คำ ผกา | มันใหม่เหลือเกิน สำหรับชนชั้นนำ

คำ ผกา

จําได้ว่าตอนที่ม็อบเสื้อแดง ม็อบ นปช.พีกๆ มีคนเรือนหมื่นเรือนแสนเข้ามาร่วมชุมนุม

หลายหมู่บ้านในภาคเหนือ ภาคอีสานเกือบทุกจังหวัดติดป้ายหมู่บ้านเสื้อแดง และในห้วงเวลานั้น “เสื้อแดง” เป็นอัตลักษณ์ที่แข็งแกร่งมาก

แข็งแกร่งทั้งในแง่ของการเป็นอัตลักษณ์ร่วมของกลุ่มคนจำนวนมหาศาลที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

ขณะเดียวกันก็แข็งแกร่งในแง่ของการถูกแปะป้ายว่าเป็นหุ่นเชิดของพรรคไทยรักไทย ถูกแปะป้ายว่า “ควายแดง” บ้านนอก โง่งม จนแล้วยังมาต่อสู้เพื่อคนโคตรรวยชื่อทักษิณ

และแน่นอนข้อหา “จาบจ้วง” ก็ไม่ใช่ข้อหาที่หลีกเลี่ยงได้ของการสมาทานเป็น “เสื้อแดง”

อย่างที่ได้เคยเขียนและพูดอยู่เสมอมาว่า ขบวนเสื้อแดงที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นความก้าวหน้าทางการเมืองที่ไม่ได้มาควบคู่กับความก้าวหน้าในมิติของ “วัฒนธรรม” ที่เป็นคุณค่าของชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักคิด นักเขียน

เราไม่มีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เพศสภาพ ศาสนา

หลายครั้งการปราศรัยบนเวทีเสื้อแดงถูกโจมตีเรื่องเพศ เหยียดเชื้อชาติ และมีความ fundamentalist ในเรื่องศาสนาค่อนข้างสูง

ฉันมานั่งคิดถึงเรื่องนี้ในวันนี้ เพราะจำได้ว่าในช่วงที่ม็อบเสื้อแดงขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นกระแสไปจนมีคำว่า “แดงทั้งแผ่นดิน” เรามีมวลชนที่พร้อมทุ่มเทให้กับการต่อสู้อย่างไม่เงื่อนไข ไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย

แต่เราเจอโจทย์ที่ยากมาก และโจทย์นั้นอยู่ในบทสนทนาเสมอ นั่นคือ

“ถ้านักศึกษาและปัญญาชนคนชั้นกลางไม่เอากับเราด้วย ต่อให้เรามีคนมากแค่ไหน เราก็ไม่ชนะ (ชนะในที่นี้หมายถึงการปักธงประชาธิปไตย)”

แล้วก็ตามมาด้วยคำถามว่า “ทำอย่างไรจะให้นักศึกษามาอยู่ข้างเรา”

ถามไปแล้วก็มืดแปดด้าน เพราะในยุคนั้นชัดเจนมากว่า นักศึกษา (เมื่อปี 2549 เรื่อยมาถึง 2557) ยังมองว่า เสื้อแดงคือทักษิณ คือเผาบ้านเผาเมือง คือทักษิณหลอกใช้ชาวบ้านนอกคอกนา

ส่วนสื่อและปัญญาชนที่ออกมาสนับสนุนการต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็คือ “ถูกทักษิณซื้อ” จนคำว่า ถูกทักษิณซื้อ กลายเป็นมีมยอดนิยมในเวลาต่อมา

เช่น เมื่อมีสื่อต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการไทย ก็จะถูกแซวว่า เอ๊ะ หรือทักษิณซื้อไปแล้ว บรรดาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาด่ารัฐบาลประยุทธ์ ก็รีบชิงแซวตัวเองไว้ก่อนว่า “ด่าให้แล้วนะ เมื่อไหร่พ่อแม้วจะโอนตังค์เข้าบัญชี” เป็นต้น

ถามว่า ณ วันที่ม็อบเสื้อแดงนั้นเป็น “แดงทั้งแผ่นดิน” คนนับล้านๆ นับสิบล้านเป็นเสื้อแดง (ดูจากเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทยจนยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกฯ ก็ได้) มีคนเป็นเสื้อแดงมากขนาดนั้น แต่ทำไมยังแพ้

เมื่อย้อนกลับไปมองขบวนการเสื้อแดงในวันนั้น ฉันเริ่มเข้าใจแล้วว่า ลำพัง “จำนวน” คนของขบวนการต่อสู้ทางการเมืองและต่อต้านอำนาจรัฐ ไม่เพียงพอที่จะทำให้ขบวนการนั้นชนะ

