อนุช อาภาภิรม : โจทย์ท้าทายมนุษยชาติในการต่อสู้กับโควิด-19

วิกฤตินิเวศ : สงครามและการยับยั้งสงคราม (19)
สถานการณ์การต่อสู้กับโควิด-19

เมื่อถึงต้นเดือนสิงหาคม 2020 เป็นเวลาหกเดือนเศษ นับแต่องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในวันที่ 30 มกราคม ปรากฏว่าโควิด-19 ก็ยังคงระบาดต่อไปอย่างน่าตกใจ โดยมีผู้ติดเชื้อกว่า 18 ล้านคน เสียชีวิตเกือบ 7 แสนราย และมีผู้ติดเชื้อในวันเดียวเกือบสามแสนราย

แนวรบกับโควิด-19 เริ่มระส่ำสาย เช่น ออสเตรเลียที่เคยคิดว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่การระบาดได้กลับมาอีกระลอกในปลายเดือนมิถุนายน

เมื่อถึงต้นเดือนกรกฎาคมทางการรัฐวิกตอเรียได้ประกาศปิดนครเมลเบิร์นอันเป็นนครหลวง ให้ชาวเมืองอยู่ในบ้านเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ออกจากบ้านได้เท่าที่จำเป็น และมีการปิดรัฐเข้มงวดการผ่านแดนระหว่างรัฐเพื่อนบ้าน

เมื่อถึงต้นเดือนสิงหาคม เหตุการณ์ไม่คลี่คลาย ทางการต้องประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติทั่วรัฐวิกตอเรีย เสริมกำลังและเพิ่มอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการควบคุมประชาชน เพิ่มความเข้มงวด

ที่เมลเบิร์นมีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้านในตอนกลางคืนจาก 20.00 ถึง 05.00 น. เป็นต้น

องค์การอนามัยออกมาย้ำเตือนว่าไม่มี “กระสุนเงิน” ที่จะสามารถแก้ไข การระบาดของโควิด-19 ได้ง่ายดายและรวดเร็ว

พระสันตะปาปาฟรานซิสให้ทัศนะว่า การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก เป็นการตอบสนองอย่างหนึ่งของธรรมชาติต่อมนุษย์ผู้เมินเฉยต่อภาวะวิกฤตินิเวศ และว่า “พระเจ้าทรงให้อภัยเสมอ แต่ธรรมชาติไม่เคยให้อภัย”

แน่นอนว่าความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมีความซับซ้อนมาก และไม่เป็นไปตามใจปรารถนาของผู้ใด

 

ไวรัสกับวิวัฒนาการของมนุษย์

ในธรรมชาติ มนุษย์อุบัติขึ้นในดงเชื้อโรคและสัตว์ร้าย นอกจากนี้ ยังมีไวรัสนักกินเซลล์ผู้ช่ำชอง พร้อมกับแหล่งอาหารที่สมบูรณ์คล้ายสวนสวรรค์ เนื่องจากสัตว์พวกไดโนเสาร์ได้สูญพันธุ์ไปนานแล้ว

ในการต่อสู้กับสัตว์ร้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารและป้องกันไม่ให้ตกเป็นอาหาร มนุษย์ได้ใช้การพัฒนาใหญ่ 4 ประการ นอกเหนือจากการเดินสองขาและการใช้มือคล่องแคล่วแล้ว คือการใช้เครื่องมืออาวุธ การใช้ไฟ การใช้ภาษา และการรู้จักใช้สมุนไพรเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บป่วยไข้ต่างๆ เป็นวัฒนธรรมเพื่อการดำรงอยู่ในธรรมชาติ สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันที่ซับซ้อนไปมาก

ในการต่อสู้กับจุลินทรีย์แบคทีเรียและไวรัสที่มีขนาดเล็กมาก การต่อสู้เอาเป็นเอาตายสู่ระดับเซลล์และยีน (Gene) เกิดการวิวัฒนาการสำคัญได้แก่ ระบบภูมิคุ้มกันในมนุษย์ ถ้าหากไม่มีระบบนี้ มนุษย์ก็จะไม่สามารถผ่านด่านและการกรองของจุลินทรีย์และไวรัสได้

ดังนั้น ย่อมเข้าใจได้ง่าย ระบบภูมิคุ้มกันมีความสำคัญต่อการอยู่รอด ใกล้เคียงกับสมองกับระบบประสาท ที่ควบคุมการทำงานของร่างกายโดยทั่วไป

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมีความเห็นว่าสมองระบบประสาทกับระบบภูมิคุ้มกันทำงานกันอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปสมองใช้พลังงานจากร่างกายสูงกว่าอวัยวะใด

