เกษียร เตชะพีระ | 80 ปีนิธิ เอียวศรีวงศ์ : #Old Question แต่ไม่ Out of Date (3)

เกษียร เตชะพีระ

ผลงานสำคัญของการผสานภาวะทันสมัยแบบตะวันตกเข้ากับการอนุรักษ์ระเบียบอำนาจไทยอันดับต่อไปได้แก่

2) การผสานภาวะทันสมัยทางวัตถุ/การพัฒนาทางเศรษฐกิจเข้ากับหลักพุทธธรรมทางจิตใจ : เศรษฐกิจพอเพียง

ในบทที่ 2 “ภูมิศาสตร์แบบใหม่กำลังมา” ของหนังสือ กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ ภูมิกายาของชาติ โดยอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล (ฉบับภาษาอังกฤษ ค.ศ.1994 ฉบับแปลเป็นไทย พ.ศ.2556) ได้สรุปสาระสำคัญแห่งกระบวนท่ารับมือความทันสมัยจากตะวันตกของขบวนแถวปัญญาชนผู้ริเริ่มปฏิรูปทางการเมืองและภูมิปัญญาในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ที่สำคัญได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี หรือขำ บุนนาค ผู้เขียน หนังสือแสดงกิจจานุกิจ, พ.ศ.2410 เป็นต้น ซึ่งกลายมาเป็นกระบวนท่าหลักในการรับภาวะทันสมัยทางวัตถุ/การพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบไทยๆ ในชั้นหลังคือ :- (ดูตาราง)

– แบ่งปริมณฑลแห่งวิทยาการความรู้เป็นเรื่องทางโลก กับ เรื่องทางธรรม

– ในแง่เรื่องทางโลก/วัตถุ รับความรู้วิทยาศาสตร์ตะวันตกจากหมอสอนศาสนาฝรั่งซึ่งรวมทั้งภูมิศาสตร์และเทคนิคการทำแผนที่สมัยใหม่ เข้ามาแทนที่จักรวาลวิทยาแบบเดิมซึ่งบกพร่องผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการใช้ทำความเข้าใจโลกธรรมชาติที่เป็นจริง จึงถูกปัดปฏิเสธไป

– ในแง่เรื่องทางธรรม/จิตวิญญาณ ปัดปฏิเสธคริสต์ศาสนาของหมอสอนศาสนาฝรั่ง ธำรงรักษาพุทธศาสนาซึ่งไทยมีมาแต่เดิมไว้ เพราะใช้เป็นหลักศาสนธรรมในการประพฤติปฏิบัติตนและดำเนินชีวิตได้ถูกต้องดีงามอยู่แล้ว

– พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาและประยุกต์ความรู้ดาราศาสตร์และภูมิศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่ เข้ามาประสานและปรับปรุงแก้ไขความรู้ทางด้านโหราศาสตร์โบราณในไทย จนทรงทำนายและประกาศจุดสังเกตการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องแม่นยำทั้งเวลาและตำแหน่งสถานที่ ณ บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411

ผลจากการนี้ทำให้พระมหากษัตริย์แห่งสยามเป็นที่ประจักษ์ยอมรับนับถือของวงการทูตและวิทยาศาสตร์ในนานาอารยประเทศ และพระองค์ทรงได้รับยกย่องในชั้นหลังด้วยสมัญญานามว่า “บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และ “บิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย” (ธงชัย, น.79-80)

การศึกษาของไทยถูกปฏิรูปเป็นแผนใหม่และริเริ่มผลิตตำราเรียนภูมิศาสตร์และการทำแผนที่สมัยใหม่ขึ้นเผยแพร่ร่ำเรียนกัน ขณะที่พุทธศาสนายังคงเป็นศาสนาหลักทางการของรัฐและชาติสืบต่อมา

ในคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ โลกประสบพบผ่านความผันผวนปรวนแปรพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินทางการเมืองมากมาย ที่สำคัญได้แก่ สงครามโลกสองครั้ง สงครามกู้เอกราช สงครามกลางเมืองและสงครามรุกรานใหญ่/ยาวนานอีกหลายครั้งในทุกทวีป การปฏิวัติสังคมในประเทศขนาดใหญ่/สำคัญที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกเช่นการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.1911 การปฏิวัติจีน ค.ศ.1949 ฯลฯ

