“อาจารย์” เรียนรู้ “ศิษย์” เจาะลึกม็อบมัธยม “แรง-เร็ว” ผู้ใหญ่ตามไม่ทัน

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาและทำความเข้าใจความคิดของกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาที่ออกมาชุมนุม ผ่านการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ในหลายพื้นที่

โอกาสนี้ อาจารย์กนกรัตน์ให้สัมภาษณ์กับเพจ The Politics ในเครือมติชน ถึงปัจจัยที่ทำให้ขบวนการนักศึกษากลับมามีพลังอีกครั้ง จนกลายเป็นพลังหลักในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ เวลานี้ ว่ามี 3 ปัจจัยด้วยกัน

ประการแรกคือ ระยะเวลาการดำรงอยู่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่อยู่มาถึง 6 ปี ซึ่งในวงรอบทางการเมืองนั้น เวลา 6 ปีทำให้เห็นถึงผลกระทบจากการทำงาน ในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของรัฐบาลอย่างชัดเจน

ประการที่สอง การเติบโตของทางเลือกใหม่ คือพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอาจารย์กนกรัตน์ระบุว่า ความสำคัญในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากการสัมภาษณ์เด็กหลายร้อยคน พรรคอนาคตใหม่คือทางเลือกใหม่ในการเลือกตั้ง ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่จะเลือกอย่างไรให้ได้พรรคที่เลวน้อยที่สุด ประกอบกับกระบวนการในการทำงานของพรรค ที่เริ่มจากการเชื่อว่าตนเองจะไม่ชนะ นำมาสู่การเปิดรับคนทุกคนเข้ามา ส่งผลให้คนมีความผูกพันกับพรรคตั้งแต่ต้น

และจากการสัมภาษณ์เด็กมหาวิทยาลัย พบว่า หลายคนทำงานกับพรรคไม่ทางตรงก็ทางอ้อม มีความสัมพันธ์ทางไกลกับพรรคอยู่ตลอดเวลา

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่ามีสถาบันทางการเมืองเป็นของตนเอง

ดังนั้น เมื่อมีการประกาศยุบพรรคอนาคตใหม่ จึงทำให้คนเหล่านี้ลุกขึ้นมาแสดงความไม่พอใจ

และประการที่สาม ที่อาจารย์กนกรัตน์ระบุว่า เป็นปัจจัยที่น่าสนใจมากที่สุด นั่นคือการเกิดขึ้นของ “นิว คอนเทนต์” ที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

นิว คอนเทนต์ หมายถึง การเกิดขึ้นของสื่อแบบใหม่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งสื่อออนไลน์หัวใหม่จำนวนมากที่ทำเนื้อหาข่าวต่างจากสื่อรุ่นเก่า โดยการผลิตเนื้อหาที่เข้าใจง่าย กระชับ ชัดเจน ตรงประเด็น

ขณะที่สื่อออฟไลน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์แนวใหม่ เกิดสำนักพิมพ์ใหม่ๆ ที่ผลิตหนังสือที่มีเนื้อหาเข้าใจง่าย เข้าถึง และทำให้เด็กเข้าใจโลกในแบบที่คนรุ่นก่อนไม่เข้าใจ

ซึ่งทั้งหมดถูกทำให้เป็นนิว คอนเทนต์ แล้วเข้าไปสื่อสารกันอยู่ในทวิตเตอร์

สำหรับทวิตเตอร์ อาจารย์กนกรัตน์กล่าวว่า มีรูปแบบการทำงาน 3 แบบที่สำคัญ คือ

1. การแชร์ข้อมูล ซึ่งเป็นการแชร์ในคุณภาพและความรวดเร็วที่เราไม่เคยเจอมาก่อน

2. การเจอชุมชนทางความคิดเป็นล้านๆ คน

และ 3. การมีส่วนร่วมทางการเมืองในการแสดงจุดยืนและทำให้เป็นจริงได้ เช่น กรณีการปั่นทวีต ที่อาจถูกมองเป็นเรื่องตลก แต่ด้านหนึ่งคือการสร้างความเชื่อให้กับหลายคนว่ากำลังมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงจริงๆ

และเป็นการแสดงพลังที่มีพื้นที่ในสื่อ

จาก 3 เรื่องนี้ อาจารย์กนกรัตน์ระบุว่า ส่งผลให้คนรุ่นหลัง 2562 กลายเป็นคนอีกสปีชีส์หนึ่งที่มองโลกอีกแบบ อยู่กับชุดข้อมูลอีกแบบ เข้าใจการถกเถียงทางการเมืองมากขึ้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำมาสู่การฝึกฝนการพูด ถกเถียง การเขียน ในเรื่องการเมืองไปในตัว

และหากเราไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ผลที่ตามมาคือจะคุยกันถึงอนาคตของประเทศยากมาก

ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ นอกเหนือจากจำนวนนิสิต-นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่เป็นแกนหลัก ยังปรากฏภาพของนักเรียนมัธยมเข้าร่วมด้วย

