ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 สิงหาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ธรรมลีลา |
เผยแพร่ |
ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของศรีลังกา น่าสนใจว่า เป็นประเทศที่ไม่มีทหารของตัวเอง ต้องจ้างทหารมาจากอินเดีย
เพราะฉะนั้น จึงไม่ประหลาดใจว่า ใน พ.ศ.2048 ในสมัยของพระเจ้าวีระปรากมพาหุ ต่างชาติชาติแรกที่เข้ามาปกครองศรีลังกาอย่างง่ายดายเป็นพวกโปรตุเกส เพราะเป็นชาติแรกๆ ที่มีความสามารถในการเดินเรือ
สมัยนั้นศรีลังกาเองอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวายทางการปกครองขาดเอกภาพ เจ้าเมืองเล็กเมืองน้อยพากันลุกขึ้นมาปกครองตัวเอง
ดินแดนทางเหนือของเกาะคือจัฟฟนาก็มีพวกทมิฬจากอินเดียใต้เข้ามาปกครอง ทางเมืองวันนี ก็มีผู้ปกครองท้องถิ่นลุกขึ้นมาเป็นเจ้าเมือง สมัยนั้นเมืองหลวงอยู่ที่กอตเต เจ้าเมืองนั้นก็ถือว่าเป็นกษัตริย์ เหนือเจ้าเมืองอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงเมืองเล็กเมืองน้อยเริ่มต่างฝ่ายต่างปกครองกันเอง
สภาพโดยรวมกระทบถึงความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และแน่นอนสภาพความเป็นอยู่ของพระภิกษุสงฆ์ด้วย
โปรตุเกสจึงเข้ามายึดครองเมืองท่าสำคัญๆ ได้อย่างง่ายดาย ในช่วงที่โปรตุเกสปกครองนั้นไม่มีความเจริญใดๆ ในทางตรงกันข้ามโปรตุเกสนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกและเผยแผ่ศาสนาทั้งด้วยการบังคับ ทรมานชาวเมืองที่ไม่ยอมรับนับถือศาสนาคริสต์
โปรตุเกสเข้ายึดเมืองท่าสำคัญๆ เช่น โคลอมโบ ปานธุระ มัคโคนะ เบลุวัลละ กอลล์ และวัลลิกมะ
ชาวเมืองจำนวนมากต้องหันไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเพื่อจะได้มีงานทำ ท่านวัลโปละ ราหุล เล่าไว้ในหนังสือของท่านว่า ชาวเมืองหลายคนหันมาติดเหล้าโดยรับอิทธิพลจากพวกโปรตุเกส
พระเจ้าราชสิงห์ (พ.ศ.2124-2135) หันไปนับถือศาสนาฮินดู ชาวพุทธและพระภิกษุได้ทุกข์อย่างมากในช่วงรัชสมัยของพระองค์
ด้วยความทารุณโหดร้ายของท่าน ทำให้ชาวเมืองแคนดี้หันไปหาพวกโปรตุเกส
เจ้าชายชาวเมืองแคนดี้สองพระองค์หันไปนับถือศาสนาคริสต์ตามพวกโปรตุเกสด้วย
กลายเป็นจังหวะทองที่โปรตุเกสเข้ามาปกครองศรีลังกาเต็มตัว ยาวนานถึง 153 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2048-2201
ช่วงนี้ พระภิกษุสงฆ์หนีตายและสึกออกไปจำนวนมาก จนหาพระภิกษุสืบพระศาสนาไม่ได้ ในสมัยของพระเจ้าวิมลธรรม (พ.ศ.2135-2147) มีความพยายามที่จะสืบพระศาสนาโดยส่งทูตไปขอพระภิกษุสงฆ์จากยะไข่ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของพม่าให้เข้ามาให้การอุปสมบทแก่ชาวศรีลังกา โดยจัดการบวชแบบอุทกเขปสีมาบนฝั่งแม่น้ำมหาวาลี
แต่พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ก็ไม่สามารถสืบพระศาสนาได้
ศรีลังกาพยายามใช้ความสัมพันธ์กับชาติที่เข้ามาใหม่ คือพวกฮอลันดา ใช้เวลานานถึง 50 ปี กว่าจะขับไล่พวกโปรตุเกสออกไปได้สำเร็จใน พ.ศ.2201 ในรัชสมัยของพระเจ้าราชสิงห์ที่ 2
ตอนแรกฮอลันดาก็สัญญาว่าจะคืนเมืองท่าทั้งหลายที่โปรตุเกสปกครองให้กับศรีลังกา
แต่พอขับไล่โปรตุเกสออกไปได้สำเร็จ ฮอลันดาก็ยึดครองเมืองท่าเหล่านั้นไว้เอง ต้องทำศึกกับชาวเมืองอีกครั้ง
