ตรวจสอบท่าที-จุดยืน พรรครัฐบาลVSฝ่ายค้าน ต่อการแก้ไข รธน.2560 “ก้าวไกล” สมชื่อก้าวไกล

จากกลุ่มเยาวชนปลดแอก ยกระดับขึ้นเป็นคณะประชาชนปลดแอก นำมาสู่การชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 6 ปี บริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม

พร้อมประกาศแถลงการณ์ตอกย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง หยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา พุ่งเป้าส่งตรงถึงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กดดันให้ฝ่ายการเมืองต้องแสดงท่าที

ในจังหวะพรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทยขยับเดินเกมในสภา

ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกมองว่าเป็นต้นตอปัญหาทั้งหมดทั้งมวลต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การเปิดเกมรุกของฝ่ายค้านดูเหมือนจะมีปัญหาด้านความเป็นเอกภาพ

เมื่อปรากฏว่า ส.ส.พรรคก้าวไกลได้ถอนชื่อออกจากญัตติในภายหลัง เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกับพรรคฝ่ายค้านอื่นในบางประเด็นที่ต้องแก้ไขคือ หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

จุดเริ่มต้นเส้นทางคลายล็อกความขัดแย้งตามข้อเรียกร้องของคณะประชาชนปลดแอก และกลุ่มเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่จัดการชุมนุมแฟลชม็อบกระจายไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศถูกนำเข้าสู่เวทีสภา

เมื่อนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านพร้อม ส.ส.เพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ประธานสภาบรรจุเข้าวาระการประชุมร่วมสองสภา

หัวใจสำคัญในญัตติฝ่ายค้านคือผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้นมาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่

 

สําหรับพรรคก้าวไกล เหตุผลที่ไม่ร่วมลงชื่อในญัตติ เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นในบางประเด็น

โดยเฉพาะการจำกัดอำนาจของ ส.ส.ร.ไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญบางหมวด

นายณัฐชา บุญไชยอินทร์สวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล เผยเหตุผลที่พรรคไม่เข้าร่วมลงชื่อเสนอญัตติว่า เนื่องจากยังมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องหมวดรัฐธรรมนูญที่ต้องแก้ไข โดยขอสงวนความเห็นในเนื้อหาสำคัญบางประการเกี่ยวกับ ส.ส.ร.

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เผยว่า พรรคก้าวไกลไม่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับ ส.ส.ร. เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นไปแล้ว เพียงแต่เราสงวนความเห็นไว้ในสาระสำคัญบางส่วน และจะอภิปรายในสภาเมื่อญัตติเข้าสู่การพิจารณา

ส่วนที่พรรคก้าวไกลจะยื่นเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญคือ การปิดสวิตช์ ส.ว. เสนอยกเลิกมาตรา 269-272 ซึ่งถือเป็น “กล่องดวงใจ” สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลต้องอาศัยเสียง ส.ส.สนับสนุนให้ได้ 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ในสภา หรืออย่างน้อย 98 เสียง ในการสนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“เรื่องหมวด 1 และหมวด 2 ขอย้ำว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมตอนนี้ เพียงแต่สงวนความคิดเห็นไว้ด้วยเหตุผลหลักคือ ไม่มีความจำเป็นใดๆ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 255 จำกัดไว้อยู่แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีผลในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐนั้น จะกระทำมิได้”

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยืนยันว่าไม่มีปัญหาแม้พรรคก้าวไกลถอนชื่อออกจากญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ไม่กระทบการทำงานฝ่ายค้าน แต่ต้องปรับจูนการทำงานให้เป็นระบบ

ส่วนการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เป็นสิ่งที่คิดต่างกันได้ แต่ในวาระ 2 ช่วงแปรญัตติสามารถเปลี่ยนแปลงได้

แต่ตอนนี้ต้องคิดก่อนว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับการบรรจุและไม่ตกตั้งแต่ยกแรก

 

ส่วนท่าทีของฝ่ายรัฐบาลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีท่าทีเปลี่ยนไป จากเดิมที่มีความเห็นให้รัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบไปกับร่างของฝ่ายค้าน

แต่ล่าสุด ภายหลังการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามสื่อในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในประเด็นอำนาจและที่มาของ 250 ส.ว.ว่า

ให้เป็นเรื่องการหารือร่วมกันของแต่ละพรรค รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งต้องเตรียมการว่าจะแก้ไขอย่างไร ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน

อาจต้องไปพิจารณาในส่วนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้สอดคล้องในสิ่งที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอด้วย

การที่ พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนท่าทีจากเดิมที่เตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลควบคู่ไปด้วย เป็นให้แต่ละพรรคการเมืองไปหารือกันเอง ทำให้ถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลาดึงเกมแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้ประชุมและเห็นชอบให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล หารือกับตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลก่อนได้ข้อสรุปว่า

1. จะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

2. จะเริ่มแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยยื่นไปแล้ว โดยไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 แม้บางพรรคอาจจะแก้ทุกหมวด

และ 3. จะตั้ง ส.ส.ร.เพื่อมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับความเห็นพรรคร่วมรัฐบาล เริ่มจากพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยนำ ส.ส.พรรคแถลงจุดยืน 6 ข้อ

1. พรรคสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ผ่าน ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งของประชาชน

2. พรรคเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไม่กระทบหมวด 1 และหมวด 2

3. พรรคเสนอให้ ส.ส.ร.มีความเป็นอิสระในการยกร่างรัฐธรรมนูญ

4. พรรคพร้อมสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร. เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้ว พรรคเห็นด้วยที่จะให้รยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่

5. พรรคไม่สนับสนุนการคุกคามผู้เห็นต่างทุกกรณี

และ 6. การสนับสนุนข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

 

พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างน้อยที่สุดต้องแก้มาตรา 256 เพราะเป็นชนวนนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญได้ในอนาคต

และเสมือนกุญแจล็อกประตูตายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนและมอบให้ตัวแทนพรรคไปหารือกับพรรคอื่นในเรื่องจัดตั้ง ส.ส.ร.

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา แสดงความเห็นว่า พรรคชาติไทยพัฒนาเห็นด้วยต่อการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดประตูให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้

หากตั้ง ส.ส.ร.และให้ดำเนินการให้เร็ว เห็นควรเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราร่วมด้วย เพราะมีหลายประเด็นที่เห็นควรแก้ไข

 

สําหรับความเคลื่อนไหวจากภาคประชาชน โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ เดินหน้าล่า 50,000 รายชื่อจากประชาชนที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ภายใต้โครงการ “เข้าชื่อ 5 หมื่นชื่อ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่างรัฐธรรมนูญ” ถึงปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 20,000 กว่าราย

ที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า กองทัพไม่คิดเป็นศัตรูกับประชาชน เพราะทหารถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง จึงทำให้เข้าใจถึงความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ภายในถึงภายนอก

บางครั้งอาจมีวาทะหรือคำพูดบางอย่างออกไปถือเป็นบทบาทหน้าที่ และในฐานะประชาชนและข้าราชการ

“ผมไม่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกลไกทางการเมือง ที่สภาจะต้องเสนอผ่านกระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ยินดีที่จะเปิดให้แก้ไขเป็นไปตามกฎหมาย”

ในการชุมนุมใหญ่คณะประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม มีการประกาศขีดเส้นตาย 3 ข้อเรียกร้อง หากไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ก็พร้อมยกระดับการชุมนุมในเดือนกันยายน

จากนี้จึงต้องจับตาท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าโอนอ่อนหรือแข็งกร้าว โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยู่ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกทางใดระหว่างการจุดชนวน หรือปลดชนวน

ความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่