สิ่งที่จะทำให้การต่อต้านหรือล้มอำนาจรัฐ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนหัวจิตหัวใจของสังคมโดยรวมให้เห็นชอบในอุดมการณ์ที่เรากำลังต่อสู้ด้วย

การสังหารนักศึกษาปี 2519 และการสังหารประชาชนในปี 2553 มีสิ่งที่เหมือนกันคือ คนออกใบอนุญาตฆ่าให้แก่รัฐคือ คนไทยด้วยกันเอง

ดังนั้น ความพ่ายแพ้ในการต่อสู้นั้นไม่ได้แพ้ที่กลางสนามรบ แต่แพ้ที่สนามทางความคิดและอุดมการณ์แล้วจึงกรุยทางมาสู่ความตายและความพ่ายแพ้บนท้องถนน

ตามมาด้วยความพ่ายแพ้ในพื้นที่ของความทรงจำเมื่อประวัติศาสตร์เหล่านั้นถูกลบและบังคับให้ลืม

ยังจำได้อีกว่าในขบวนการคนเสื้อแดงในยุคนั้นเราได้จำนนว่าเราแพ้ในสนามรบทางวัฒนธรรม เราไม่ได้ทำการต่อสู้ทางความคิด

ก็แหงล่ะ ย้อนเวลากลับไป เราก็มองขบวนการของสนธิ ลิ้มฯ ว่าเป็นขบวนใสๆ ใส่ใจในการเมือง คือภาคประชาสังคมที่ห่วงใยประเทศชาติและสังคม โอ๊ยย ออกมาตรวจสอบอำนาจรัฐบาล และเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากแบบหมดจด เรายิ่งต้องตรวจสอบ บลา บลา บลา ดีจะตาย

เราไม่เคยคิดสักนิดว่า เราจะต้องมาทำงานทางความคิดเรื่องประชาธิปไตยกับสังคมไทย เพราะตอนนั้นประเทศอยู่แถวหน้าสุดของอาเซียนในเรื่องประชาธิปไตย และเสรีภาพสื่อ (ไม่ได้แปลว่าฉันไม่รู้เรื่องตากใบ กรือเซะ ฆ่าตัดตอนยาเสพติด และคดีอุ้มหายของทหนายสมชาย) ยิ่งความก้าวหน้าในมิตทางสังคม วัฒนธรรม เรื่องเพศ ซึ่งฉันได้เขียนไว้หลายครั้งว่า ยุคกระโน้น เป็นยุคเฟื่องฟูของงานปัญญาชนสาธารณะแบบก้าวหน้าจนเราจะอวกออกมาเป็นคำว่าโพสต์โมเดิร์น

ดังนั้น เราจึงไม่คิดเลยว่า เราต้องต่อสู้ในสนามทางความคิดหรืออุดมการณ์เรื่องประชาธิปไตย 101

จนเมื่อเสื้อแดงแพ้แบบหมดรูป และถูกปราบจนสิ้นแรงตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา พวกเราจึงได้ตระหนักว่า สนามรบทางวัฒนธรรมอันนี้คือการรบกับแนวความคิดของสลิ่ม

และ “สลิ่ม” นี่แหละคือต้นธารของการออกใบอนุญาตฆ่าคนให้กับรัฐ

สลิ่มคิดอะไร?

สลิ่มคือที่คนที่คิดว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือการชิงสุกก่อนห่าม

สลิ่มคือคนที่เชื่อว่าเราเป็นหนี้บุญคุณแผ่นดินและมีบรรพบุรุษที่สละเลือดเนื้อปกป้องแผ่นดินมาให้เรา

สลิ่มคือคนที่คิดว่าพุทธทาสคือพระหัวก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตย

สลิ่มคือคนที่คิดว่า 14 ตุลาฯ กับ 6 ตุลาฯ คือการต่อสู้ที่ความต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน

สลิ่มคือคนที่เห็นว่าประชาธิปัตย์คือพรรคการเมืองคุณภาพ

สลิ่มคือคนที่ตอนชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกรัฐประหารก็ยินดีปรีดา แต่แล้วเมื่อประโยค “สุไม่เอาก็ให้เต้” ก็ค่อยโกรธแล้วออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จากนั้นจุดพีกของสลิ่มคือ สู้จนมีพฤษภาทมิฬ บาดเจ็บล้มตายไปมากแต่กลับดีใจที่ได้อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ แล้วบอกว่านี่คือนายกฯ ที่ดีจุงเบย