ว่ากันว่าราวร้อยละ 20 ของพลังงานที่ร่างกายผลิตขึ้นส่วนใหญ่ เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า เพื่อส่งสารระหว่างเซลล์ประสาท อีกส่วนหนึ่งเพื่อรักษาสุขภาพของเซลล์สมองเอง

ส่วนระบบภูมิคุ้มกันอยู่กระจายไปทั่วร่างกาย ในทุกเนื้อเยื่อ เพื่อตรวจจับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตราย ในยามปกติ ก็ต้องใช้พลังงานอยู่ระดับหนึ่งแบบขาดไม่ได้ เมื่อเกิดการติดเชื้อหรือบาดแผลก็ยิ่งต้องการพลังมากขึ้นอย่างมาก

ในระยะหลังมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งสร้างทฤษฎีว่าระบบสมองและระบบภูมิคุ้มกันต่างทำงานแบบ “เห็นแก่ตัว” นั่นคือต้องการนำพลังงานจากร่างกายมาใช้ในระบบของตนมากที่สุด ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการพลังงานในอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย

เช่น เมื่อร่างกายประสบความเย็นจัดยาวนาน สมองที่ต้องการพลังงานเพื่อรักษาการทำงานของตนไว้และอวัยวะสำคัญมีหัวใจเป็นต้นก็ดึงพลังงานหรือเลือดจากบริเวณปลายแขนขาจนเกิดเนื้อชาจนถึงเนื้อตายได้

ปฏิบัติการแบบเห็นแก่ตัวของสมองนี้กล่าวกันว่าก่อความไม่มั่นคงทางอารมณ์ เกิดโรคอ้วน โรคหัวใจและเบาหวานได้

สำหรับระบบภูมิคุ้มกัน มีการศึกษาพบว่าระบบนี้ต้องการใช้พลังงานมาก เพื่อกระตุ้นการทำงานและซ่อมแซมระบบ

เช่น ในชายที่มีน้ำหนัก 175 ปอนด์ (ราว 79 ก.ก.) เกิดมีอาการไข้ เพื่อการต้านโรค มีอุณหภูมิสูงขึ้นราว 2 องศาฟาเรนไฮต์ จะต้องการพลังงานถึงวันละ 250 แคลอรี เทียบกับว่าชายคนนี้ต้องการพลังงานวันละ 373 แคลอรีสำหรับสมอง และวันละ 168 แคลอรีสำหรับหัวใจ

ในกรณีร้ายแรงกว่า ผู้ที่ถูกไฟไหม้รุนแรง การใช้พลังงานสูงได้ถึง 4,777 กิโลแคลอรีต่อวัน เท่ากับปริมาณพลังงานที่ทหารหน่วยรบพิเศษที่ฝึกในป่า (ดูบทความของ Ali Almajwai และคณะ ชื่อ Energy Metabolism and Allocation is Selfish Immune System and Brain : A Beneficial Role of Insulin Resistance in Aging ใน researchgate.net มกราคม 2019)

มีรายงานข่าวว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักถึงขั้นเข้าสู่ภาวะโคม่าสมองหมดสติก็มี

การศึกษาเรื่องกระบวนการเมแทบอลิสต์ของพลังงาน โดยมากเพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์ ในที่นี้ต้องการกล่าวเพียงว่า การทำงานของระบบอวัยวะและร่างกายนั้นต้องการพลังงาน ซึ่งมนุษย์มีความจำกัดในการสนองพลังงาน

เรามักต้องการให้มนุษย์แข็งแรงและฉลาดขึ้น หรือมีระบบภูมิคุ้มกันและสมองที่ดีกัน แต่ระบบทั้งสองต้องใช้พลังงานมาก และการแบ่งพลังงานใช้ในร่างกายก็มีความเหลื่อมล้ำกันมาก มนุษย์ควรจะได้ฝึกปฏิบัติเพื่อแก้ไขอย่างเหมาะสม

ที่ผ่านมาเราใช้วิธีทางการแพทย์สาธารณสุขและโภชนาการ ได้แก่ การสร้างระบบสุขาภิบาล การพัฒนายา เครื่องมือแพทย์และการรักษา การคิดวัคซีนและเซรั่ม การสนองอาหารให้มากขึ้น การผลิตอาหารเสริมที่ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มความเข้มแข็งของระบบภูมิคุ้มกัน และอาหารเสริมสมอง เป็นต้น

