วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ฮ่องกงในสายธารปฏิวัติ

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮ่องกงเมื่อวันวาน (5)
กบฏและการปฏิวัติ

หลังจากที่ฮ่องกงตกไปเป็นของอังกฤษแล้ว ราชวงศ์ชิงก็เริ่มอ่อนแอ จากเหตุนี้ ความไม่พอใจต่อการปกครองของราชวงศ์นี้จึงเกิดขึ้นในหมู่ราษฎรทั่วไป เกิดการกระด้างกระเดื่องในชนบทของจีน หลายแห่งได้ก่อตัวเป็นกบฏขนาดเล็ก

แต่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ กบฏไท่ผิงเทียนกว๋อ หรือ กบฏรัฐสวรรค์สันติ

กบฏนี้ก่อตัวขึ้นใน ค.ศ.1850 หรือแปดปีหลังจากสนธิสัญญาหนันจิง และสามารถสร้างผลสะเทือนไปทั่วภาคใต้ของจีน โดยกำลังพลนับหลายแสนนายของกบฏนี้ได้เข้ายึดเมืองสำคัญเอาไว้ได้ เมืองใดที่ถูกกบฏยึดครอง กบฏจะยึดทรัพย์สินเงินทองของบรรดาเจ้าที่ดินและคหบดีผู้มั่งคั่งมาเป็นของตนด้วย

ทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้ไม่เพียงจะเป็นทุนของขบวนการเท่านั้น หากยังเป็นสมบัติกลางที่ใช้สำหรับการดำรงชีพของสมาชิกขบวนการอีกด้วย

เมื่อยึดทรัพย์สินเงินทองไว้แล้ว กบฏก็ขับไล่บรรดาเจ้าที่ดินและคหบดีเหล่านี้ให้ไปอยู่ที่ฮ่องกง ทั้งนี้ เพื่อมิให้เป็นเสี้ยนหนามของขบวนการ เพราะบุคคลเหล่านี้มีความใกล้ชิดกับขุนนางท้องถิ่นของราชวงศ์ชิง

เจ้าที่ดินและคหบดีที่ถูกขับไล่ไปยังฮ่องกงนี้มีจำนวนหลายพันคน และด้วยเหตุที่เป็นผู้มีฐานะดี บุคคลเหล่านี้จึงมีพื้นฐานการศึกษา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และทักษะทางการค้าที่ดีไปด้วย เหตุดังนั้น เมื่อถูกขับไล่ให้เข้าไปอยู่ในฮ่องกง บุคคลกลุ่มนี้จึงเป็นประชากรที่มีคุณภาพของเกาะแห่งนี้

ด้วยความที่มีคุณสมบัติเช่นนั้น บุคคลกลุ่มนี้จึงเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ จากนั้นก็ค่อยๆ เรียนรู้ภูมิปัญญาตะวันตกจนผสานเข้ากับภูมิปัญญาจีนของตน

 

เวลาที่ผ่านไปปีแล้วปีเล่า ฮ่องกงได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาโดยอาณานิคมและชาวจีนกลุ่มนี้อย่างช้าๆ จนกล่าวได้ว่า หากมิใช่เพราะอดีตเจ้าที่ดินและคหบดีเหล่านี้แล้ว ก็ยากที่ฮ่องกงจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เห็น อันเป็นรูปร่างหน้าตาที่มีความลงตัวและมีเอกลักษณ์เฉพาะ และเป็นความลงตัวของวัฒนธรรมตะวันตกที่ผสานเข้ากับวัฒนธรรมตะวันออก

อย่างไรก็ตาม แม้กบฏไท่ผิงเทียนกว๋อจะสามารถยึดพื้นที่บริเวณตอนใต้ของจีนเอาไว้ได้ก็จริง แต่กบฏก็หยุดอยู่เพียงแค่นั้น มิได้รุกคืบข้ามแม่น้ำหยังจื่อ (แยงซี) ขึ้นไปตีทางเหนือที่เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงปักกิ่งและเป็นศูนย์รวมอำนาจที่แท้จริง

และเมื่อมาประกอบเข้ากับแกนนำบางคนของกบฏได้แปรพักตร์ไปเข้ากับราชสำนักด้วยแล้ว แผนที่อันเป็นที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของฝ่ายกบฏจึงถูกเปิดเผยแก่ราชสำนัก จนเป็นเหตุให้ราชวงศ์ชิงสามารถกรีธาทัพเข้าบดขยี้ทัพกบฏจนแตกพ่ายยับเยินใน ค.ศ.1865

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่กบฏยังคงอิทธิพลอยู่นั้น ใน ค.ศ.1861 อังกฤษก็ได้อาศัยความอ่อนแอของราชวงศ์ชิงด้วยการหาเหตุก่อสงครามกับจีนอีกครั้งหนึ่ง

สงครามครั้งนี้ถูกเรียกกันต่อมาว่า สงครามฝิ่นครั้งที่สอง ถึงแม้มันจะไม่เกี่ยวอะไรกับฝิ่นเลยก็ตาม

