สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร / เสียง(เพลง)นี้ส่งถึง

สถานีคิดเลขที่ 12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————-

เสียง(เพลง)นี้ส่งถึง

———————-

เชื่อว่า ประโยค Hey! teachers leave them kids alone

ในเพลง Another Brick in the Wall โดยวง Pink Floyd

มีอิทธิพล และปลุกวิญญาณ”ขบถ” ต่อระบบการศึกษาอันล้าหลัง ของคนในโลกนี้จำนวนไม่น้อย

พร้อมๆกัน ฝ่าย”ขนบ”ที่ถูกเขย่าก็ชูธงต้านและปกป้อง”หอคอย”ของตนเองเช่นกัน

หากย่อขอบเขตลงมาเฉพาะไทย

โดยส่วนตัว ก็เชื่อเช่นกัน ว่า “ประเทศกูมี” ของ HOCKHACKER

เป็นแรงบันดาลใจ ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ลุกขึ้นมา ชู 3 นิ้ว และผูกโบ สีขาว อยู่ตอนนี้

ก็ไม่น่าแปลกใจ ที่เหล่าบรรดาแรพ ที่ออกมารวมกลุ่มในนาม Rap Against Dictatorship จะเป็นเป้าหมายที่จะถูกกวาดล้าง จับกุม

ดังการจับกุม เดชาธร บำรุงเมือง หรือ ฮอค และ ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ “บุ๊ค” แห่งวง Eleven Finger วัย 19 ปี

โดยตั้งข้อหาหนัก ประหนึ่ง ผู้ปลุกปั่นล้มประเทศเลยทีเดียว

สะท้อนว่า เพลง ที่พวกเขาสร้างสรรค์ ขึ้นมา

ไม่ว่า ประเทศกูมี, 250 สอพลอ, ท.บริหาร และ โซตัส จนกระทั่งเพลงล่าสุด ‘เสียงนี้ส่งถึง…’

เป็นที่”จับตามอง” ของฝ่ายกุมอำนาจรัฐ

ว่านี่คือ “อาวุธปลุกระดม” ที่จะต้องรีบ สกัดและ กำจัด ออกไป

การจับกุม จึงเะกิดขึ้น

แต่กระนั้น หลังศาลอาญา อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

เดชาธร บำรุงเมือง หรือ ฮอค ได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะขึ้นเวทีและแรพต่อไป เพราะไม่ได้ทำผิดตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

“สิทธิในการที่จะไปแรพก็เป็นของเรา”

เช่นเดียวกับ กลุ่มแรปเปอร์เพื่อนของ Hockhacker ที่มาให้กำลังใจที่ศาล และให้สัมภาษณ์ ผ่านเว็บประชาไท ว่า การจับกุมครั้งนี้มันไม่สมเหตุสมผล

“เราแค่ขึ้นไปใช้สิทธิที่ประชาชนพึงมี แต่เขากลับใช้กฎหมายเล่นงานเรา”

” สิ่งที่เขาทำมันละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชน เพื่อนเราไม่ได้เป็นอาชญากร นี่มาดักจับหน้าบ้าน ต่อหน้าลูกเมีย ลูกเพิ่งขวบกว่า เขาทำได้ยังไง”

“ตราบใดที่ยังเป็นการใช้เสรีภาพการแสดงออกที่ยังอยู่ในขอบเขตของสันติวิธี เพดานของเราก็ไม่มีคำว่ามากเกินไป”

“ถึงแม้จะมีเพื่อนโดนจับอีกแต่เราก็ยังยืนยันว่าจะทำสิ่งนี้ต่อไป”

ขณะที่เพื่อนศิลปินที่ผลิตงานด้านอื่น อย่าง คัทลียา เผ่าศรีเจริญ โปรดิวเซอร์หนังอิสระ และกลุ่มศิลปินคนทำหนัง กล่าวว่า

“การจับกุมผู้ชุมนุม โดยเฉพาะศิลปินที่ขึ้นแสดงที่เวทีชุมนุมมีความผิดอย่างไร อันนี้ต้องตั้งคำถามกันมากๆ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเซ็นเซอร์งานรึเปล่า เพราะมันมีให้เห็นมาตลอดตั้งแต่เพลงประเทศกูมี”

ประเด็น การตั้งข้อกล่าวหา “หนักๆ”เพื่อหวัง ให้ศาล ออกหมายจับแกนนำ รวมไปถึงแม้ เหล่าศิลปินข้างต้นนี้

กำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

โดยสื่อหลายสำนัก รายงาน ตรงกัน ถึงคำสัมภาษณ์ ของ นายอานนท์ นำภา ซึ่งเผชิญข้อหานานาชนิด

“…กระบวนพิจารณา(ขอฝากขัง เมื่อ 20 สิงหาคม) ศาลกล่าวว่าตำรวจไม่ควรที่จะมาออกหมายจับแล้ว

ควรจะใช้วิธีทางการเมืองคือปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนเลย

รวมทั้งต่อไปนี้ถ้ามีการออกหมายจับศาลอาจจะพิจารณาไม่ออกหมายจับ

ปล่อยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจในการออกหมายเรียกก่อน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์มันคลี่คลายขึ้น…”

“ศาลเป็นคนตำหนิตำรวจว่าไม่ควรจะมาทำให้ศาลวุ่นวาย เพราะตำรวจสามารถออกหมายเรียกได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว แล้วก็พวกเราทุกคนก็พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการไม่จำเป็นที่จะต้องมาตามจับให้เกิดให้ความวุ่นวายแล้วก็ให้เกิดการตระหนกกัน”นายอานนท์ ระบุ

“ใช้วิธีปกติตามกฎหมายกับพวกเรา อย่าใช้ศาล กระบวนการยุติธรรม ในการลิดรอนสิทธิของพวกเรา”

หากจริงอย่างที่ ทนายอานนท์ว่า ตำรวจจะเปลี่ยนท่าทีหรือไม่คงต้องติดตาม

แต่ที่แน่ๆเสียง(เพลง)ที่ส่งถึง…คงบรรเลงต่อไป