จัตวา กลิ่นสุนทร : บางเรื่องที่ (เคย) ได้เห็น ยังพอจำได้ (บ้าง)

เสี้ยนอันน้อยนิดที่ตำนิ้วมือ นิ้วเท้าอาจไม่รู้สึกเจ็บในระยะแรกๆ แต่มันจะค่อยๆ เป็นหนองถ้าหากเราไม่เอาออก ไม่ทำการรักษาให้ถูกต้องตามวิธี

อาจเกิดการลุกลามอักเสบจนถึงบวม สุดท้ายกลายเป็นแผล จากแผลเล็กๆ เหล่านี้อาจติดเชื้อร้ายบานปลายขยายใหญ่ขึ้นจนทำให้ถึงกับเสียชีวิตมามากแล้ว

บ้านเมืองของเราวนเวียนกลับมายังจุดที่ต้องออกมาเรียกร้อง “ประชาธิปไตย-แก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยเริ่มต้นจากกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งไม่เคยได้ออกมารวมตัวชุมนุมนานกว่า 10 ปีแล้ว

เหตุการณ์ทำท่าว่ามีแนวโน้มจะขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่งเข้าจับกุมแกนนำ 2 คน คือ นายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ (เยาวชน) ระยอง จากการชุมนุมบริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2563

แต่ศาลไม่ได้สั่งคุมขัง หากแต่ให้ประกันตัวออกไป ซึ่งแกนนำทั้ง 2 คนไม่ได้ย่อหย่อน ยังเดินสายเข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้รัฐบาลยุบสภา ลาออก และไม่ให้ทำการคุมคามประชาชน

ซึ่งถึงวันนี้ต้องกล่าวว่าเหตุการณ์กำลังค่อยๆ ลุกลามขึ้นเรื่อยถ้าหากรัฐบาลไม่หาทางหยุดยั้งด้วยการรับฟัง ก่อนที่จะนำไปสู่ความรุนแรง

 

นายภาณุพงศ์ จาดนอก นั้นจำได้ว่าเป็นคนที่ไปถือป้ายถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างเดินทางไประยอง เมื่อวันที่ทหารอียิปต์เข้าไปพักโรงแรมในจังหวัดนั้น และออกไปเดินเพ่นพ่านในศูนย์การค้าจนเกิดความโกลาหลวุ่นวาย

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เห็น เพราะตำรวจอุ้มตัวออกไปก่อน เขาจึงเข้ามาขึ้นเวทีการชุมนุมในวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ถ้าหากไม่ปล่อยให้ทหารอียิปต์เดินทางเข้ามาแบบเหมือนมีสิทธิพิเศษ ก็คงไม่มีเรื่องต่างๆ ตามมา เรื่องการเข้ามาของทหารอเมริกัน ทหารญี่ปุ่นจำนวนเป็นร้อยๆ และมาพักโรงแรมกลางกรุงเทพฯ เช่นกัน ไม่รู้มันมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ทำไมจำเป็นจะต้องเข้ามาในระยะเวลาเช่นนี้ด้วย ในขณะที่คนไทยเองต้องเคร่งครัดกันเป็นอย่างมาก

ความรู้สึกแตกต่าง การมีอภิสิทธิ์ แบ่งชนชั้นผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ ซึ่งมันโยงมาถึงเรื่องรัฐธรรมนูญได้ไม่ยาก

อย่างน้อยที่สุดกับคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่? กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะท่านไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เหาะเหินมาเส้นทางพิเศษ โดยสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของท่านเป็นผู้ขานชื่อเลือกต่างหาก

เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์เริ่มสั่นคลอน เพราะการบริหารงานไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย นับรวมกัน 6 ปีที่ท่านอยู่ในตำแหน่ง ทั้งๆ ขณะที่มีอำนาจเด็ดขาดโดยใช้มาตรา 44 จนถึงปี พ.ศ.2562 เศรษฐกิจมีแต่หัวทิ่มลง กระทั่งต้องเปลี่ยนตัวรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

อภินิหารทางกฎหมายผลักดันให้ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ว่ากันว่าเป็น– “รัฐธรรมนูญที่ต่อต้านประชาธิปไตยมากที่สุด” พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเข้าเป็นอันดับ 1 กลับไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล

 

ก่อนเกิดการระบาดของไวรัส (Virus) โคโรนา (Covid-19) ในเดือนสุดท้ายของปี พ.ศ.2562 เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำกระทั่งเกิดการรวมตัวของนักเรียน นิสิต นักศึกษาออกมาชุมนุมเริ่มแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ว่ากันว่านอกจากเรื่องสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญแล้ว เรื่องเศรษฐกิจซึ่งนำไปสู่อนาคตทางการศึกษา อนาคตของพวกเขาที่กำลังจะจบการศึกษา แต่ไม่สามารถหางานทำได้ จึงไม่ทนกันอีกต่อไป

การระบาดของเชื้อโรคร้ายทำให้การชุมนุมเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษาต้องเว้นวรรคไปอย่างน้อยก็ร่วมครึ่งปี ซึ่งในที่สุดเมื่อถึงเวลานี้คิดว่าการชุมนุมคงจะดำเนินต่อไป จนกว่ารัฐบาลจะต้องสนองตอบด้วยความจริงใจ มิใช่หลีกหลบซื้อเวลาอย่างมีเล่ห์กล หรือใช้ความรุนแรง