Goran Therborn ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาชาวสวีเดนแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศสหราชอาณาจักร ได้นิยามคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบว่าเป็นศตวรรษแห่งชนชั้นคนงานและองค์การจัดตั้งของชนชั้นนี้ (สหภาพแรงงาน, พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคสังคมนิยม พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคแรงงาน เป็นต้น https://newleftreview.org/issues/II78/articles/goran-therborn-class-in-the-21st-century)

จากนี้จึงทำให้ความขัดแย้งสำคัญซึ่งกลายเป็นทางแพร่งของการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองที่สังคมประเทศต่างๆ ถูกบีบให้เลือกในคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบได้แก่ [ทุนนิยมตลาดเสรี vs. สังคมนิยม/คอมมิวนิสต์]

สิ้นคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ เป็นที่ประจักษ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศคอมมิวนิสต์ล้มเหลว แต่ทุนนิยมตลาดเสรีก็ไม่อาจแก้ปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อมและความสุขของมนุษย์ระดับโลกได้

ตรงกันข้าม หากปล่อยทุนนิยมตลาดเสรีให้เดินหน้าอย่างไม่ยับยั้งกำกับควบคุมในแนวทางลัทธิเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์ แนวโน้มคือคนจนยังอยู่ ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น หนี้สินและคนตกงานเพิ่มพูน สภาพแวดล้อมถูกทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติถูกพร่าผลาญสิ้นเปลืองหมดไป โลกยิ่งร้อน ภูมิอากาศปรวนแปร และยังประสบวิกฤตเศรษฐกิจการเงินล่มจมถดถอย/ตกต่ำแผ่กว้างทั่วโลกเป็นระยะทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ผู้คนทุกข์ยากเดือดร้อนไปทั่วทั้งทางร่างกายและจิตใจ

จนนำไปสู่ปฏิกิริยาทางการเมืองแบบประชานิยมฝ่ายขวา เช่น BREXIT ในอังกฤษ การชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของ Donald Trump ในอเมริกา และกระแสสูงของพรรค/รัฐบาลประชานิยมฝ่ายขวาในบางประเทศยุโรป เช่น ฮังการี โปแลนด์ อิตาลี เป็นต้น

ในบริบทมหภาคที่ว่านี้ เศรษฐกิจพอเพียงจึงปรากฏขึ้นมาเป็นทางเลือกต่างหากจากสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ เพื่อให้เศรษฐกิจสังคมไทยอยู่กับทุนนิยมตลาดเสรีโดยมีภูมิต้านทานต่อวิกฤตของมันตามสมควร โดยดำเนินรอยตามแนวทางแบบไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ในการจัดการรับมือความทันสมัยจากตะวันตกด้วยการแบ่งเรื่องทางโลก/วัตถุ ออกจากเรื่องทางธรรม/จิตวิญญาณ

แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หมายถึงปรัชญาเศรษฐกิจ ศีลธรรมภายใต้หลักพุทธธรรมว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา หรือการเดินทางสายกลาง ที่มุ่งหลีกเลี่ยงความสุดโต่งเกินเลยและความเสี่ยงที่เลวร้ายที่สุดซึ่งผูกโยงกับระบบทุนนิยมตลาดเสรี-บริโภคนิยม-วัตถุนิยม

แม้ฐานที่มาทางสังคมของแนวคิดดังกล่าวจะเป็นชุมชนชาวนาพึ่งตนเองเลี้ยงตนเองแบบเดิม ทว่าเชื่อว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงสามารถประยุกต์ใช้ได้ทั่วสากล

อนึ่ง อาจารย์ Craig Reynolds ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยแห่ง Australian National University เคยเสนอว่าอาจแปลคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นภาษาอังกฤษทางเลือกได้ว่า the economics of enoughness แทนคำแปลทั่วไปว่า sufficiency economy

ซึ่งน่าสนใจว่าคำแปลทางเลือกนี้คล้องจองไปกับงานของ Diane Coyle นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนมีชื่อชาวอังกฤษเรื่อง The Economics of Enough: How to Run the Economy as If the Future Matters (ค.ศ.2011)

เรียบเรียงจากคำอภิปรายของผู้เขียนในงานเสวนาจัดโดยมติชน, 3 กรกฎาคม 2563