สมชัย ศรีสุทธิยากร | สละอวัยวะ รักษาชีวิต

สมชัย ศรีสุทธิยากร

วันที่ประชาชนเงียบสงบ ผู้ปกครองมักออกกฎกติกาตามใจชอบ แสวงหาความได้เปรียบให้แก่ตนเองทุกวิถีทาง ให้วุฒิสภาที่ตนจัดตั้งขึ้นมาประกอบคนที่พร้อมจงรักภักดี กำหนดอำนาจหน้าที่สารพัดโดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิรูปทางการเมือง แต่กลับกลายเป็นกลไกสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเพื่อความมั่นคงของตัวเอง

วันที่ประชาชนยังเป็นเสียงเล็กเสียงน้อยแห่งความอึดอัดไม่พอใจ ผู้ปกครองที่ไม่ยี่หระก็มักขู่ตะคอกกลับและไม่สนใจใดๆ กับข้อเสนอเรียกร้อง เพราะเขายังเชื่อมั่นในอำนาจรัฐที่มีอยู่ในมือกับกลไกต่างๆ ที่ถูกวางอย่างเป็นระบบ คำตอบที่ได้จึงยึดมั่นกับการไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ ด้วยเสียงหนักแน่นว่า “ไม่”

ในวันที่เสียงของประชาชนเริ่มกระหึ่มขึ้นในทุกสารทิศ ข้อเรียกร้องถูกยกระดับจนน่าตื่นตระหนก ผู้ปกครองที่ฉลาดพอกับการรับรู้ถึงการพัฒนาของสถานการณ์ในภายภาคหน้าว่าหากยังคงนิ่งเฉยหรือมุ่งใช้อำนาจในการตอบกลับแบบที่ผ่านมาจะยิ่งทำให้สถานการณ์ขยายตัวรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถคาดการณ์ใดๆ ได้ จึงเริ่มใช้ยุทธวิธีสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร ที่เราจะเห็นสมาชิกวุฒิสภาบางคนเริ่มเปลี่ยนจุดยืนที่แข็งกร้าว ให้สัมภาษณ์ด้วยท่วงทีที่อ่อนโยนทำนองว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาก็ต้องแก้ไข ไปจนถึงยอม “เท” นาย “ขาย” เพื่อน บอกว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลายที่มาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 269(ค) นั้น ไร้ซึ่งความจำเป็น เพราะแต่ละท่านก็มีภารกิจมากมายแทบไม่เคยมาร่วมประชุมกับวุฒิสภา ดังนั้น จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัดส่วนนี้ออกก็สมควรอยู่

เข้าทำนอง พึงเสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เอา 6 คนนี้ออก แต่ขอข้า (244 คน) ยังเป็นสมาชิกวุฒิสภาต่อไปให้ครบวาระ

แต่สำหรับผู้ที่ติดตามศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับร่างตามใจแป๊ะ คงต้องบอกว่าเนื้อร้ายที่ยอมเฉือนออกยังไม่ใช่จุดที่จะช่วยระงับโรคร้ายที่เกาะกินบ้านเมืองนี้ เพราะยังมีอีกหลายจุดที่เป็นเนื้อร้ายขนาดใหญ่ที่ต้องร่วมกันเอาออก เชื่อไม่ได้กับคำวินิจฉัยของหมอจอมปลอมที่เริ่มรู้ทิศทางลมและพยายามเอาตัวเองให้รอดพ้นจากหายนะเท่านั้น

ประการที่หนึ่ง วุฒิสภาทั้ง 250 คน คือปัญหา เพราะถูกแต่งตั้งเข้ามาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อภารกิจ 3 ประการ คือ

หนึ่ง การเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272

สอง การติดตามกำกับการทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270

และสาม การกำหนดให้กฎหมายใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศต้องผ่านการประชุมร่วมกันของรัฐสภา

ภารกิจแรกนั้น สร้างผลในทางการบิดเบือนเจตนาของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารบ้านเมือง โดยกลับมีสมาชิกวุฒิสภา 250 คน มาเป็นองค์ประกอบในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี และเป็นการทับซ้อนในผลประโยชน์อย่างชัดเจนในการส่งผลให้ผู้ที่แต่งตั้งวุฒิสภาชุดนี้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

นอกจากนี้ ในมาตรา 272 ยังระบุให้วุฒิสภาชุดนี้ ทำหน้าที่ดังกล่าวตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่ง คือ 5 ปี ซึ่งหมายความว่า เขาสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ถึงสองครั้งหากรัฐบาลอยู่ครบวาระสี่ปี

และอาจมากกว่าสองครั้งหากอายุของรัฐบาลแต่ละชุดสั้นกว่านั้น

ในภารกิจประการที่สอง การติดตามกำกับการทำงานของรัฐบาลในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ

ในภาวะที่หัวหน้ารัฐบาลเป็นคนคนเดียวกับคนที่แต่งตั้งวุฒิสภาเข้ามานั้นดูเอื่อยเฉื่อยเอื้ออาทรซึ่งกันและกันยิ่ง แม้ว่าไม่มีใครเห็นถึงความคืบหน้าในการดำเนินการ การส่งรายงานการปฏิรูปล่าช้ากว่าหกเดือน

กรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่ลาออกกันแทบหมดจนต้องตั้งคณะใหม่ขึ้นมาหลังจากสามปีแห่งความว่างเปล่าในการปฏิรูปที่ผ่านไป กลับไม่มีแรงผลักดันใดๆ จากวุฒิสภา

ในทางกลับกัน หากรัฐบาลเป็นคนละฝ่ายกับคนที่แต่งตั้งเขาเข้ามา อาจได้เห็นฤทธิ์เดชของภารกิจที่ได้รับมอบหมายนี้

ภารกิจประการที่สามของวุฒิสภา ในการร่วมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ แม้ด้านหนึ่งจะเป็นการทำให้ดูเหมือนว่า เป็นความจริงจังจริงใจที่ปรารถนาให้การปฏิรูปประเทศเกิดความสำเร็จได้โดยเร็วโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าพิจารณาพร้อมกันในที่ประชุมรัฐสภา

แต่ปัญหาการตีความก็สามารถตีความได้ครอบจักรวาลว่า กฎหมายทุกฉบับที่เสนอนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ เพราะขอบเขตของการปฏิรูปประเทศในหมวดที่ 16 ของรัฐธรรมนูญ แทบจะไม่มีช่องว่างให้เรื่องใดหลุดรอดไปได้เลย เพราะผู้ร่างบรรจุขอบเขตทั้งการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ลงไปในหมวดของการปฏิรูปประเทศ

เหมือนเปิดช่องว่า เรื่องใดที่วุฒิสภาอยากมีเอี่ยว ใช้เสียง 250 เสียงของตนเพื่อไปรวมกับ ส.ส.อีกเพียงแค่ 126 คน ก็จะได้เกินครึ่งของรัฐสภา (376 จาก 750 เสียง) สามารถลงมติชนะในที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ โดยไม่ต้องรอคอยมาใช้อำนาจยับยั้งหรือไม่เห็นด้วยหลังจากกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ทั้งจะผ่านก็โดยง่าย ทั้งจะฆ่าตัดตอนคุมกำเนิดได้ก็ทำได้โดยง่ายโดยมีวุฒิสภาเป็นกำลังรบที่สำคัญ

การออกกฎหมายสารพัด จึงมิใช่เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนของปวงชนชาวไทย แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในมือของสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งของ คสช.ชุดนี้ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอดเป็นกฎหมาย

ประการที่สอง การกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และใช้กลไกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ในยุคที่ คสช.เป็นใหญ่ มาทำหน้าที่ลงมติคัดเลือกและยังกำหนดข้อยกเว้นสารพัดให้แก่คนของฝ่ายเดียวกันเอง เช่น ประธาน ป.ป.ช.ที่เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (เลขาฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้หากพ้นตำแหน่งมาไม่ถึงสิบปี [ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202(4)] หรือ กรรมการ ป.ป.ช.บางท่านที่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นมาก่อน [ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202(1)] แต่ก็ให้สามารถดำรงตำแหน่งได้ หรือในกรณีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแม้หมดวาระนานแล้วก็ยังเขียนกฎหมายให้อยู่ต่อ นี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญของการทำหน้าที่ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน

ตราบใดที่ประชาชนรู้สึกว่าองค์กรอิสระ ไม่เป็นอิสระ แต่เป็นคนของฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การทำหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้นยากที่จะได้รับการยอมรับ

ข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่เพียงแค่การยอมลดบทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา ไม่เลือกนายกรัฐมนตรีก็ได้ (เพราะเชื่อว่าเสียงของ ส.ส.นั้นเพียงพอ แตกต่างจากสภาวะปริ่มน้ำเมื่อแรกตั้งรัฐบาลแล้ว) ไม่เอา ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คนก็ได้ (เพราะเชื่อมั่นว่า อีก 244 คนที่เหลือ หรือจะเติมเข้ามาให้อีก 6 คน ก็ยังให้ซ้ายหันขวาหันได้เหมือนเดิม) ไม่ดูเรื่องปฏิรูปประเทศก็ได้ (เพราะเป็นภาระ ดูไปก็ไม่รู้เรื่อง ยากที่จะเข้าใจ) แต่เป็นเรื่องที่ไม่ควรมี ส.ว. และองค์กรอิสระ ที่มีและทำหน้าที่ในแบบปัจจุบัน

สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต คงไม่เพียงพอ

คงต้องสละชีวิต เพื่อรักษาธรรมแห่งการปกครองในระบบประชาธิปไตยแล้ว


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)