เวลาเดียวกันนักการเมืองซีกสนับสนุนรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาทั้งหลายควรจะสงบปากสงบคำลงบ้าง ไม่ต้องออกมาแสดงความคิดเห็นแบบเก่งกาจฉลาดเฉลียวซึ่งเหมือนกับเป็นการยั่วยุ เติมเชื้อไฟ และประจานความคิดตัวเอง

เช่น นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ต้องมาคุยกัน อย่ามาขู่กัน เพราะไม่มีใครกลัวใคร ควรเปิดเวทีให้นักศึกษาแสดงออกแต่อย่าเลยเถิด ไร้เดียงสา ที่บอกว่ากระแสนักศึกษาจุดติดลามไปทั่วประเทศ เป็นการติดวูบวาบ เชื่อว่าสิ่งที่ทำจะไม่สำเร็จ เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เกรงจะมีแรงต้านออกมาทำให้สถานการณ์แรงขึ้น คุมกันลำบาก จึงไม่อยากให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อึดอัดขัดข้องใจคิดว่าประชาชนก็คงอยู่ในสภาพเดียวกัน เพราะการชุมนุมเกิดขึ้นถึง 3 ครั้งในรอบ 7 วัน ซึ่งนอกจากจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วยังรุนแรงถึงขั้นขับไล่รัฐบาล ขอเสนอมาตรการทางการเมืองด้วยการให้รัฐบาลรีบเปิดอภิปรายทั่วไปของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165

แต่สมชาย แสวงการ บอกว่า “ให้จัดการกับหัวโจกการชุมนุม ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตำรวจ สอบเส้นทางการเงินที่สนับสนุนการชุมนุม ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จัดการสื่อทางโซเชียลกับผู้เผยแพร่โฆษณา และให้ถอนประกันนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก เพราะพูดจาจาบจ้วงชัดเจน ให้อธิการบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม—”

เชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นของเขาเหล่านี้ทำให้พอมองเห็นจุดยืนได้ ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องเก่าๆ เดิมๆ เช่น การชุมนุมต้องได้รับการสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เกรงว่าจะเกิดการออกมาต่อต้านจากผู้คิดเห็นตรงกันข้าม หรือมีการจัดตั้งกลุ่มออกมาชนกัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในบ้านเมืองของเรา และความคิดเหล่านั้นยังคงมีอยู่

 

1ปีเศษผ่านไป พรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมารองรับการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำอดทนรอไม่ไหวกับตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องมีการต่อรองกดดันจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทีมเศรษฐกิจเดิมถูกเปลี่ยนไปทั้งชุด ต้องปรับ “คณะรัฐมนตรี” ใหม่ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาของพรรคการเมืองซีกรัฐบาลมากกว่าเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

อยากแสดงความคิดเห็นเพียงเล็กๆ ว่าการแก้ปัญหาในหมู่คณะ และในประเทศชาติขึ้นอยู่กับความจริงใจไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งจะมีโอกาสแก้ไขได้โดยไม่ยากนัก ด้วยความร่วมมือด้วยบริสุทธิ์ใจจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ซึ่งย่อมรู้ดีว่าจะสามารถกดปุ่มปลดล็อกตรงไหนได้ด้วยความรวดเร็วทันท่วงที

บางเรื่องซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่นำไปสู่เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จนเกิดความรุนแรงวุ่นวายในบ้านเมืองถึงขั้นสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ

 

–ปีพ.ศ.2516 เริ่มต้นจากนักศึกษากลุ่มหนึ่งออกเดินแจกใบปลิวรณรงค์เรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ แต่ถูกจับกุมไปคุมขัง ตั้งข้อหาเป็น “คอมมิวนิสต์” จนเรียกขานกันว่า “13 กบฏรัฐธรรมนูญ”

กรณีทหาร ตำรวจนำเอาเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการพาดาราไปพักผ่อน ล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นป่าสงวนฯ ขากลับเกิดอุบัติเหตุเครื่องตกที่บางเลน จังหวัดนครปฐม ซากสัตว์ ขากระทิงกระจายเต็ม และมีผู้เสียชีวิตหลายคนเป็นการประจาน แต่รัฐบาลได้พยายามแก้ตัวปกปิด สร้างความไม่พอใจแก่นิสิต-นักศึกษาอย่างมาก

เวลาไม่ห่างกันนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้ออกหนังสือชื่อ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” และได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่หนังสือชื่อ “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ” จึงถูกอธิการบดีลบชื่อออกจากนักศึกษา เกิดการประท้วง นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ ที่สุดอธิการบดีต้องลาออก

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นการเริ่มต้นนำไปสู่การนองเลือดในเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ถัดมาอีก 3 ปี เกิดการเข่นฆ่ากันอย่างโหดร้ายทารุณ กลางท้องสนามหลวง ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

เป็นเรื่องที่ยังพอจำได้ เอามาบอกเล่าสู่กันฟังเพราะบางทีอาจหลงลืมกันไปบ้าง เพราะรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เสถียรภาพมั่นคงอย่างยิ่ง คุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไว้ทั้งหมด

สุดท้ายเป็นไปดัง “ประวัติศาสตร์” ได้บันทึกไว้