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกันอยู่

แต่ก็ไม่ได้เป็นดังที่คิดค่ะ

วัคซีน “สปุตนิก 5” ได้รับการตั้งชื่อขึ้นมาเหมือนจะประกาศชัยชนะ (อีกครั้ง) ของรัสเซียใน “สงครามเย็น” ที่สลายไปแล้วในทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 ในยุคของกอร์บาชอฟ

ส่วนหนัง Sputnik เป็นหนังไซไฟประเภทเขย่าขวัญล่าสุดจากรัสเซียที่มีกำหนดออกฉายในช่วงนี้เหมือนกัน

เลยดูทางกล่องแอนดรอยด์ค่ะ (ผู้เขียนยังอยู่ใน new normal ของการปรับตัวยังไม่ไปดูหนังในโรงค่ะ) และพบว่าเป็นหนังดีชวนดูทีเดียว แม้จะต้องอ่านซับไตเติลตามเพราะฟังรัสเซียไม่รู้เรื่องสักคำ นอกจากคำว่า ดาห์ (dah) กับ เนียต (nyet) ซึ่งแปลว่า yes กับ no

หนังหน้าตาดีในแบบนัวร์ๆ (noir) ตามประเภทของหนัง และเดินเรื่องอย่างเครียด ชวนติดตามและน่าสนใจมาก

แต่ต้องนึกเรื่องราวตามไปด้วยว่านี่คือรัสเซียในปี 1983 ซึ่งยังอยู่ในบรรยากาศของความไม่ไว้ใจในกันและกัน และการทำอะไรก็ตามจะต้องอยู่ภายใต้สายตาสอดแนมของทางการอยู่เสมอ

โครงการอวกาศของรัสเซียที่ส่งนักบินอวกาศสองคนไปนอกโลกในช่วงสั้นๆ เกิดความผิดพลาดบางอย่างขึ้น และยานตกกลับสู่โลก

นักบินเสียชีวิตไปหนึ่งคน ขณะที่อีกคนไม่มีความทรงจำของสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นเลย

 

ทาเทียนา (อ็อกซานา อาคินชินา) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางประสาทวิทยา ที่ให้การรักษาคนไข้ด้วยวิธีนอกแบบแผน และเธอกำลังถูกสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการด้านจริยธรรม เนื่องจากคนไข้ของเธอเสียชีวิต

ทาเทียนายืนยันว่าเธอทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของคนไข้ โดยไม่ใช่ความประมาทหรือไร้ความรับผิดชอบ แต่ก็ดูเหมือนคณะกรรมาธิการจะไม่เชื่อและทำท่าจะลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง

ตอนนั้นเองที่ทาเทียนาได้รับการติดต่อจากนายทหารยศนายพล พันเอกเซมิราดอฟ (เฟดอร์ บูดาร์ชุก) ที่ทำท่าจะมีเส้นมีสายในระดับสูงและสามารถช่วยเธอให้พ้นมลทินครั้งนี้ได้ หากเพียงเธอใช้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพช่วยเขาในโครงการลับโครงการหนึ่ง

ทาเทียนาได้รับคำขอให้ตรวจวินิจฉัยนักบินอวกาศคนที่ยังมีชีวิตอยู่ และถูกกักกันตัวอยู่ในสถานที่ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา

คอนสแตนติน (ปโยตร์ ฟโยโดรอฟ) ถูกกักตัวอย่างแน่นหนาเพื่อตรวจสอบสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดแก่ยานอวกาศในครั้งนี้ ซึ่งเขาอ้างว่าไม่มีความทรงจำในส่วนนั้นเลย

ด้วยข้อมูลที่ถูกอำพรางไว้จากเธอ–นายพันเอกบอกว่าเขาบอกให้เธอรู้ทุกอย่างได้ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่มีส่วนที่ยังเปิดเผยไม่ได้ 10 เปอร์เซ็นต์-ทาเทียนาจำต้องปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดขึ้นเองโดยได้รับความร่วมมือเพียงครึ่งๆ กลางๆ แม้แต่จากผู้อำนวยการโครงการ ซึ่งเธออ่านเขาออกทันทีว่ามีความทะเยอทะยานจะได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบครั้งสำคัญในทางวิทยาศาสตร์ครั้งนี้

ทาเทียนาได้รู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตนอกโลกอาศัยอยู่ในร่างของคอนสแตนตินโดยที่เขาไม่รู้ตัว และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความดุร้าย

ที่เธอยังไม่รู้และอยากรู้ คือ สิ่งมีชีวิตต่างดาวนั้นอาศัยอยู่ในร่างของคอนสแตนตินแบบปรสิต หรือกาฝาก (parasite) หรือว่าอยู่ด้วยกันแบบพึ่งพาจนไม่สามารถแยกจากกันได้ (symbiote)

เธอต้องรู้เรื่องนี้ก่อนจึงจะพยายามช่วยคนไข้ของเธอได้

ในขณะที่นายพันมีจุดประสงค์ทางทหารในแนวทางอื่น และไม่ได้มีความต้องการจะดำเนินการเรื่องนี้ในเชิงแพทย์ที่ต้องการรักษาผู้ป่วย

คงเล่าได้เพียงแค่นี้แหละค่ะ เพื่อไม่ให้เป็นสปอยเลอร์

 

นี่เป็นหนังที่ได้รับอิทธิพลจากหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่อง ที่เด่นชัดที่สุดคือ Alien ของริดลีย์ สกอตต์ ที่มีซิกเกอร์นีย์ วีฟเวอร์ เล่น

ต่างกันอยู่ที่บรรยากาศของหนังที่ Alien เกิดขึ้นบนยานที่เดินทางอยู่ในอวกาศ

แต่เหตุการณ์ใน Sputnik ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนโลก และเป็นความพยายามของรัสเซียที่จะปิดบังเรื่องราวไว้จากชาวโลก

ความพยายามใช้จิตวิทยาอธิบายเรื่องราวต่างๆ ในหนัง มีทั้งที่ลงตัวและไม่ลงตัว ที่ลงตัวมากๆ ก็อาทิ ความกลัวของมนุษย์จะผลิตคอร์ติซอลในร่างกายซึ่งเป็นอาหารหล่อเลี้ยงเอเลี่ยน

แต่ที่ยังไม่ลงตัว (ซึ่งเป็นไอเดียที่ดีอยู่หรอก แต่ยังทำได้ไม่ดีพอ) คือตอนจบที่ดูจะอยู่นอกเรื่องหลักที่พัฒนาอย่างเครียดขมึงมาแต่ต้น

โดยรวมๆ เป็นหนังที่สนุกใช้ได้ และมีอะไรให้ดูให้คิดมากพอควรค่ะ


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)