สลิ่มคือคนที่ชอบอ่านความสุขของกะทิ

สลิ่มคือคนที่เอะอะชอบพูดว่าพอเพียง

สลิ่มคือคนที่ชอบดูรายการคนค้นฅน

สลิ่มชอบอ้างสันติวิธี

สลิ่มชอบพูดว่าทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีก่อนแล้วค่อยเรียกร้องสิทธิ เช่น ล้างจานให้แม่ก่อนแล้วค่อยเรียกร้องประชาธิปไตย

สุดท้าย สลิ่มชอบคิดว่าตัวเองนี่แหละผู้ต่อสู้ เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย

สลิ่มคือคนที่มีจิตสำนึกเป็นทาสแต่ดันคิดว่าตัวเองเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยและหัวก้าวหน้า

สิ่งที่ทำให้สลิ่มคิดว่าตัวเองเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยตัวจริงเสียงจริงคือความรังเกียจนักการเมือง

สลิ่มเห็นว่านักการเมืองคือต้นธารของความชั่วร้าย

หนักกว่าสลิ่มที่เข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยคือ สลิ่มที่คิดว่าตัวเองเป็น “ฝ่ายซ้าย” ต่อสู้มาเยอะะะะะะะะะ อะไรทำนองนั้น

ฉันคิดว่านับตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา โลกทัศน์ทางการเมืองไทยถูกครอบงำด้วยแนวคิดและอุดมการณ์ “สลิ่ม”

นั่นคือ ไม่เข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือหมุดหมายของการประกาศอิสรภาพของราษฎรและคือกำเนิดของสองสิ่งที่เรียกว่า “ประชาชาติ” และ “ประชารัฐ”

จากนั้นความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ในประเทศไทยก็ถูกบิดผันเรื่อยมา คนที่ออกมาเป็นกบฎต่อรัฐบาลคณะราษฎร กลายเป็นปูชนียบุคคล และเป็น “คนดี”

การรับรู้ประวัติศาสตร์ว่าใครและเหตุการณ์ใด respectable ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ล้วนแต่เป็นกลุ่มคนและบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ทว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างแนบเนียน ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เรามีพจนานุกรม สอ เสถบุตร เป็นเสาหลักทางภาษา มีคึกฤทธิ์ ปราโมช มีกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มี ว. วินิจฉัยกุล มีกฤษณา อโศกสิน วินทร์ เลียววาริณ มีมาลัย ชูพินิจ เป็นต้น เป็นเสาหลักทางวรรณกรรม

มองมาทางสายจิตรกรรม ศิลปกรรม ก็ล้วนเป็นฝ่ายนิยมขวาไทยประเพณีทั้งในมิติการเมืองและศาสนา อย่างไม่ไว้หน้าคนก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่เป็นสายคณะราษฎรทั้งสิ้น

ภาวะสลิ่มในสังคมไทยจึงยอกย้อนยิ่งนัก

เพราะสลิ่มเชื่อว่าคนที่ปกปักษ์ต่อประชาธิปไตยคือคนที่สร้างและมอบประชาธิปไตยให้กับสังคมไทย

สลิ่มเชื่อว่า กลุ่มคณะราษฎรที่ประกาศเอกราช อิสรภาพให้กับราษฎรไทย คือ กลุ่มคนที่ทำลายชาติ ทำทุกอย่างพัง รวมทั้งทำประชาธิปไตยพังด้วย

ซับซ้อนกว่านั้น สลิ่มยังเสือกคิดว่าตัวเองหัวก้าวหน้าด้วยการขอชื่นชมคณะราษฎรแค่ปรีดี พนมยงค์ ส่วนพิบูลฯ นั้นคือฟาสซิสต์

และที่น่าสนใจมากๆ คือ จะเป็นสลิ่มเบอร์นี้ได้มันต้องมีการศึกษาประมาณหนึ่ง!!

เมื่อมีการศึกษาจึงกลายเป็นผู้นำทางปัญญาของสังคม

โศกนาฏกรรมของประเทศไทยจึงเกิดจากการที่ปัญญาชนสาธารณะ นักคิด นักเขียน ศิลปิน นักวิชาการ เรื่อยไปจนถึงนักบวช นักการสื่อสารมวลชน ของเราเกือบทั้งหมดเป็นสลิ่ม

และนี่แหละคือต้นธารแห่งความพ่ายแพ้ของอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มองไม่ค่อยเห็นด้วยตาเปล่า

จะเป็นความบังเอิญหรืออะไรก็ไม่รู้ได้ที่มีความประจวบเหมาะของหลายปัจจัยเข้ามาประกอบกัน

การขึ้นมามีอำนาจของทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยที่มีนโยบายไปเสริมพลังทางเศรษฐกิจให้แก่คนรากหญ้าจนก่อให้เกิดผลพวงที่คาดไม่ถึงคือมันได้เสริมพลังหรือ empower ด้านการเมืองด้วย