 

อังกฤษชนะจีนตามเคย คราวนี้อังกฤษได้ยึดเอาคาบสมุทรเกาลูนที่อยู่ติดกับฮ่องกงเพิ่มขึ้นมาอีก และถัดจากนั้นมาอีก 37 ปีที่จีนยังคงมีความยุ่งยากภายในอย่างต่อเนื่อง ชะตากรรมของฮ่องกงก็จบลงด้วยการที่จีนต้องยกเกาะฮ่องกง เกาลูน และเขตนิวเทอริทอรี่ให้อังกฤษเช่าใน ค.ศ.1898

เป็นการเช่าที่กินเวลายาวนาน 99 ปี โดยสัญญาเช่าจะหมดลงใน ค.ศ.1997

แต่ทว่าระหว่าง 37 ปีดังกล่าวได้เกิดอะไรขึ้นกับจีนบ้าง?

แน่นอนว่า กบฏยังคงเกิดขึ้นแทบทุกหัวระแหงนับพันขบวนการ ในขณะที่ต่างชาติก็เข้ามาแล่เนื้อเถือหนังจีนนอกเหนือจากอังกฤษอยู่เป็นระยะ ส่วนการเมืองภายในราชสำนักก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฉือซีไท่โฮ่ว (ซูสีไท่เฮา, Empress Dowager Cixi, ค.ศ.1835-1908) จนแทบโงหัวไม่ขึ้น

และใน ค.ศ.1898 ที่ฮ่องกงตกอยู่ในการเช่าของอังกฤษ 99 ปีนั้นเอง ก็เป็นปีเดียวกับที่กบฏนักมวยได้ก่อตัวขึ้น กบฏนี้มีปฏิบัติการในเบื้องต้นที่จะโค่นล้มราชวงศ์ชิงและขับไล่อิทธิพลของต่างชาติ

แต่ภายหลังได้ไปสมยอมกับราชวงศ์ชิง กบฏนี้จึงเหลือปฏิบัติการขับไล่อิทธิพลของต่างชาติเพียงสถานเดียว

 

จากเหตุนี้ กองกำลังกบฏจึงเข้าพิฆาตเข่นฆ่าทำลายล้างชาวต่างชาติอย่างโหดเหี้ยม

จนเมื่อชาวต่างชาติตั้งหลักได้แล้วจึงรวมตัวกันตอบโต้ ชาติที่เข้าตอบโต้กบฏมีอยู่แปดชาติด้วยกัน และทุกอย่างก็ไม่เหนือความคาดคิดอีกเช่นเคย นั่นคือ กองกำลังต่างชาติสามารถเอาชนะกบฏได้ใน ค.ศ.1902 เป็นชัยชนะที่เสมือนหนึ่งการล้างแค้นกบฏ ด้วยกองกำลังต่างชาติทั้งแปดได้เข้าเข่นฆ่า ทำลาย และข่มขืนชาวจีนอย่างเหี้ยมโหดทารุณไม่แพ้กัน

ที่สำคัญ ชัยชนะคราวนี้ชาติทั้งแปดจับได้ว่า ราชวงศ์ชิงได้สมรู้ร่วมคิดกับฝ่ายกบฏ และได้เปิดช่องให้กบฏเข้ายึดพระราชวังต้องห้าม

ส่วนฉือซีไท่โฮ่วและพระบรมวงศานุวงศ์ก็แสร้งทำเป็นพ่ายแพ้ แล้วหนีออกจากปักกิ่งไปโดยทำทีเหมือนถูกกบฏขับไล่

เหตุดังนั้น เมื่อกบฏนักมวยถูกปราบลงแล้ว ชาติทั้งแปดก็สามัคคีกันเรียกเอาประโยชน์จากจีนอย่างมหาศาล

ราชวงศ์ชิงไม่มีทางเลี่ยงและจำต้องยกประโยชน์เหล่านั้นให้ตามที่ชาติทั้งแปดเรียกเอา

การทั้งนี้ทำให้ฉือซีไท่โฮ่วได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์ตะวันตกว่า ทรงมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและเข้าใจการเมืองอย่างดียิ่ง

 

แม้กบฏนักมวยจะพ่ายแพ้อย่างเจ็บปวด ราษฎรจีนถูกชาวต่างชาติกดขี่ข่มเหงจนไร้ซึ่งศักดิ์ศรี แต่สำนึกในอันที่จะโค่นล้มราชวงศ์ชิงก็มิได้จางหายไป และแล้วสำนึกนี้ก็ไปตกอยู่กับบุคคลหนึ่งผู้มีนามว่า ซุนยัตเซน

ซุนยัตเซน (ค.ศ.1866-1925) เป็นชื่อในสำเนียงจีนกวางตุ้ง จีนกลางจะออกเสียงว่า ซุนอี้เซียน แต่ชาวจีนจะเรียกเขาในอีกชื่อหนึ่งว่า ซุนจงซัน