ในรัชสมัยของพระเจ้าวิมลธรรมสุริยะที่ 2 (พ.ศ.2227-2249) ถึงสมัยของพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงห์ (พ.ศ.2282-2290) บ้านเมืองค่อนข้างสงบ
แต่ความเสื่อมโทรมในพระศาสนาปรากฏชัดเจนเมื่อพระสงฆ์เองก็ไม่ค่อยมีความรู้ ใช้ชีวิตที่ห่างไกลไปจากการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน บางทีก็ใช้ชีวิตตามแบบฆราวาส ทำการเกษตร ดูดวง บ้างก็มีครอบครัวด้วยซ้ำ
ในสภาพการณ์ดังกล่าว มีสามเณรรูปหนึ่งชื่อวาลิวิต ปิณฑปาติกะ สรณังกร เป็นผู้นำทางความคิดในการรวบรวมชาวพุทธที่มีการศึกษาเพื่อกอบกู้อิสรภาพให้กับประเทศ เนื่องจากไม่มีการอุปสมบทที่ถูกต้อง แม้อายุมากแล้วก็ยังคงเป็นสามเณร พระเจ้ากีรติศิริราชสิงห์ (พ.ศ.2290-2341)ทรงพอพระทัยในวัตรปฏิบัติของท่าน จึงส่งทูตไปประเทศสยามใน พ.ศ.2293 เพื่อขอพระภิกษุสงฆ์มาสืบพระศาสนาที่ศรีลังกา
ช่วงนี้เองที่พระอุบาลี พร้อมคณะพระภิกษุสงฆ์ 25 รูป ได้ไปสืบพระศาสนาในศรีลังกา เกิดเป็นนิกายสยามวงศ์สืบมาจนทุกวันนี้
โดยมีท่านสรณังกรเป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรกของศรีลังกา
หากเราย้อนมาดูประวัติศาสตร์ของไทย ไทยเสียกรุงแก่พม่าใน พ.ศ.2310 โชคดีเหลือเกินที่ศรีลังกาได้มาสืบพระศาสนาไปก่อนเพียงเวลาไม่นาน หากเป็นช่วงหลังจากนั้น การสืบพระศาสนาทางศรีลังกาก็อาจจะมีอุปสรรคมากขึ้น
ในขณะที่โปรตุเกสเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก พวกฮอลันดาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ พวกฮอลันดาเน้นการสร้างโบสถ์และสร้างโรงเรียนในเมืองท่าต่างๆ ที่เข้ามายึดครอง คนที่เป็นครูในโรงเรียนต้องนับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น กฎหมายในสมัยนั้นยังบังคับต่อไปด้วยว่า เด็กๆ จะต้องเข้าโรงเรียนของโปรเตสแตนต์เท่านั้น เช่นนี้ ชาวพุทธในศรีลังกาเป็นจำนวนมากที่ต้องหันไปนับถือศาสนาคริสต์เพื่อความอยู่รอด
จึงไม่ประหลาดใจเลยว่าชาวศรีลังกาที่เราพบเห็นแม้ในปัจจุบันยังใช้นามสกุลที่มาจากโปรตุเกส เช่น เดอ ซิลวา เป็นต้น
ฮอลันดาปกครองศรีลังกาตั้งแต่ พ.ศ.2201-2339 อยู่นาน 138 ปี
ในขณะที่ทั้งโปรตุเกสและฮอลันดาเข้ามาปกครองศรีลังกานั้น มีอำนาจจำกัดอยู่ตามเมืองท่าซึ่งอยู่เพียงชายขอบด้านนอกของเกาะ
แต่ศรีลังกาต้องผ่านการสงครามครั้งสำคัญเมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองเป็นชาติที่ 3 ต่อจากพวกดัตช์
อังกฤษเริ่มเข้ามายึดครองศรีลังกาใน พ.ศ.2306 โดยเริ่มจากผู้ปกครองอังกฤษที่ดูแลเมืองมัทราสซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางใต้ของอินเดียออกปากให้ความช่วยเหลือที่จะขับไล่พวกฮอลันดา แม้ว่าจะมีการลงนามว่าอังกฤษจะให้ความช่วยเหลือศรีลังกา แต่ในความเป็นจริงพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ เลย ใน พ.ศ.2325 ลอร์ดแม็กคาร์ตนีย์ ผู้ปกครองของอังกฤษที่เมืองมัทราสส่งกำลังทหารเข้าโจมตีเมืองท่าที่พวกฮอลันดาปกครองอยู่ อังกฤษยึดได้เมืองท่าตรินโคมาลี ทำให้ศรีลังกาไม่ไว้ใจอังกฤษอีกต่อไป และผลจากการเซ็นสัญญาสันติภาพในยุโรป ทำให้ตรินโคมาลีกลับไปอยู่ในการปกครองของฮอลันดา
พอดีเป็นช่วงสงครามในยุโรป พ.ศ.2338 เกิดความขัดแย้งกันระหว่างฮอลันดาและอังกฤษ ลอร์ดโฮบาร์ตของอังกฤษส่งกำลังเข้ามายึดป้อมที่ตรินโคมาลี จัฟฟนา และนิกอมโบ ในเดือนถัดมา วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2339 อังกฤษเข้ายึดป้อมที่โคลอมโบซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ และถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจของฮอลันดาบนเกาะศรีลังกา
