เพ็ญสุภา สุขคตะ : ฤๅจะพบแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ ที่ “กาดผี” ศรีบัวบาน-ลำพูน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2563 ดิฉันได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งโบราณคดีที่ชาวบ้านเรียกว่า “กาดผี” ตั้งอยู่ในบริเวณป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน พื้นที่นี้ถือว่าเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์ป่าชุมชนตัวอย่างในระดับชาติ

จุดประสงค์ของการไป “กาดผี” นั้น สืบเนื่องมาจากการที่ดิฉันเปิดประเด็นตั้งคำถามว่า “ดอยไฟ-ชุหะบรรพต” ของฤๅษีพุทธชฎิลนั้นอยู่ไหนกันแน่

หากไม่ใช่ “ดอยไซ” ที่ตำบลป่าสักตามความเชื่อเดิมแล้วไซร้ ควรจะเป็น “ดอยบาไห้” ตามที่อาจารย์แสง มนวิทูร สันนิษฐานไว้จริงละหรือ?

ปริศนานี้จุดประกายให้เครือข่ายผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลำพูนเข้ามาแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นกันอย่างเข้มข้นในช่องทางเฟซบุ๊กของดิฉัน

หนึ่งในสถานที่ที่เครือข่ายเชิญชวนอยากให้ดิฉันไปพิสูจน์ด้วยกันว่าจะมีความเกี่ยวข้องอันใดกับ “ชุหะบรรพต” บ้างหรือไม่ก็คือ “กาดผี”

เหตุที่สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยหลุมกลมๆ บางทีอาจเป็นหลุมวางผางประทีปใช้จุดบูชาไฟพะเนียง ตามวิถีของฤๅษีพุทธชฎิล (ฤๅษีตาไฟ) ผู้นิยมการเพ่งกสิณก็เป็นได้

 

จาก “กาดผี” สู่กองทหารญี่ปุ่น

กาด ภาษาล้านนาหมายถึงตลาด คำว่ากาดผี หมายถึงสถานที่ที่คนทั่วไปกลัว เพราะในคืนเดือนมืดหากใครผ่านไปแถวนั้น มักได้ยินเสียงผู้คนพูดคุยกันดังสนั่นหวั่นไหวโหวกเหวกโวยวาย คล้ายกับบรรยากาศของการจับจ่ายซื้อของรวมตัวกันของผู้คนในตลาด

แต่มองไปรอบๆ กลับไม่เห็นใครแม้แต่คนเดียว มีแต่เสียงที่อื้ออึง ซ้ำสำเนียงภาษาที่ได้ยินนั้นก็ไม่ใช่ภาษาที่คุ้นหูใช้พูดกันในปัจจุบัน ซึ่งประชากรบริเวณบ้านทุ่งยาวนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวยอง

รวมทั้งยังไม่ใช่ภาษามอญหรือลัวะกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่คนเมืองล้านนาพอจะรู้จักฟังออกอยู่บ้าง

ชาวบ้านจึงอุปมาอุปไมยว่าที่นี่น่าจะเป็น “กาดผี” คือเป็นจุดสิงสถิตหรือแหล่งชุมนุมดวงวิญญาณของคนในอดีตที่เกิดขึ้นก่อนชาวลัวะชาวเม็ง ทำให้ไม่มีใครกล้าเฉียดกรายเข้าไปบริเวณนี้บ่อยนักหากไม่จำเป็นจริงๆ เว้นแต่จะมีการนำเครื่องเซ่นไปบวงสรวงดวงวิญญาณเหล่านั้นปีละ 1-2 ครั้ง

แล้วทำไมพื้นดินบริเวณกาดผีต้องเป็นหลุมกลมคล้ายขนมครกขนาดใหญ่ด้วยเล่า เรื่องนี้ “แม่หลวงวิ” แห่งป่าชุมชนบ้านทุ่งยาวเล่าว่า

“ที่แห่งนี้ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นเข้ามาใช้เป็นที่ตั้งกองทัพ ทั้งๆ ที่เป็นจุดที่ชาวบ้านกลัว แต่คนญี่ปุ่นไม่กลัว เห็นรกร้างว่างเปล่าจึงเข้าไปยึด คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ป้าวิฟังตั้งแต่ยังเด็กๆ ว่า ทหารญี่ปุ่นใช้พื้นที่นี้ผลิตกระสุนดินปืน ทำให้เกิดรอยเป็นหลุมๆ”

เมื่อพิจารณาจากคำบอกเล่าของคนในชุมชน พบว่ามีเรื่องราวของทหารญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากเชื่อตามนี้ รอยหลุมต่างๆ ก็ต้องมีอายุการขุดหรือทำให้กลมเพียง 80 ปีเท่านั้น (สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2484-2487)

ซึ่งในความเป็นจริง ร่องรอยนี้ดูเก่าเกิน 80 ปี?