ซุนยัตเซนเป็นคนกวางตุ้งโดยกำเนิด เขาเกิดในครอบครัวชาวนาที่มีที่ดินเป็นของตนส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งต้องเช่าที่คนอื่นมาทำ แต่ซุนมีพี่ชายคนหนึ่งทำงานอยู่ที่ฮาวาย และพี่คนนี้เองที่ได้ส่งเสียให้เขาได้เรียนหนังสือที่ฮาวายใน ค.ศ.1879

ซุนยัตเซนเป็นเด็กเรียนดีมาตั้งแต่ปฐมวัย ตอนเรียนที่ฮาวายก็มีผลการเรียนที่ดี แต่ด้วยเกรงว่าซุนจะมีนิสัยและค่านิยมตะวันตกมากขึ้น พี่ชายของเขาจึงส่งเขากลับมายังจีน ครั้นมาถึงจีนไม่นาน บิดาจึงส่งเขาให้ไปเรียนต่อที่ฮ่องกงใน ค.ศ.1883

และนั่นเป็นครั้งแรกที่ฮ่องกงได้มีโอกาสต้อนรับนักปฏิวัติในอนาคตผู้นี้

 

ซุนยัตเซนใช้เวลาเรียนที่ฮ่องกงอยู่หลายปี และกลับไปเรียนวิชาแพทย์ที่กว่างโจวในระยะเวลาสั้นๆ จน ค.ศ.1887 เขาก็เข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์ในฮ่องกงจนสำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ.1892 ตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์ซุนยัตเซนได้เรียนรู้การเมืองไปด้วย เขาซึมซับกับปัญหาของจีนจนเกิดปณิธานที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศจีน

สำนึกปฏิวัติของซุนยัตเซนได้ถูกจุดประกายนับแต่นั้น

เพราะหลังจากนั้นอีกหลายสิบปีต่อมา เมื่อสำนึกกบฏของซุนยัตเซนสุกงอมจนยอมผันตัวเองจากนายแพทย์มาเป็นนักปฏิวัตินั้น ซุนยัตเซนได้ใช้ฮ่องกงเป็นหนึ่งในฐานที่สำคัญในการปฏิวัติของเขา

การที่ฮ่องกงเป็นฐานให้กับการปฏิวัติของซุนยัตเซนนี้เป็นไปในสองทาง ทางหนึ่ง เป็นฐานทางกำลังรบ ในฐานนี้ฮ่องกงถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการในการลุกฮือของนักปฏิวัติหกครั้ง จากที่มีการลุกฮือทั้งสิ้นสิบครั้งระหว่าง ค.ศ.1895 จนถึง ค.ศ.1911

อีกทางหนึ่ง ฮ่องกงเป็นฐานทางการเงินให้กับการปฏิวัติ โดยจากเวลาหลายสิบปีนับแต่ที่ฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษนั้น บรรดาชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในฮ่องกงต่างสร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายเป็นเศรษฐีขึ้นมา และเศรษฐีฮ่องกงเหล่านี้จำนวนหนึ่งเป็นผู้สนับสนุนการปฏิวัติของซุนยัตเซน และได้บริจาคเงินให้กับขบวนการปฏิวัติของเขาจำนวนไม่น้อย

ซุนยัตเซนอุทิศตนให้กับการปฏิวัติยาวนาน 20 ปี ระหว่างนั้นเขาต้องล้มลุกคลุกคลานโดยตลอด ด้วยเขาต้องหนีการไล่ล่าของราชวงศ์ชิงในข้อหากบฏ ระหว่างนั้นก็ก่อการลุกฮือขึ้นมาหลายครั้ง แต่ก็ล้มเหลว แต่เขาก็ไม่เคยท้อถอย

จน ค.ศ.1911 ขบวนการปฏิวัติของซุนยัตเซนก็สามารถโค่นล้มราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ

การดูแคลนชนต่างชาติว่าเป็นพวกป่าเถื่อนยังคงอยู่ในสำนึกต่อไป โดยเฉพาะราชสำนักชิง

ส่วนฮ่องกงนับแต่ที่ตกอยู่ในการปกครองของอังกฤษใน ค.ศ.1842 แล้ว ปีที่ว่านี้จึงเป็นเสมือนหลักหมายการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของฮ่องกง โดยที่หลังสงครามผ่านไปแล้วได้มีผู้คนเข้ามาอาศัยมากขึ้น ซึ่งรวมแล้วมีอยู่ประมาณ 19,000 คน

ในจำนวนดังกล่าวได้รวมชาวยุโรป 600 คนเข้าไปด้วย ในขณะที่ชาวจีนที่เป็นคนพื้นถิ่นเดิมส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ในเรือที่ลอยอยู่กลางน้ำ แต่ที่จะละเลยไปจากการถูกรวมด้วยไม่ได้ก็คือ หญิงโสเภณี 439 คน และผู้ค้าฝิ่นอีก 131 คน

คนสองกลุ่มหลังนี้ต่อไปจะกลายเป็นสัญลักษณ์ในด้านมืดของฮ่องกงไปอีกยาวนาน