เทศมองไทย : เมื่อเศรษฐกิจถดถอย ลึกที่สุดในรอบ 22 ปี

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงออกมาเมื่อ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ถูกหยิบยกไปเป็นข่าวพาดหัวทั่วโลก ขยายความประกอบเอาไว้ด้วยว่า เป็นสถานการณ์ถดถอยทางเศรษฐกิจที่ลงลึกที่สุดในรอบ 22 ปี กล่าวคือ นับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินที่แพร่ไปทั่วเอเชียและโลกในปี 1998 เรื่อยมา

ถ้อยแถลงของสภาพัฒน์ระบุเอาไว้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของในช่วงระหว่างเดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้หดตัวลงรุนแรงถึง 12.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ส่งผลให้จีดีพีตลอดทั้งปีของประเทศไทย ได้รับการคาดหมายว่าจะหดตัวลงตามไปด้วย การขยายตัวติดลบระหว่าง 7.3 เปอร์เซ็นต์ ถึง 7.8 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งเป็นประมาณการที่สภาพัฒน์ปรับใหม่ให้ลดลงจากเดิมที่เคยคาดว่าจะติดลบระหว่าง 5-6 เปอร์เซ็นต์ก่อนหน้านี้

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ตัวเลขที่สภาพัฒน์ประเมินไว้ดังกล่าวนั้น อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า การแพร่ระบาดในประเทศของไทยสามารถควบคุมได้แล้วอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน และไม่มีการเกิดการระบาดรอบที่สอง หรือแม้จะเกิดการระบาดรอบสองก็ต้องอยู่ในวงจำกัดอย่างยิ่ง

ซึ่งหมายความว่า ถ้าหากเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นอีกรอบ ก็ต้องปรับประมาณการกันใหม่อีกครั้ง

 

สํานักข่าวบลูมเบิร์กตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวเลขเหล่านี้ไว้หลายประการ

แรกสุดก็คือ ตัวเลขเหล่านี้ตอกย้ำความจริงที่ว่า เศรษฐกิจของไทยในปีนี้จัดอยู่ในลำดับ “เลวร้ายที่สุด” ในเอเชีย สืบเนื่องจากการที่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศพึ่งพา “การส่งออก” และ “การท่องเที่ยว” สูงมาก

และทั้งสองภาคเศรษฐกิจตอนนี้ตกอยู่ในสภาพ “ยักแย่ยักยัน” อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระจายวงกว้างออกไปครอบคลุมทั่วทั้งโลก

แถมพกด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ค่าเงินบาทก็ไม่ได้อ่อนลงเลย แม้ในยามวิกฤตอย่างเช่นขณะนี้ รายงานของบลูมเบิร์กระบุว่า ค่าเงินบาทในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ถีบตัวขึ้นสูงถึง 6 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค

ยิ่งซ้ำเติมการส่งออกให้หนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้น

ทั้งรอยเตอร์สและบลูมเบิร์กชี้ให้เห็นด้วยว่า ตัวเลขของสภาพัฒน์แม้จะเลวร้าย แต่ก็แย่น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ ในการสำรวจของรอยเตอร์ส นักเศรษฐศาสตร์ประจำสำนักวิจัยต่างๆ เคยประเมินว่า จีดีพีไตรมาสสองของไทยอาจทรุดหนักถึงติดลบกว่า 13 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกันปีต่อปี จีดีพีเฉลี่ยทั้งปีของสภาพัฒน์เองก็ดีกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยประเมินไว้ว่าจะอยู่ที่ลบ 8.1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกระทรวงการคลังเคยคาดว่าจะติดลบถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป

รัฐบาลไทยค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดลงในเดือนพฤษภาคม และตอนนี้ธุรกิจแทบทุกอย่างสามารถเปิดทำการได้แล้ว

ฮาววี ลี นักวิเคราะห์ของโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ป (โอซีบีซี) ในสิงคโปร์ บอกกับบลูมเบิร์กว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยผ่านจุดเลวร้ายที่สุดมาแล้ว แต่ยังไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะเปิดแชมเปญฉลองกันในตอนนี้

“จากจุดนี้ เราเชื่อว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยที่ยังมีความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยหลายอย่างมากรอเผชิญอยู่” ฮาววี ลี บอก

 

ทามารา แมสต์ เฮนเดอร์สัน นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคอาเซียนของบลูมเบิร์ก ให้ความเห็นเอาไว้อย่างนี้ครับ

“สถานการณ์ขยายตัวเป็นลบของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ไม่เลวร้ายเท่ากับที่เคยกลัวกัน การทรุดตัวยังลงไม่ลึกเท่ากับการทรุดตัวทางเศรษฐกิจของ 5 ชาติอาเซียนสำคัญด้วยกันเผชิญ

“แต่ถึงอย่างนั้น การฟื้นตัวก็ดูเหมือนจะต้องใช้เวลาอีกยาวนาน โดยที่ครึ่งหลังของปีนี้การฟื้นตัวอาจทำได้เพียงแค่ช่วยให้ภาวะติดลบลดน้อยลงเท่านั้น

“การท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของไทย ไม่น่าจะฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติได้ก่อนหน้าปี 2022”

ในขณะที่ฮาววี ลี เตือนว่า การชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลของเยาวชนหนุ่ม-สาวในไทยก็เป็นปัจจัยความไม่แน่นอนอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพที่การท่องเที่ยวจะพังพาบลงเป็นระยะเวลานาน การประท้วงในไทยที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ก็จะยิ่งกระทบความรู้สึกของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากแนวโน้มการบริโภคในประเทศที่เปราะบางอย่างมากในเวลานี้”