ไกลเกินกว่าจะ “เข้าใจกันได้”

การต่อต้านอำนาจรัฐของคนรุ่นใหม่ที่ลงมาสู่เด็กมัธยม ด้วยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดย “ชูสามนิ้วน้องเพลงชาติหน้าเสาธงเวลา 08.00 น.” ถือว่าแรง

เป็นครั้งแรกของประเทศไทยเราที่ “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองแรงขนาดนี้

ก่อนหน้านั้นมีเสียงเตือนมานานแล้วว่า “เยาวชนคนรุ่นใหม่” เกิดความวิตกต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่พูดถึงการบริหารงานอย่างสะเปะสะปะของรัฐบาล ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก มีแต่เรื่องราวของนโยบายเอาใจทุนใหญ่

โครงการรองรับการสร้างธุรกิจระดับเล็ก ซึ่งเป็นโอกาสการสร้างเนื้อสร้างตัวมีแต่คำพูดที่เป็นความหวัง แต่ไม่มีโครงการจริง

ขณะที่ช่องทางทำมาหากินเป็นเรื่องที่มองเห็นยากขึ้นเรื่อยๆ

ความอึดอัดกับชีวิตที่ไม่มีความหวังจึงเกิดขึ้น และเป็นพลังก่อให้เกิดการเคลื่อนไหว

ในรายงานสภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2563 ของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ผู้มีงานทำมีจำนวน 37.4 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7

หลังจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน ภาคการท่องเที่ยวประมาณ 3.9 ล้านคน จะได้รับผลกระทบ 2.5 ล้านคน, ภาคอุตสาหกรรม 5.9 ล้านคน จะได้รับผลกระทบ 4.4 ล้านคน

ที่สำคัญคือเด็กจบใหม่ 5.2 ล้านคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานช่วงกลางปี เสี่ยงที่จะตกงาน

การพัฒนาประเทศที่สืบทอดอำนาจจากรัฐบาลทหาร ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างอำนาจของประเทศให้กับกลุ่มผู้ทำรัฐประหาร จึงถูกตั้งป้อมจากคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาชุมนุมขับไล่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เป็นความเคลื่อนไหวที่เริ่มต้นจากพลังของความสิ้นหวัง และโหยหาโอกาสให้กับอนาคตของพวกเขา

และพลังเสริมที่ทำให้การรวมตัวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคือท่าทีที่ไม่ยอมรับของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ และกระตุ้นให้ระเบิดพลังออกมาด้วยการพยายามที่จะใช้อำนาจเข้ากดข่ม

ความขัดแย้งที่ลามไปสู่ความแตกแยกระหว่างคนต่างวัย

ขณะที่คนที่เห็นอกเห็นใจเยาวชนสิ้นหวัง กลับเป็นคนทั่วไป ที่สัมผัสถึงความสิ้นหวังไม่ต่างกัน ส่วนผู้เสวยประโยชน์จากการมีอำนาจนั้น เลือกที่จะหาทางทำลายการลุกขึ้นเรียกร้องของคนรุ่นลูกรุ่นหลานนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้สถานการณ์จึงลุกลามไปไกล ท่ามกลางวาทกรรม “ชังชาติ” ที่สร้างขึ้นมาตีตราคนเห็นต่าง การแสดงออกให้เห็นถึงความไม่สนใจพวกผูกขาด “ความรักชาติ” จึงเกิดขึ้นแบบแทบตาต่อตา ฟันต่อฟัน

กลายเป็นความแตกแยกทางการเมือง ที่สาเหตุเกินกว่าความเข้าใจของผู้มีอำนาจ ที่คิดวิธีการแก้ปัญหาได้แค่ชี้หน้าคนที่เห็นต่างว่าเลวร้าย

เป็นสถานการณ์ที่เยาวชนของชาติ เดินคนละทางกับอำนาจที่เป็นอยู่อย่างยากจะประนีประนอม