เห็นได้จากการร่วมเป็นตัวแทนขึ้นปราศรัยในหลายเวทีทั่วประเทศ

หรืออย่างล่าสุดที่แสดงผ่านกิจกรรมชู 3 นิ้วหน้าเสาธงและผูกโบขาว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ อาจารย์กนกรัตน์ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า จากการลงพื้นที่ไปสองจังหวัดในภาคอีสาน พบเด็กมัธยมประมาณ 200 คนจากหลากหลายโรงเรียนมาร่วมชุมนุม หลายคนมาจากโรงเรียนอันดับหนึ่ง เป็นเด็กเรียนเก่ง แต่ละคนแยกกันมาและส่วนใหญ่ไม่รู้จักกัน

แต่เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้มา เกือบทุกคนพูดคำเดียวว่า มาเพื่ออนาคตตัวเอง

ท่ามกลางความรู้สึกของผู้ใหญ่ในสังคมไทย ที่มักมองว่าเด็กคือเด็ก ไม่ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคต อาจารย์กนกรัตน์ฉายภาพต่อว่า สำหรับเด็กมัธยมปลายนั้น ต้นทุนที่ต้องใช้เพื่อเข้าร่วมม็อบมันสูงมาก เด็กส่วนใหญ่จะแอบพ่อ-แม่มา บางส่วนพ่อ-แม่มาส่งบ้าง เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก ไม่เหมือนเด็กมหาวิทยาลัย

เพราะฉะนั้น ที่เด็กระบุว่ามาเพราะเหตุผลอนาคตของเขา หมายถึงอะไร

อาจารย์กนกรัตน์กล่าวว่า เด็กทุกคนที่ให้สัมภาษณ์ พูดไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง จนจดไม่ไหว ถึงเรื่องที่เขาอึดอัด และมีผลต่ออนาคตของเขา ซึ่งจากการฟัง ทำให้รู้เลยว่าเด็กส่วนใหญ่อ่านทวิตเตอร์ อ่านหนังสือ ตามข่าวการเมือง พูดคุย จัดกลุ่มพูดคุย

บางที่ชมรมเด็กเรียนเก่งในโรงเรียน เป็นชมรมอ่านหนังสือจำนวนมากที่อาจไม่เชื่อว่าเด็กอ่าน คือเด็กพวกนี้พยายามที่จะหาคำตอบว่า อะไรคือทางออกที่ทำให้อนาคตของเขาดีขึ้นกว่านี้

ขณะที่การทำงานของรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ลดทอนความมั่นใจของคนรุ่นใหม่

ประกอบกับการเกิดขึ้นของโควิด ซึ่งโควิดส่งผลกระทบรุนแรงมากที่สุดกับประเทศที่เปราะบาง และรัฐบาลมีความชอบธรรมต่ำ

แน่นอน รัฐบาลยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ถูกต่อว่า แต่กรณีมีคนลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลจำนวนมาก เกิดขึ้นเฉพาะประเทศที่รัฐบาลมีความชอบธรรมต่ำอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

เพราะฉะนั้น การที่เด็กมัธยมลุกขึ้นมา แน่นอนว่าทวิตเตอร์มีผลต่อเขา บทบาทของสื่อแบบใหม่มีผลต่อเขา

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ความชอบธรรมของรัฐบาลที่ตกต่ำลงมาก และเป็นรัฐบาลที่ไม่มีความเข้าใจต่อคนรุ่นนี้เลย

ท้ายที่สุด อาจารย์กนกรัตน์ระบุว่า อยากจะให้คนที่เป็นผู้นำประเทศ คนที่เป็นผู้มีอำนาจ เข้าใจเด็กมัธยม

ไม่ได้เข้าใจเพื่อเพียงให้เขาได้พูด

แต่เข้าใจว่าสิ่งที่เป็นปัญหาของเขา อยู่ในระบบที่ท่านอยู่อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่นนั้นจะไม่สามารถคุยกันได้เลย

หลายคนถามว่าการตั้งคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นขึ้นมา ทำอย่างไรจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ จะคุยกันได้ สิ่งสำคัญคือ เริ่มต้นต้องไม่ปฏิบัติกับเขาเหมือนเขาเป็นเด็ก

จากการที่พูดคุยกับเด็กมาเกือบร้อยคน ในช่วง 6-7 เดือน นักเรียนมัธยมเหล่านี้ไม่ใช่เด็ก เขาเป็นคนที่มีอายุน้อย

แต่ความเร็วของเทคโนโลยี ข่าวสารข้อมูล ทำให้เขามีวุฒิภาวะเติบโตทางการเมืองไม่ได้แตกต่างจากผู้ใหญ่เท่าไหร่

ลองถามตัวเองสิว่า อ่านหนังสือพิมพ์หรือเปล่า ติดตามข่าวสารบ้านเมืองมากน้อยแค่ไหน เด็กเหล่านี้เล่นทวิตเตอร์ทุกวัน วันละหลายชั่วโมง อ่านหนังสือเพิ่มเติม จับกลุ่มพูดคุยทางการเมือง

คุณคิดว่าเขาเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ไหน