อภิญญา ตะวันออก / “110 ปี” – บันเตียฉมาร์ : กับสรรสาระแห่งการสูญหาย

อภิญญา ตะวันออก

กว่าจะมาถึงวันหนึ่งซึ่งปราสาทบันเตียฉมาร์พบความสงบงามอีกครา ข้าพเจ้าต้องเล่าว่า

“110 ปีแล้วสินะ” นับแต่ 2453 (พ.ศ.) ที่อาณาจักรเล็กๆ แห่งนี้ถูกค้นโดยคณะสำรวจของสำนักฝรั่งเศส แห่งปลายบุรพทิศ แล้วแต่นั้น ปราสาทลึกลับแห่งฟากตะวันตกของกัมพูชาก็ถูกเปิดเผยอย่างลับๆ ในหมู่นักวิทูโบราณคดีบารัง

พลันศิลปะบายนยุคชัยวรมันที่ 7 ที่สร้างยุคเดียวกัน (แต่ฉับพลันสักหน่อย) ก็กลับมาคงสภาพปราสาทหินทรายในป่าตะโกร้อยปีที่หลับใหลไปชั่วหนึ่งศตวรรษแห่งการสูญหาย (หมายถึงไม่มีใครพบ) จากนั้นมา การถอดรหัสนัยของจารึกต่างๆ ของปราสาทแห่งนี้ซึ่งมีถึงกว่า 24 หลัก ก็เผยประวัติเป็นมา (อันน่าประหลาด) ทว่าอีกล่ะ ก็มีวัตถุโบราณที่น่าหลงใหลจำนวนมากถูกถ่ายโอนออกมาด้วย

ก็กว่าร้อยปีมาแล้วนี่ละ

และนี่คือแบบจำลองแห่งการโจรกรรมแต่ครั้งแรกๆ ต่อบันเตียฉมาร์ และต่อมาอีกหลายครั้งซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อความทรงจำ

โดยราวกับว่า นี่คือศาสตร์แห่งความลึกลับของอาณาจักรยุคกลาง (สร้างราว 800 ปีก่อน) ที่มักเต็มไปด้วยสงคราม มหากาพย์การปล้นสะดมทำลายอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนจะจบลงด้วยการสาบสูญเฉกอาณาจักรที่หลับใหลไปในกาลเวลา

ไม่น่าจะจำเสียกระไร สถานะเช่นนั้นของบันเตียฉมาร์/บันทายฉมาร์

 

ถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าขอย้อนความเป็นมาของศาสตราจารย์จอร์จ เซเดส บรรณารักษ์ใหญ่แห่งหอสมุดวชิรญาณ (หอสมุดพระนคร/หอสมุดแห่งชาติ) นั้น แรกทีเดียวประวัติเป็นมาของท่านที่ช่างคลุมโดยเฉพาะในส่วนของกัมพูชา กระทั่งบัดนี้จึงทราบว่า นี่คือผู้ “ถอดรหัส” ศิลาจารึกสันสฤตของปราสาทบันเตียฉมาร์คนแรกๆ

ยิ่งกว่านั้น อานิสงส์ของการค้นพบบันเตียฉมาร์น่าจะมีส่วนไม่น้อยก็มากที่ทำให้ท่านเซเดสมาประจำการอินโดจีนที่แคว้นกัมพูชาโดยเฉพาะพระตะบองที่ขณะนั้นปกครองตำบลทมอพวกและบันเตียฉมาร์

โดยพบว่า เมื่อคณะสำรวจอินโดจีนพบปราสาทบันเตียฉมาร์ในปี 2453 แล้ว เซเดสครูภาษาเยอรมันที่ฝรั่งเศสขณะนั้นก็ได้รับการบรรจุเป็นสมาชิกและนักนิรุกติศาสตร์ประจำสำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศในปีถัดมา

และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์พระตะบอง ณ บริเวณวัดโพธิ์เวียง ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสตึงสังแก

แลนี่ฤๅกระมัง ที่บันเตียฉมาร์ มีส่วนนำพา ศ.จอร์จ เซเดส มาสู่ดินแดนแห่งนี้และสยาม?