ทำให้คนไทยจำนวนมหาศาลรู้ซึ้งว่า พรรคการเมืองที่ตอบโจทย์ของประชาชนเกิดได้ด้วยน้ำมือประชาชน และประชาชนนี่แหละกำหนดชะตากรรมของตนเอง

เหล่านี้คือคนเสื้อแดงชนิดแดงทั้งแผ่นดินและถูกปราบไปตอน 2553 ปราบอีกรอบ รัฐประหาร 2557 ทำให้คนเสื้อแดงเข้าสู่การจำศีล

การเปลี่ยนผ่านเจเนอเรชั่นของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ทำให้ประวัติศาสตร์ 2475 ถูกชำระใหม่ และมีการอธิบายตำแหน่งแห่งที่ของประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ใหม่ทั้งหมดจากนักสังคมศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่

การเกิดขึ้นของสื่อใหม่ และการล่มสลายของสื่อหลักที่ต้องผันตัวเองไปขายของขายครีมไปจนกระทั่งขายข่าวแกมนิยายอย่างข่าวน้องชมพู่ ลุงพล ทำลายตัวเองไปเรื่อยๆ และช่องสื่อสาธารณะ ก็ไม่สามารถทะลุเพดานของสลิ่มตัวเองได้ เค้นคอนเทนต์ที่ไม่มีความหมายของต่อสังคมออกมาอย่างแกนๆ ไปวันๆ

จากนั้นก็ค่อยๆ เสียความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงไปในที่สุด

สุดท้าย สื่อใหม่ อย่างสื่อออนไลน์ ทั้งหลายช่วงชิงพื้นที่ของการนำเสนอคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ทันสมัย

ในขณะที่สื่อหลักขยับเข้าไปอยู่ในโซนของยุคสมัยแบบประจวบ จำปาทอง ประกวดร้องเพลงวนไป

นักคิด นักเขียน ฝั่ง “ควายแดง” ไม่ยอมหยุดเป็นแผ่นเสียงตกร่อง พูดซ้ำ พูดซาก พูดเรื่องประชาธิปไตย 101 วนไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักเบื่อ

พยายามถอดรื้อรหัสภาษาแห่งความเป็นทาส และความเป็นประชาธิปไตยจอมปลอมออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ตบหน้าสลิ่มได้แรงที่สุดคือ ผลงานของรัฐบาลประยุทธ์เอง ทั้งประยุทธ์ คสช. และประยุทธ์แห่งประวิตรและพลังประชารัฐ ก็ได้ประจานความเหลวแหลก ไร้แก่นสาร ไร้ความสามารถ ไร้รสนิยม ไร้มารยา และไร้น้ำยาอย่างชนิดที่จะหาใครมาแข่งก็แทบจะไม่ได้

สมทบเข้ากับความโอหังวางโตของรัฐราชการที่เหลิงในอำนาจจนเป็นที่เกลียดชังของประชาชน ไม่นับปัญหาคอร์รัปชั่นที่มันจะไม่เป็นความลับ เพราะคนที่โดนคือประชาชน แล้วประชาชนที่โดนรีดไถจ่ายส่วยก็ต้องออกมาป่าวประกาศให้โลกรู้ว่ามีความชั่วปรากฏอยู่ ณ ที่แห่งใดบ้าง

และสุดท้าย เครื่องมือแห่งการโฆษณาชวนเชื่อได้ผุพังไปตามกาลเวลา ไม่อาจจะรื้อฟื้นให้กลับขึ้นมาใหม่ได้ เพราะยุคสมัยเปลี่ยน การเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน การท่องค่านิยม 12 ประการ ไม่ได้ทำให้เด็กๆ เชื่องและสมยอมต่ออำนาจรัฐอีกต่อไป

น้ำลายสลิ่มสูญสิ้นความศักดิ์สิทธิ์เสียแล้ว

สำหรับคนเสื้อแดงอย่างฉัน ในวันนี้ก็ต้องอุทานกับตัวเองว่า คำถามที่เราเฝ้าถามว่า “เมื่อไหร่นักศึกษาจะออกมา อะไรที่จะทำให้เขาออกมา”

คำถามนั้นถูกเฉลยแล้วในวันนี้

และครั้งนี้มันเป็นครั้งที่ไม่เหมือนเดิม

เป็นครั้งแรกที่เราชนะทางวัฒนธรรมก่อนแล้วจึงค่อยลงถนน วันนี้การขอใบอนุญาตฆ่าและฉันทานุมัติจากประชาชนจะยากเย็น และฉันออกจะเชื่อว่า มันจะเป็นไปไม่ได้

โจทย์นี้ใหม่เหลือเกินสำหรับชนชั้นนำ