จริงอยู่ว่าทหารญี่ปุ่นใช้พื้นที่นี้มาตั้งกองทัพ (ซึ่งอันที่จริงแทบทุกแห่งในลำพูนล้วนมีเรื่องเล่าถึงการตั้งกองทัพของทหารญี่ปุ่น กระจายตัวทั่วทั้งอำเภอเมือง ป่าซาง แม่ทา บ้านโฮ่ง ลี้) แต่ทหารญี่ปุ่นเหล่านั้นจะเอาวัสดุอะไรจากไหนมาผลิตกระสุนปืนในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน และใช้กระบวนผลิตอย่างไรจนพื้นศิลาแลงเกิดเป็นหลุมกลมมากมาย

เมื่อถามแม่หลวงวิว่า ก่อนหน้าที่ทหารญี่ปุ่นจะเข้ามา ชาวบ้านก็เรียกว่า “กาดผี” มาก่อนแล้วมิใช่หรือ? แม่หลวงวิตอบว่า ใช่

เมื่อถามต่อไปว่า หลุมเหล่านั้นต้องมีมาก่อนการเข้ามาของกองทัพญี่ปุ่น มิใช่หรือ?

แม่หลวงวิตอบว่าไม่ทราบ เพราะคนในอดีตไม่มีกล้องถ่ายรูป และไม่มีใครกล้าเข้าไปสอดส่อง มีแต่คนได้ยินเสียงพูดระงม ไม่มีใครก้มมองสังเกตที่พื้น และถึงจะเห็นหลุมอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ทราบความสำคัญ นึกว่าเป็นหลุมธรรมดา

ประเด็นคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ตรงนี้ เรายังไม่ได้ตัดทิ้ง เพราะอาจมีการนำหลุมที่มีมาแต่เดิมเอามาใช้สอยประโยชน์ใหม่ซ้ำ ที่เกี่ยวกับกระสุนดินปืนในช่วง 80 ปีที่แล้วอีกด้วยก็ได้

แน่นอนว่าในเชิงพื้นที่ ประวัติศาสตร์ย่อมทับซ้อนกันได้หลายยุค

 

พินิจธรรมชาติของ “ศิลาแลง”

เนื่องจากพื้นดินบริเวณนั้นปูลาดด้วยศิลาแลงทั้งหมด ไม่ไกลจากกาดผีมีบ่อศิลาแลงขนาดใหญ่รายรอบ อีกทั้งหลุมกลมๆ นับหลายพันหลุมก็เกิดขึ้นบนผิวศิลาแลง

คำถามข้อแรกมีอยู่ว่า เป็นผลงานจากน้ำมือมนุษย์ หรือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ?

หากเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ก็มีคำถามต่อไปอีกว่า มาจากฟ้าหรือมาจากน้ำ? เป็นสะเก็ดดาว หรืออุกกาบาตที่พุ่งชนใส่ทำให้เกิดปริมณฑลรัศมีดาวกระจาย?

และหากเป็นกรณีนี้ต้องใช้ระยะเวลานานเพียงใด จึงทำให้ชั้นดินในระดับศิลาแลงเกิดหลุมกลมกระจายเต็มไปหมด

หรือหากเกิดจากธารน้ำกัดเซาะ แม่น้ำเปลี่ยนสาย มีตัวอย่างร่องรอยที่อื่นใดในเมืองไทยให้เปรียบเทียบได้หรือไม่ ในลักษณะพื้นที่ที่พร่างพรุนได้ด้วยหลุมขนมครกใหญ่น้อย

ธรรมชาติของศิลาแลงนั้น ประกอบด้วยเศษหิน ดิน กรวด สารพัดโลหะคลุกเคล้ากันจนมีรอยพรุน อาจจะง่ายต่อการกัดเซาะของสายน้ำ แต่ก็น่าจะยากเอาเรื่องทีเดียวที่ธรรมชาติจะปั้นแต่งให้ทุกหลุมเป็นรูปกลมมนแบบขอบคมกริบเหมือนๆ กันได้

สมมุติว่าหลุมเหล่านี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ถ้าหากเป็นฝีมือของมนุษย์เล่า จะมีทางเป็นไปได้ไหม?

