มนัส สัตยารักษ์ | คดีบอส กระทิงแดง

สื่อญี่ปุ่นประจาน “กระบวนการยุติธรรมไทยเหลวแหลก ไร้มาตรฐาน ทำคนผิดให้เป็นถูก ปล่อยคดีหมดอายุความ สั่งไม่ฟ้อง” รู้สึกดีที่เขาพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา แต่ขณะเดียวกันก็น้อยใจอยู่นิดๆ ที่เขาเปิดภาพประกอบข่าวด้วยภาพของ 2 โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย กับ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ แล้วถึงจะมีภาพของ “บอส กระทิงแดง” ขณะรอเข้าบ้านพักที่ลอนดอน (อย่างเปิดเผย)

ผมดูโฆษก สตช.แถลงข่าวทางทีวี รู้สึกโล่งอกที่ได้เห็นว่า พล.ต.ท.ปิยะนั่งนิ่งเฉยและปิดปากเงียบเหมือนไม่สนใจ ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะแถลงข่าวว่า ตำรวจไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 แต่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 2 คือ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ตาย

เห็นชัดว่า พ.ต.อ.กฤษณะมีฐานะเป็นเพียง “หนังหน้าไฟ” สีหน้าออกจะตุ่นๆ เหมือนฝืนใจพูดเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความรู้และความเชื่อของตน…ก็คงจะเหมือนกับทุกคนที่เพิ่งรู้ว่า ด.ต.วิเชียร แทนที่จะอยู่ในฐานะเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ กลับกลายเป็นผู้ต้องหา และเป็นผู้ต้องหาที่มีความผิด!

ผมอยากจะเห็นประชาชนให้ความเป็นธรรมกับตำรวจที่ตาย ตำรวจที่เป็นหนังหน้าไฟ รวมทั้งองค์กรตำรวจตามที่ควรจะเป็น

องค์กรตำรวจถูกมองในด้านที่น่าสงสัย จากการชี้แจงแถลงข่าวของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจกรณีสั่งไม่ฟ้อง “บอส กระทิงแดง” ที่ ผบ.ตร.ตั้งขึ้น อันมี พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธาน เนื่องจากตอบคำถามผู้สื่อข่าวในประเด็นที่สำคัญ ชี้เป็นชี้ตายในการสั่งคดีว่า “ขอศึกษาและตรวจสอบก่อน”

ปกติแล้วในทางปฏิบัติ ผู้แถลงข่าวควรศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องที่จะแถลงก่อนจะขึ้นเวที และในบางกรณีที่ผู้แถลงข่าวมิใช่ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ปฏิบัติเป็นคนชี้แจงเอง

ในกรณีของคดี “บอส กระทิงแดง” นี้ก็เช่นกัน ผู้ที่ควรชี้แจงก็คือ “หัวหน้าพนักงานสอบสวน” ที่ลงชื่อในสรุปรายงานการสอบสวน ถ้าเป็นสมัยเมื่อหลายสิบปีก่อนก็เป็นสารวัตรใหญ่ หรือผู้กำกับการ (ตามอัตราโทษของคดี) แต่อย่างไรก็ตาม ระยะหลังจากที่ผมเกษียณอายุราชการแล้ว ตรงจุดนี้น่าจะมีการพัฒนา ขณะเดียวกันก็สับสนพอสมควรเมื่ออำนาจการสอบสวนเข้าสู่การแย่งชิงและวิพากษ์วิจารณ์จนเป็นปัญหาเรื้อรังที่รอการปฏิรูป

ที่สำคัญก็คือ คดีอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนซึ่งเป็นคดีธรรมดาที่ไม่น่าจะสลับซับซ้อนนี้ ได้ใช้เวลาถึง 8 ปี กว่าจะเสร็จสิ้นสรุปผลการสอบสวนลงได้!

ในช่วงเวลา 8 ปี สน.ทองหล่อเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการนับไม่ถ้วนคน แต่ละคนเข้ามารับตำแหน่งแล้วจะเปิดอ่านสำนวนการสอบสวนคดีอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนกี่คน กี่คดี เราจะเลือกชี้ใครเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนมาชี้แจง?

ถ้า พล.ต.อ.ศตวรรษ ศึกษา ตรวจสอบ หรืออดใจรอสักนิดก็จะได้ทราบจากบันทึกของนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ถึงนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เรื่อง “การแถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา” ของคณะอัยการ สรุปว่า

“คำสั่งไม่ฟ้องวรยุทธ อยู่วิทยา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ยังคงใช้บังคับอยู่เช่นเดิม”

นั่นก็คือ สำนวนการสอบสวน “คดีบอส กระทิงแดง” มี 2 ชุด คือชุดที่สั่งฟ้องกับชุดที่สั่งไม่ฟ้อง!