ความพยายามดังกล่าวประสบความสำเร็จในด้านที่ทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น อายุยืนยาวขึ้น และอาศัยอยู่ในเมืองที่เจริญรุ่งเรืองได้มากขึ้น สามารถควบคุมโรคระบาดใหญ่เป็นเวลานานกว่าร้อยปี

แต่ความสำเร็จนี้มีความจำกัดอยู่ในตัว ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งภายในร่างกายและภายในสังคม แทนที่จะฉลาดขึ้นกลับขาดสติ กล่าวแถไปแถมา หรือเกิดอาการขุ่นเคืองไม่พอใจรุนแรง

ระบบภูมิคุ้มกันเองก็ถูกไวรัสประเภทเรโทรไวรัส มีไวรัสเอชไอวี เป็นต้น (HIV- Human Immunodeficiency Virus) เป็นไวรัสทำลายภูมิคุ้มกันมนุษย์ ได้อย่างช้า จนเกิดโรคเอดส์ได้ในที่สุด

สำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 มีรายงานการวิจัยจากจีนและสหรัฐว่า สามารถทำลายเซลล์ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้เหมือนเชื้อเอชไอวี โดยเข้าไปในที-เซลล์ที่สร้างสารภูมิคุ้มกัน ยึดเป็นตัวประกัน และทำลายอำนาจในการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นในเวลาไม่นาน

ขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อไข้หวัดซาร์ส ที่เป็นโคโรนาไวรัสเหมือนกันไม่มีความสามารถเช่นนี้

จากการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนมากกว่า 20 ราย พบว่าระบบภูมิคุ้มกันของบุคคลเหล่านี้ถูกทำลายไปเกือบหมด

(ดูรายงานข่าวของ Stephen Chen ชื่อ Coronavirus could attack immune system like HIV by targeting protective cells, warn scientists ใน scmp.com 12/04/2020)

 

อย่างไรก็ตาม ในธรรมชาติไวรัสทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งที่เป็นตัวร้ายก่อโรคระบาดที่มนุษย์เอาชนะได้ยาก เป็นตัวดีที่ไวรัสบางชนิดช่วยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจากไวรัสอื่น

และก็มีไวรัสที่เป็นประโยชน์ ช่วยวิวัฒนาการของมนุษย์ จนบางคนกล่าวว่าถ้าไม่มีไวรัสก็จะไม่มีมนุษย์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ บ้างว่าไวรัสเป็นเหมือนบรรพบุรุษแรกสุดของมนุษย์

ในด้านช่วยวิวัฒนาการมนุษย์ เรื่องเป็นทำนองนี้ว่า มีไวรัสกลุ่มเรโทรไวรัสปกติมีสารพันธุกรรมแบบอาร์เอ็นเอ แต่เมื่อเจาะเข้าไปในเซลล์มนุษย์แล้ว สามารถแปรโฉมเป็นสารพันธุกรรมแบบดีเอ็นเอได้ และหาทางไปฝังตัวในดีเอ็นเอของมนุษย์แบบตามยถากรรม แล้วสงบนิ่ง รอคอยโอกาสฟื้นขึ้นมาถ่ายแบบตัวเอง

แต่เมื่อมันฝังตัว ในดีเอ็นเอมนุษย์แล้ว มันไม่ได้อยู่ในที่เดียว หากแต่จะกระโดดไปยังที่ต่างๆ

เมื่อเวลาผ่านไปเป็นล้านปี ลำดับสารพันธุกรรมมีการผ่าเหล่าไปตามเหตุปัจจัยเกิดการเปลี่ยนแปลงจนสูญเสียความสามารถในการหนีหลุดจากเซลล์เจ้าบ้าน บางส่วนยังคงกระโดดไปยังส่วนอื่นของจีโนมมนุษย์ แต่บางส่วนฝังอยู่ที่เดียวกันตลอดกาล พบว่าราวครึ่งหนึ่งของพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์ ประกอบด้วยลำดับดีเอ็นเอหรือพันธุกรรมที่มีร่องรอยจากไวรัสที่ตายมานานแล้ว

ตัวอย่างซากไวรัสที่ช่วยวิวัฒนาการมนุษย์มีมากด้วยกัน ที่รู้จักกันดีได้แก่ การสร้างรกหุ้มเด็กในมดลูกสตรี พบว่ามียีน 2 ตัวในมนุษย์ที่ช่วยสร้างรก ยีนตัวหนึ่งช่วยในการเชื่อมเยื่อหุ้มเข้าด้วยกัน

อีกตัวหนึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันของแม่มาทำลายตัวอ่อน ปรากฏว่ายีนทั้งสองตัวนี้ดูคล้ายกับมาจากเรโทรไวรัส