 

ถอดลายแทง “ถ้วยวงแหวน”
(ครกหลุม) และ “ลายม้วนก้นหอย”

คุณเทียรี่ ตูนิเยร์ (Thierry Tournier) ผู้สนใจด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส คร่ำหวอดกับการสำรวจถ้ำยุคหินทั่วโลกมานานกว่า 30 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่ในอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ได้ร่วมลงสำรวจกาดผีในครั้งนี้กับคณะเราด้วย คุณเทียรี่มีความเห็นว่า

รอยหลุมในศิลาแลงเหล่านี้ไม่ได้มีอายุใหม่แค่ 80 ปีตามที่ชาวบ้านกล่าวอ้างว่าเกิดขึ้นจากการทำกระสุนดินของทหารญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น ทว่าเป็นหลุมโบราณที่มีอายุมากกว่า 3,000 ปีขึ้นไปอย่างแน่นอน

คุณเทียรี่ได้ส่งลิงก์บทความภาษาฝรั่งเศสให้ดิฉันศึกษาเปรียบเทียบ เป็นรอยหลุมยุคหินใหม่ (Neolithic) ที่เขาเคยศึกษา ณ แหล่งโบราณคดีแถบเทือกเขาแอลป์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

พบว่าเป็นรอยหลุมกลมกระจายตัวบนแผ่นหินในลักษณะใกล้เคียงกัน แตกต่างตรงที่ชนิดของหินในยุโรปแถบเทือกเขาแอลป์นั้นไม่ใช้ศิลาแลงแบบที่กาดผี

ในบทความหลายชิ้นที่คุณเทียรี่ส่งมาให้อ่าน ได้ข้อสรุปว่านักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสกับชาวสวิส ลงความเห็นว่าหลุมดังกล่าวควรนิยามเรียกชื่อว่า “ถ้วยวงแหวน” (Cup of Ring) หรือภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า Pierres a Cupules แปลใกล้เคียงกันว่า “ถ้วยครกหิน” หรือ “ครกหลุม”

เป็นถ้วยหลุมที่บรรจุดวงวิญญาณของผู้ตาย (ไม่เกี่ยวกับด้านกายภาพโลงศพ หรือการฝังกระดูก) วิญญาณนี้เป็นนามธรรม ตามความเชื่อที่ยังตกค้างมายังกลุ่มวัฒนธรรมดั้งเดิมในอินเดียนแดงหรือแอฟริกันเมื่อ 80 ปีก่อน ที่เชื่อกันว่า

เมื่อมนุษย์เสียชีวิต 1 ชีวิต วิญญาณของเขาจะล่องลอยไปสิงสถิตรวมอยู่บนดาวดวงหนึ่ง ดังนั้น หมอผีหรือผู้ประกอบพิธีกรรมจะทำพิธีอัญเชิญดวงดาวอีกหนึ่งดวงจากท้องฟ้ามาจำลองลงบนแผ่นดิน เพื่อเรียกวิญญาณดวงใหม่ให้มาเกิดทดแทนวิญญาณที่จากไป

นำไปสู่พิธีกรรมขุดหินให้เป็นรูปวงกลม ล้อกับดวงดาวบนท้องฟ้าที่พวกเขามองเห็น จัดวางในตำแหน่งใกล้เคียงกันกับหลุมกลมเดิมของบรรพบุรุษผู้วายชนม์ หรือคนในตระกูลเดียวกัน ถ้วยวงแหวนหรือครกหลุมนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการรองรับดวงวิญญาณใหม่ให้มาเกิดแทนดวงวิญญาณเดิม