ข้อเท็จจริงตรงนี้คะแนนขององค์กรตำรวจอาจจะตีตื้นขึ้นกว่าองค์กรอัยการ

เรื่องไม่น่าเชื่อนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เกิดขึ้นได้เพราะ คสช.ใช้อำนาจรัฐประหารตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และตั้ง กมธ.กฎหมาย หรือ “คณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ” ขึ้นมาโดยอ้างว่าเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปฏิรูปตำรวจตามเสียงเรียกร้องของประชาชน ซึ่งไม่มีข่าวคืบหน้าแต่อย่างใด

งานหลักและสร้างกระแสโด่งดังของ กมธ.ชุดนี้คือ รับการร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากนายวรยุทธ ทำให้การดำเนินคดีล่าช้าไปจนหมดอายุความหลายข้อหา และในที่สุดก็ดำเนินการให้มีการสอบสวนจนกลายเป็น 2 สำนวนจนได้

กมธ.ชุดนี้ประกอบไปด้วยอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และอดีตอัยการระดับสูงหลายนาย ซึ่งบังเอิญว่ามีเหตุให้โยงใยไปเกี่ยวพันกับมหาเศรษฐีบิดาของนายวรยุทธ จึงทำให้สื่อหลายรายสร้างมโนภาพที่ทำให้ผู้เสพข่าวรู้สึกว่าการสอบสวนพิกลพิการจนมีพิรุธไปได้มากมาย

นายธานี อ่อนละเอียด อดีตเลขานุการ กมธ. เป็นคนหนึ่งที่ออกมาชี้แจง แต่สาระสำคัญกลับขัดแย้งกับคำชี้แจงของ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร อดีต ผบช.น. ซึ่งเป็น กมธ.เดียวกัน

รายละเอียดคร่าวๆ ประมาณนี้ พล.ต.อ.ศตวรรษและคณะกรรมการตรวจสอบฝ่ายตำรวจสามารถนำมาพยุงเกียรติขององค์กรได้มากมาย

ในประเด็นที่ฝ่ายตำรวจไม่ทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการก็เช่นกัน พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ชี้แจงว่า การไม่แย้งคำสั่งอัยการ “ทำไปตามสเต็ป” โดยไม่มีการใช้ดุลพินิจ

หมายความว่า กองบัญชาการ สำนักงานกฎหมายและคดี ซึ่งมีนายพลตำรวจที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์งานสอบสวน ตลอดจนมีนายตำรวจที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงโด่งดังของต่างประเทศหลายคน ไม่ได้ทำงานหรือไม่ถูกใช้งานเลย

นายตำรวจเหล่านี้บางท่านอาจจะยศต่ำกว่าหรืออายุน้อยกว่า แต่ทุกท่านเป็นเสมือนครูบาอาจารย์ ถ้าไม่ยึดติดระบบเจ้าขุนมูลนายก็อาจจะปรึกษาหารือและขอคำแนะนำได้โดยไม่เสียศักดิ์ศรีแต่อย่างใด

ข่าวคราวความเป็นมาของคดีนี้มีมาตั้งแต่เริ่มต้น ดำเนินอยู่ตลอดระยะ 8 ปี และลงท้ายด้วยพิรุธแปลกๆ อีก 2 ขยักก่อนจะมีข่าว “คำสั่งไม่ฟ้อง”

ขยักแรก มีข่าวลงโทษสถานเบาและไม่ลงโทษตำรวจที่ทำคดีและไม่ออกหมายจับ

ขยักที่สอง คือคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการเป็นข่าวที่ต่างประเทศก่อนเมืองไทย แถมเป็นข่าวที่พาดหัวชัดเจนว่า “Corruption in Thailand”

มีพิรุธถึงขนาดนี้แล้วก็ยังไม่พอ ยังเพิ่มพิรุธเข้าไปอีกด้วยการไม่ใช้ดุลพินิจ

นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องฯ กล่าวว่า “เรื่องความเห็นแย้งของตำรวจที่ไม่มีการตรวจสอบอะไรเลย จุดนี้เป็นเรื่องใหญ่”

นายวิชาเปิดเผยหลังพบกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ว่า ผบ.ตร.รับปากจะแก้ไขระบบการมอบอำนาจไม่ให้มีช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดกรณีอย่างคดีนายวรยุทธอีก นอกจากนั้น หาก ผบ.ตร.พบว่ามีผู้กระทำผิด จะนำตัวคนผิดมาลงโทษ

เพื่อนนายตำรวจหลายคนพูดคล้ายกันว่า มันเป็นความผิดของ “คน” ทั้งในและนอกองค์กร ที่เข้ามาใช้อำนาจหาเงินโดยอาศัยคนและอำนาจขององค์กร

“คดีบอส กระทิงแดง” คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)