นักวิจัยยังพบยีนสองตัวในหนู ที่ทำหน้าที่เหมือนกับยีนในมนุษย์แต่มาจากไวรัสชนิดอื่น

ในแมวและสุนัขมียีนที่ร่วมกันมาจากไวรัสอีกชนิดหนึ่ง แสดงว่าทั้งแมวและหมาสืบทอดจากบรรพบุรุษที่กินสัตว์ร่วมกัน

นักวิชาการบางคนเสนอแง่คิดว่าไวรัสที่ถูกทำให้เชื่องในจีโนมมนุษย์นี้ ได้แสดงบทบาทใหม่เป็นผู้สับสวิตช์ให้ยีนที่เหมือนไม่ทำงานซึ่งมีอยู่มากในดีเอ็นเอมนุษย์ สร้างโอกาสของการวิวัฒนาการมากมายแก่มนุษย์

(ดูบทความของ Kat Arney ชื่อ Viruses : their extraordinary role in shaping human evolution ใน sciencefocus.com ในกลุ่มบีบีซี 19/03/2020)

 

สําหรับกรณีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มีนายแพทย์นักวิจัยและนักเขียนหนังสือติดอันดับขายดีหลายเล่ม เชื้อสายอิสราเอลคือ แชรอน เมาเล็ม (อายุ 46 ปี) เห็นว่าโควิด-19 อาจมีผลกระทบต่อวิวัฒนาการของมนุษย์ ในทางที่ทำให้มนุษย์แข็งแรงและฉลาดขึ้น (หนังสือขายดีเล่มแรกของเขาชื่อว่า “การอยู่รอดของผู้ที่เจ็บป่วยมากที่สุด” เผยแพร่ครั้งแรกปี 2007)

เขาเห็นว่าไวรัสต้องการเพียงการอยู่รอด ไม่ใช่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์

การระบาดครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อวิวัฒนาการมนุษย์สองทางด้วยกัน

ทางหนึ่งได้แก่ การสังหารผู้คนไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่น้อย ผู้ที่มีชีวิตรอดเนื่องจากการได้เปรียบของระบบภูมิคุ้มกัน ก็จะส่งทอดความได้เปรียบนี้ไปยังรุ่นลูกของตน

ในอีกทางหนึ่งโดยการเข้าไปเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมของมนุษย์เองซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดมาแล้ว ซึ่งจะเห็นได้จากว่าราวร้อยละ 8 ของจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์ เป็นสิ่งตกค้างของไวรัสที่แพร่เข้ามาและฝังตัวในเซลล์มนุษย์ และทิ้งรอยพันธุกรรมของมันไว้

ในกรณีโควิด-19 มีรายงานว่าชายที่ติดเชื้อนี้ พบไวรัสโคโรนาได้มารวมตัวกันที่ลูกอัณฑะ ซึ่งหมายความว่าจะส่งผ่านเชื้อนี้ไปให้รุ่นลูก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางรหัสพันธุกรรมในระยะยาวได้

ในอีกด้านหนึ่งเมาเล็มเห็นว่า ไม่ว่าเราจะคิดว่าเราสำคัญและเจริญอย่างซับซ้อนเพียงใด สิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ก็คือเชื้อโรคที่มองไม่เห็น อันนี้เกิดจากการเป็นเมืองมากเกินไป อยู่ใกล้ชิดและมีการสัมผัสกันในทางหนึ่งทางใดตลอดเวลา มีการกดปุ่มในลิฟต์ เป็นต้น

และตั้งข้อสังเกตว่า สตรีนั้นจะติดเชื้อโควิด-19 น้อยกว่าชาย ทั้งนี้ ที่สำคัญเกิดจากการมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่า เนื่องจากต้องรับภาระในการเลี้ยงดูลูกให้อยู่รอด (ดูบทสัมภาษณ์ของ Sharon Maolem โดย Yogev Carnel ชื่อ Genetics Expert Says Covid-19 May Affect Human Evolution ใน calcalistech.com 10/04/2020)

ตามทัศนะของนักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ โคโรนาไวรัสจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนวิวัฒนาการมนุษย์สู่ระดับสูงขึ้นได้ ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางอารยธรรมสำคัญอย่างน้อยสองประการ ได้แก่ การปรับแก้การเป็นเมืองใหญ่ อีกอย่างหนึ่งได้แก่ การยอมรับสตรีมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งนอกเหนือเรื่องการแพทย์สาธารณสุข

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการแข่งขันผลิตวัคซีนโควิด-19 และสมรภูมิใหญ่กับไวรัส

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)