ดังนั้น สภาพของหลุมกลมจึงกระจายตัวในแต่ละหย่อมๆ ไม่เท่ากัน บางหย่อมมีหลุมกลม 10 วง บางหย่อมมี 20 บางหย่อมมี 30 คงขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในตระกูลนั้นๆ และในแต่ละกลุ่มพบขนาดของหลุมไม่เท่ากัน เชื่อว่าหลุมที่ใหญ่สุด คือตัวแทนของหัวหน้าครอบครัว

ข้อสำคัญคือ มีการพบร่องรอย “ลายม้วนก้นหอย” (Spiral) อยู่บริเวณจุดกึ่งกลางของกาดผี เมื่อกำหนดรัศมีไปโดยรอบทุกทิศทุกทาง ลายม้วนก้นหอยหรือที่ชาวอุษาคเนย์มีความเชื่อว่าเป็น “ขวัญ” นั้น ตั้งอยู่กึ่งกลางลานกาดผีพอดิบพอดี

ซึ่งก็สอดคล้องกับลาย Spiral ที่พบเช่นเดียวกันในวัฒนธรรมหินใหม่อายุ 6,000 ปีที่เทือกเขาแอลป์ ซึ่งมีทั้งครกหลุม (ถ้วยวงแหวน) และลายม้วนก้นหอย

นอกจากนี้แล้ว รายรอบกาดผีบนแผ่นศิลาแลงยังพบรอยสลักสัญลักษณ์รูปต่างๆ ในทำนอง Rock Art หรือ Rock Craft จำนวนมากอีกด้วย อาทิ รูปห้าเหลี่ยม รูปคล้ายนกผสมปลา เป็นต้น

หลายท่านอาจถามว่า เป็นไปได้ละหรือ ที่จะเอาแนวคิดของตะวันตกมาใส่กับอารยธรรมทางอุษาคเนย์ ดิฉันขออธิบายว่า ก่อนจะมีศาสนาพราหมณ์ พุทธ คริสต์ อิสลาม มนุษย์ทั่วโลกเคยนับถือศาสนาเดียวกันคือ “Animism” หรือลัทธิวิญญาณนิยม

มีความเชื่อเรื่องการบูชาผีบรรพบุรุษเหมือนกัน มีร่องรอยของความกลัวงู สัตว์เลื้อยคลานเหมือนกัน บูชานกที่บินได้ บูชากบที่ส่งเสียงร้องแล้วฝนตก ต่อมาบูชา Mother Goddess เพศแม่ผู้ให้น้ำนมและมีมดลูกขยายเผ่าพันธุ์ได้ ก่อนบูชาเพศพ่อ เหมือนๆ กัน

ฉะนี้แล้ว เราไม่ต้องกังวลว่า จะหยิบเอากรอบคิดของอารยธรรมยุคหินใหม่จากซีกโลกตะวันตกมาอธิบายโจทย์แห่งซีกโลกตะวันออกไม่ได้

ทางตะวันตกมี Stone Henge ฉันใด บ้านเราที่บ้านผือ อุดรธานีก็มีวัฒนธรรมหินตั้งฉันนั้น ล้วนเป็นเรื่องราวของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความคิดคล้ายคลึงกัน

ความคิดหลักที่เป็นแกนของคนเหล่านั้นก็คือ พิธีกรรมเรื่องการส่งดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่โลกโลกหนึ่งที่ปลอดภัย และการอัญเชิญดวงวิญญาณดวงใหม่จากฟากฟ้าลงมาทดแทน

เรื่องราวของครกหลุม หรือถ้วยวงแหวนที่กาดผีนี้ ดิฉันคิดว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จะมีอายุเก่าแก่ไปถึงยุคหินใหม่ Neolithic 6,000 ปีหรือไม่นั้น ต้องรอการศึกษาพิสูจน์กันอย่างละเอียดให้ครบทุกศาสตร์ ทั้งด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ธรณีวิทยา มานุษยวิทยา ดาราศาสตร์ ฯลฯ

บทความนี้ขอเปิดประเด็นตีฆ้องร้องป่าวในยกแรก หากท่านใดสนใจร่วมลงพื้นที่สำรวจด้วยกันอีกในครั้งถัดไป ประสานมาที่ดิฉัน ยินดีเปิดรับฟังความเห็นจากทุกเสียงทุกเหตุผล

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)