ต่างประเทศ : สปุตนิก-วี วัคซีนโควิด-19 ของรัสเซีย ที่โลกยังสงสัย

รัสเซียสร้างความประหลาดใจไปทั่วโลกเมื่อนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศว่ารัสเซียเป็นชาติแรกที่อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ให้สามารถใช้ได้กับประชาชนทั่วไป เป็นประเทศแรกของโลก โดยมีชื่อที่ใช้อย่างเป็นทางการว่า “สปุตนิก-วี”

ประธานาธิบดีปูตินยืนยันว่า “สปุตนิก-วี” มีความปลอดภัย แม้แต่ลูกสาวของปูตินเองคนหนึ่งก็ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าวไปแล้ว ทั้งๆ ที่การทดลองเชิงคลินิกเพื่อยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพจะยังไม่เสร็จสิ้น

ส่วนรายละเอียดข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนดังกล่าวก็ยังไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ

นั่นส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างตั้งข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย “สปุตนิค-วี” เหมือนๆ กัน

แม้ล่าสุดรัสเซียจะผลิตวัคซีนล็อตแรกออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเพื่อใช้กับบรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานในแนวหน้า และมีอีกหลายประเทศที่ติดต่อทางการรัสเซียร่วมหารือถึงการร่วมทดลองเชิงคลินิก รวมไปถึงการสั่งซื้อวัคซีนดังกล่าวแล้ว

แต่ข้อมูลเกี่ยวกับ “สปุตนิก-วี” เปิดเผยออกมาค่อนข้างจำกัด

 

ทางการรัสเซียเปิดเผยว่า “สปุตนิก-วี” พัฒนาขึ้นโดย “สถาบันกามาเลยา” ร่วมกับกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงรัสเซีย (อาร์ดีไอเอฟ) มูลค่า 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,700 ล้านบาท

ชื่อของวัคซีน “สปุตนิก-วี” ถูกเชื่อมโยงมาจาก “ดาวเทียม” ดวงแรกที่รัสเซียส่งขึ้นสู่อวกาศได้เป็นประเทศแรกของโลกเมื่อปี ค.ศ.1957 สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัสเซียที่ต้องการเป็นผู้นำของโลกในการพัฒนาวัคซีนต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 778,000 คน

ณ วันที่วลาดิมีร์ ปูติน ประกาศการอนุมัติให้ใช้ “สปุตนิก-วี” กับประชาชนทั่วไปได้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม นั้น การทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ใน “เฟสที่ 3” นั้นยังไม่เริ่มต้นขึ้น ก่อนที่รัสเซียจะประกาศทดลองทางคลินิกเฟสที่ 3 ที่มีจำนวนอาสาสมัครเข้าร่วมกว่า 2,000 คนในอีก 1 วันต่อมา ในจำนวนนี้เป็นการทดลองในหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา

นั่นยิ่งสร้างความกังขากับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่ตามมาตรฐานการทดลองเชิงคลินิกในเฟสที่ 3 นั้นจะทำการทดลองกับอาสาสมัครในจำนวนหลักหมื่นคนขึ้นไปทั้งสิ้น

โดยหากนับจำนวนอาสาสมัครที่เข้ารับการทดลองทั้งหมดแล้วอาจเทียบได้เพียงกับการทดลองเชิงคลินิกในเฟสที่ 1 ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศอื่นๆ เท่านั้น

 

จากข้อมูลที่เปิดเผยจากทางการรัสเซีย การทดลองเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 ของ “สปุตนิก-วี” สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยปกติแล้วจะใช้กลุ่มตัวอย่างหลักร้อยคน เพื่อศึกษาผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายในระยะสั้น รวมถึงดูประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งการทดลองในเฟสแรก รัสเซียใช้อาสาสมัครทั้งสิ้นเพียง 76 คนเท่านั้น ขณะที่ในเฟสที่ 2 มีอาสาสมัครเพียง 100 คน ส่วนระยะที่ 3 กำลังอยู่ระหว่างการทดลองในประเทศซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงฟิลิปปินส์

ด้วยจำนวนอาสาสมัครที่น้อยส่งผลให้ ข้อมูลสรุปของวัคซีน “สปุตนิก-วี” จากองค์การอนามัยโลก (ฮู) อัพเดตเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ยังคงระบุว่า “สปุตนิก-วี” ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการทดลองเชิงคลินิกในเฟสที่ 1 เท่านั้น

“สปุตนิก-วี” เป็นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นด้วยวิธีที่เรียกว่า “ไวรัลเวกเตอร์วัคซีน” เป็นการนำเอาอดีโนไวรัส ที่เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดธรรมดามาติดตั้งพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไป เพื่อให้ไวรัสดังกล่าวไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเรียนรู้ที่จะต่อต้านไวรัสโควิด-19 ได้ในเวลาที่ติดเชื้อ

วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีผลิตวัคซีนวิธีเดียวกันกับที่หลายบริษัทกำลังพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อยู่อย่างจอห์นสันแอนด์จอห์นสันในสหรัฐอเมริกา แคนซิโนของจีน รวมถึงมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของประเทศอังกฤษ ที่จะต่างกันก็ตรงที่ใช้อดีโนไวรัสสายพันธุ์ที่เป็นไข้หวัดในลิง เป็นต้น

จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะจากชาติตะวันตกแสดงความกังวลถึงความเร่งรีบในการพัฒนาวัคซีน

และตั้งข้อสังเกตว่านักวิจัยผู้พัฒนาวัคซีนอาจถูกกดดันจากภาครัฐหรือไม่

 

เช่นเดียวกันนักไวรัสวิทยาของรัสเซียเองก็แสดงความดังวลว่าวัคซีนดังกล่าวอาจเป็นอันตรายกับคนที่มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 อยู่ในร่างกายอยู่แล้ว

ส่วนองค์การอนามัยโลกเองก็ระบุว่า การอนุมัติให้ใช้วัคซีนดังกล่าวกับประชาชนทั่วไปนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนข้อมูลจากการทดลองเชิงคลินิกอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อน ซึ่งเวลานี้ยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลออกมาแต่อย่างใด

จากข้อมูลบนเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย ระบุเอาไว้ว่า ประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงวัคซีน “สปุตนิก-วี” ได้ในวันที่ 1 มกราคม 2021 นี้ โดยบรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 จะได้เริ่มฉีดวัคซีนนี้ได้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายนนี้

เวลานี้คำถามสำคัญสำหรับ “สปุตนิก-วี” นั่นก็คือวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคำตอบนี้ก็อยู่ที่ข้อมูลจากการทดลองเชิงคลินิกที่จำเป็นต้องเปิดเผยออกมา และจำนวนอาสาสมัครในการทดลองเชิงคลินิกที่น่าเชื่อถือ

นั่นทำให้ “สปุตนิก-วี” จึงดูจะไม่ใช่ “ซิลเวอร์บูลเล็ต” ในการต่อสู้โควิด-19

แต่คงจะเป็นได้เพียง “รัสเซียนรูเล็ต” ของรัฐบาลรัสเซีย การเดิมพันบนความเสี่ยงที่จะตายหรือรอดก็ไม่มีใครบอกได้