วิเคราะห์ : ม็อบ ปชช.ปลดแอกจุดติด ตำรวจรับบท หนังหน้าไฟ คุกคาม หรือทำตามกฎหมาย ?

ในที่สุดการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอก โดยส่วนหนึ่งมีนักศึกษาเป็นแกนนำได้จุดติด

เห็นได้จากผู้เข้าร่วมชุมนุมเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายใต้ธีม “Arts and politics festival” หรือเทศกาลศิลปะกับการเมือง จัดขึ้นอีกครั้งเมื่ออาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม เริ่มตั้งแต่ 15.00 น. มีการปราศรัยสลับกับการแสดงละครและดนตรี นานกว่า 8 ชั่วโมง ก่อนยุติลงในเวลา 23.00 น.

ภาพประชาชนที่ออกมาร่วมแสดงพลัง กระจายตัวเต็มพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ไปจนถึงแยกคอกวัว หากประมาณการด้วยสายตามีเรือนหมื่นคน

การชุมนุมครั้งนี้ถือว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่มีการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

ครั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ 1.รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย 2.รัฐบาลต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง 3.รัฐบาลต้อง “ยุบสภา” เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนฯ ของตนได้อีกครั้ง

โดยตั้งอยู่บน 2 หลักการที่ว่า จะต้องไม่มีการรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ พร้อมขีดเส้นไว้ว่าสิ้นเดือนกันยายนนี้ ถ้ารัฐไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องจะยกระดับการชุมนุม

ย้อนกลับไปครั้งการชุมนุมเมื่อ 18 กรกฎาคม 2563 สิ้นสุดลง ตำรวจเดินเกมตามจับกุมแกนนำ 3 คน อีกทั้งยังจงใจปล่อยเอกสารหลุด 31 รายชื่อผู้เข้าข่ายถูกออกหมายจับ สร้างความคลุมเครือ หวังลดความร้อนแรงกลุ่มผู้ชุมนุมลงบ้าง ก่อนจะออกมาเผยข้อมูลว่า ได้ออกหมายจับแกนนำ 15 คน และยังมีรายชื่ออีก 16 คน ที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายเรียก

สำหรับแกนนำที่ถูกจับกุม 3 ราย มีนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ประธานกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และแกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาลงวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และอื่น ๆ รวม 7-8 ข้อหา

ต่อมาศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 3 คน โดยกำหนดเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการใดๆ ลักษณะยุยงปลุกปั่น หรือกระทำการตามที่ถูกกล่าวหาอีก มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน แต่ทั้ง 3 คนกลับมาปรากฏตัวในการชุมนุมใหญ่ครั้งล่าสุด ในขณะที่ทนายอานนท์ยังได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีด้วย

อีกเวทีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน มธ.รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับแกนนำ 6 คน ในฐานความผิดมาตรา 116 และอีก 4 ข้อหาหลัก

จะเห็นว่าแต่ละเวทีที่มีผู้ชุมนุมออกมาทำกิจกรรม ตำรวจคอยรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำผิด นำไปสู่การออกหมายจับ ไม่ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับนักกิจกรรมเลย แต่ยิ่งกลับทำให้ฮึกเหิม เสมือนเติมเชื้อไฟในกองเพลิง ทำให้มีมวลชนออกมาเพิ่มมากขึ้นนั้น ตัวเลขของผู้ชุมนุมคงเป็นคำตอบได้ดี

15 สิงหาคม 2563 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรมทางการเมืองนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่ได้มีการสั่งการ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ตำรวจ และย้ำอีกว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการและการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

ขณะที่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลไม่ได้ใช้กฎหมายคุกคามประชาชน หากทำกิจกรรมในกรอบกฎหมายก็ไม่มีอะไร เวลาแจ้งการชุมนุม ทางเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะจะแจ้งข้อกำหนดต่างๆ ให้ผู้จัดรับทราบ หากผู้ชุมนุมดำเนินการตามประกาศ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ก็ไม่เป็นการคุกคามอะไร เพราะตำรวจไม่สามารถดำเนินการอะไรที่เกินเลยข้อกฎหมายได้

อีกทั้งยืนยันว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งให้ไปจับกุมใคร ตำรวจมีความจำเป็นดำเนินการตามกฎหมาย ขอให้เข้าใจตำรวจด้วย

ผบช.น.ให้รายละเอียดว่า การนัดชุมนุมในครั้งหน้านั้น ตำรวจไม่ได้ห้ามการชุมนุม เพราะไม่สามารถห้ามหรืออนุญาตได้ ถือว่าเป็นสิทธิแต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งผู้จัดกิจกรรมจะต้องแจ้งกับสถานีตำรวจในพื้นที่ว่าจะมีการชุมนุมทุกครั้ง ซึ่งตำรวจจะอธิบายให้ทราบว่าการชุมนุมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.การควบคุมโรค อีกทั้งต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

จากการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกแต่ละครั้งจนถึงปัจจุบัน หน่วยความมั่นคงประเมินว่า อาจจะไม่ยกระดับการชุมนุมในลักษณะพักค้างแรม เพราะต้องทำในลักษณะม็อบจัดตั้งและต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก แต่มีความเป็นไปได้ที่จะคล้ายกับม็อบฮ่องกง ฝรั่งเศส ซึ่งแนวทางในอนาคตหากมีผู้ออกมาชุมนุมในลักษณะดังกล่าว ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายจับกุมผู้กระทำผิดภายหลัง

นอกจากนี้ยังเห็นว่า การออกหมายจับแกนนำ จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นความสมดุลระหว่างการบังคับใช้กฎหมายกับการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย ตำรวจไม่ได้รีบเร่งออกหมายจับ เมื่อปรากฏหลักฐานว่ามีผู้กระทำความผิดก็ต้องจับกุม ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่เลือกใช้วิธีละมุนละม่อมเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย

เมื่อสถานการณ์มาถึงตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าตำรวจในฐานะผู้ถือกฎหมายเหมือนหนังหน้าไฟ เพราะต้องเผชิญหน้ากับแกนนำ ผู้ชุมนุม การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเป็นธรรม ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ให้สมกับเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ต้นธารแห่งความยุติธรรม