และนี่คือปฐมบทที่น่าจดจำในตัวอย่าง Inscriptions du Cambodge Vol.4 บันเตียฉมาร์ฉบับจอร์จ เซเดส/1952 ตอนหนึ่งกล่าวว่า :

 

“โดยปราศจากการกระตุ้นเร้าจากฝ่ายใด ท่านได้ลงทัณฑ์ผู้กระทำผิด และประทานรางวัลผู้กระทำดีแก่ทุกฝ่าย ที่เกิดจากการยุยงของ G?dhi บุตร ผู้สวรรค์บันดาลมาพร้อมกับอุปสรรคอันนิมิตจากพระพรหม” (Bulletin of the students of the department of Archaeology, July 2004)

แต่ก็ให้สะกิดใจว่า เซเดสซึ่งชำนาญการด้านเขมรศึกษาและนิรุกติศาสตร์ น่าพึงใจกับชีวิตที่กัมพูชา แต่เพียง 5-6 ปีเท่านั้น กลับอัปเปหิตนเองมาทำงานกรุงเทพฯ ในตำแหน่งสามัญคือบรรณารักษ์หอสมุด

หากว่า เจ้าของหอสมุดเวลาไม่ใช่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสียแล้ว ขออภัย ไม่เจตนาจะล่วงเกินศาสตราจารย์จอร์จ เซเดส แต่อย่างใด แต่ก็อดจะคิดไม่ได้ว่า ท่านถูกส่งมารับใช้เจ้านายสยามและเป็นสปายทางวิทยาการระหว่างไทย-เขมร ซึ่งถือเป็นตรรกะของสำนักวิทยาในการแข่งขันอย่างอุกฤษฏ์มากสมัยนั้น

อย่างไรก็ตาม ขณะที่เขาเริ่มลงมืออ่านจารึกต่างๆ รวมทั้งที่พบจากปราสาทบันเตียฉมาร์อันน่าพิสดารนั้น อีกด้านหนึ่ง เซเดสผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์หนุ่มก็คงทราบแก่ใจว่า มีวัตถุโบราณจากปราสาทบันเตียฉมาร์ราว 180 ชิ้นที่เก็บไว้ ณ พิพิธภัณฑ์พระตะบองนี้ ถูกส่งไปยังสำนักฝรั่งเศสบุรพทิศฮินโดจีนกรุงฮานอย และปลายฝรั่งเศส-กรุงปารีสอีกคำรบหนึ่ง

ซึ่งก็คล้ายกับวงจiชีวิตของท่านเซเดส หลังจากลาราชการจากสยามไปเป็นผู้อำนวยการสำนักฝรั่งเศสฯ กรุงฮานอยจนเกษียณราชการแล้ว วาระที่เหลืออยู่ของชีวิตตำแหน่งสุดท้ายของท่านคือ นายภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์แอนเนอรี่ (Musee d”Ennery)

มีบันทึกถึงห้วงปลายชีวิตกล่าวถึงท่านเซเดสว่า รำลึกถึงดินแดนตะวันออกอย่างสุดจะพรรณนา ทว่า “ตะวันออก” ของ ศ.เซเดสนี้ มิได้ระบุว่าเป็นสยามหรือพระตะบอง-เขมรกันแน่?

จากจารึกบันเตียฉมาร์-พระตะบอง ถึงผู้ช่วยชาวเขมรของท่านเซเดสที่อาศัยร่วมชายคาตำหนักหลวงเก่าตรงถนนราชดำรินั่น รวมทั้งคุณเนียง ยับภรรยาท่านเซเดสผู้มีชีวิตอันลึกลับ ทั้งสองน่าจะเป็นชาวเขมรแลพื้นเพพระตะบองโดยกำเนิดหรือไม่ให้น่าคิด เนื่องจากรู้ภาษาและธรรมเนียมไทยเป็นอย่างดี

อนึ่ง ผู้ช่วยเขมรท่านนี้มีความชำนาญด้านการเดินเอกสารและการช่วยถอดความอักษรของท่านเซเดสอีกด้วย

 

อนึ่ง เป็นที่น่าสนใจว่า บันเตียฉมาร์คือตัวอย่างของปราสาทที่มีจารึกมากรวมทั้งวัตถุโบราณที่สูญหายตลอด 100 ปีที่ผ่านมา และเมื่อเขมรได้เอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว พิพิธภัณฑ์เมืองพระตะบองก็เปลี่ยนชื่อไปตามสมัยการปกครองจาก “สังคมเรียด”( 2511) “เขมรสาธารณรัฐ” (2513) และ “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์พระตะบอง” ของยุคเฮง สัมริน (2529)

กระนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้ปราสาทบันเตียฉมาร์ซึ่งตั้งอย่างโดดเดี่ยวทางภูมิศาสตร์พ้นจากการถูกโจรกรรม โดยครั้งสุดท้ายนั้น คือปี พ.ศ.2542 เมื่อวัตถุโบราณและประติมากรรมนูนต่ำจากกำแพงทิศใต้น้ำหนักหลายตันของปราสาทบันเตียฉมาร์จากจำนวน 117 ชิ้น ถูกลักลอบมายังฝั่งไทย

หลายปีที่มีการส่งคืนวัตถุโบราณทั้งหมด ร่วม 7 ปีที่นักโบราณคดีนานาชาติทำการบูรณะปราสาทแห่งนี้ พร้อมๆ ไปกับการนำระเบิดสงครามออกจากพื้นที่

หลายปีที่บันเตียฉมาร์กลับสู่สถานะของความเป็นโบราณสถานที่ได้รับการดูแลโดยชาวทมอพวกและเจ้าหน้าที่สำนักโบราณวิเจียกัมพูชา

และในปีนี้เองที่สัญญาณของการพบโบราณวัตถุสำคัญ 6 ชิ้น บริเวณบารายและเขตปราสาทเก่าของกลุ่มปราสาทบันเตียฉมาร์ ได้สร้างทิศทางแห่งความหมายทั้งคุณค่าประวัติศาสตร์และชุมชน แม้ในที่สุดแล้ว วัตถุโบราณทั้งหมดจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระตะบองก็ตาม

นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในรอบ 100 ปีของวงการโบราณวิทยาเขมร ที่การทำงานของแผนกโบราณวิทยามีความก้าวหน้าในหลายมิติ รวมทั้งการทวงคืนวัตถุโบราณหลายชิ้นที่สูญหายไปจากประเทศ ไม่ว่าจะเกิดจากการโจรกรรมหรือสงครามกลางเมือง ให้กลับคืนสู่กัมพูชาจำนวนหลายชิ้น

ที่พบว่า น่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการเรียกคืนโบราณวัตถุที่ถูกโจรกรรมเช่นกรณีเดียวกันอย่าง “กรุประโคนชัย” ของไทย เป็นต้น

 

จากนี้ ปีที่ 111 ในตัวตนบันเตียฉมาร์เป็นต้นไป คือการทรงไว้ซึ่งคุณค่าของศิลปะและโบราณวิทยา ทั้งองค์ความรู้และความวิจิตรในประติมากรรมที่ท้าทายตลอด 100 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการยกระดับข้อศึกษาจากจารึกโดยวิทูท้องถิ่นรุ่นหลัง สียน สุเภียริด ที่ยกระดับปราสาทบันเตียฉมาร์ด้วยอิทธิพลตำนานรามายณะ ของพราหมณ์วัลมิกิ

โอ ท่าน “มหาฤๅษี” ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเรียมเกร์ของชาวเขมร ท่านได้รสนาโศลกปริศนามากมายเหล่านั้น และว่า เหตุใดปราสาทแห่งนี้จึงมีจารึกสันสกฤตอยู่มากถึง 24 หลักนั่น

และด้วยความพิสดารเหล่านั้น จึงทำให้เรื่องเล่าของกำเนิดปกรณัมและตำนานต่างๆ ในองค์เทพศิวะ วิษณุกรรม อนึ่ง พราหมณ์ เทวา ทั้งพระโพธิสัตว์ และความเป็นอมฤตอนันตกาลที่ไม่สิ้นสุดนั่น

บ่งบอกว่า ศิลปะบันเตียฉมาร์แม้จะเจือด้วยอิทธิพลพุทธมหายานแบบสมัยบายน แต่ก็แตกแขนงอัตลักษณ์เฉพาะตน อาทิเรื่องของมหาฤๅษีวัลมิกิ

ที่ไม่แต่จะพิสดารแล้ว ก็ยังมี “มหาฤๅษี” อีกหลายสำนัก