อังกฤษก็ไม่แตกต่างจากสองประเทศที่ปกครองศรีลังกามาก่อน ทำทุกวิถีทางที่จะกวาดล้างและสยบทั้งศาสนาพุทธและวัฒนธรรมสิงหล พยายามเผยแผ่วัฒนธรรมตะวันตกและศาสนาคริสต์ พยายามทำให้ประชาชนไม่พอใจการปกครองท้องถิ่น สร้างความร้าวฉานในประเทศ จนในที่สุด พ.ศ.2346 อังกฤษประกาศสงครามกับกษัตริย์ของศรีลังกา
เอกราชของศรีลังกาสสิ้นสุดลง พ.ศ.2358 และอังกฤษเป็นประเทศแรกที่ปกครองศรีลังกาอย่างสมบูรณ์ นั่นคือไม่ใช่เฉพาะเมืองท่าที่อยู่ด้านนอก แต่หมายรวมถึงพื้นที่ของศรีลังกาในเกาะส่วนในด้วย
ในยามที่ศรีลังกาตกต่ำอย่างที่สุด แม้กระนั้นก็มีพระภิกษุรูปหนึ่งที่กล้าลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรีของพระศาสนาและประเทศ
ในท่ามกลางการประชุมใหญ่ก่อนที่จะลงนามให้อังกฤษเข้ามาปกครองนั้น ทหารอังกฤษถือโอกาสชักธงอังกฤษขึ้นเสา ไม่มีชาวศรีลังกาสักคนหนึ่งเลยที่กล้าพอจะลุกขึ้นประท้วงการกระทำอันอุกอาจของอังกฤษ
แต่มีพระภิกษุรูปหนึ่ง คือท่านวาริยโปฬะ ทีปังกร พระอาจารย์ที่ชำนาญในพระวินัย เป็นเจ้าอาวาสวัดหุทุหัมโปละ ในเมืองแคนดี้ ท่านทนดูไม่ได้ และแทรกตัวออกมาจากฝูงชน ผลักทหารอังกฤษออกไป ดึงธงชาติของอังกฤษลงมา แล้วประกาศว่า “จนกว่าจะลงนามในสนธิสัญญา จะชักธงนี้ขึ้นไม่ได้”
การกระทำในการที่จะปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศและศาสนาแม้จนนาทีสุดท้ายของพระอาจารย์รูปนี้ ยังเป็นที่กล่าวขานกันมาทุกวันนี้
เมื่ออังกฤษเข้าปกครองศรีลังกานั้น ผู้ที่นำการประท้วงใน พ.ศ.2361 เป็นพระภิกษุสงฆ์
ต่อมาอีก 30 ปี พ.ศ.2391 พระอาจารย์คิราเนคมะ จันทโชติ เจ้าอาวาสวัดดัมบุลละ เป็นผู้นำในการประท้วงอีกครั้ง มีพระภิกษุ 9 รูปจากดัมบุลละที่ถูกอังกฤษจับกุมคราวนั้น พระเถระรูปหนึ่งชื่อท่านกุฑาโปละไม่ยอมให้ความร่วมมือโดยไม่ให้ข้อมูลในการประท้วง ถูกยิงทิ้งในผ้าเหลือง
การต่อสู้ของชาวเมืองศรีลังกาต่อต่างชาติที่เข้ามายึดครองนั้นมีพระภิกษุเป็นผู้นำในการต่อสู้แทบทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนี้ พระภิกษุเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ เป็นศูนย์รวมของความศรัทธา จึงรวมกำลังประชาชนได้ง่ายกว่า แต่เพราะศรีลังกาไม่เคยมีทหารเอง การต่อสู้จึงเป็นรองตะวันตกที่เข้ามาพร้อมอาวุธที่ทันสมัยและกำลังที่เหนือกว่า
ศรีลังกาอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติยาวนานถึง 400 ปี
บทบาทของพระภิกษุในศรีลังกาจึงแตกต่างไปจากพระภิกษุไทยในหลายประการ การตั้งมั่นของชาติคือการตั้งมั่นของพระศาสนา พระภิกษุสงฆ์ในศรีลังกาจึงถูกหล่อหลอมจากประวัติศาสตร์ ให้มีความตื่นตัวทางการเมือง และความตระหนักในความเป็นชาติมากกว่าพระภิกษุไทย
ในขณะที่ทั้งโปรตุเกสและฮอลันดาปกครองเฉพาะเมืองท่า แต่อังกฤษเป็นชาติแรกที่เรามายึดครองได้ทั้งประเทศอย่างแท้จริง
สถาบันกษัตริย์ของศรีลังกามาล่มสลายในช่วงที่อังกฤษปกครองนี้เอง
และการที่อังกฤษต้องการสยบอิทธิพลของบรรดาขุนนางที่ทรงอิทธิพลของศรีลังกา อังกฤษใช้วิธีย้ายเมืองหลวงจากแคนดี้ไปโคลอมโบ
เป็นการถอนรากถอนโคนอิทธิพลท้องถิ่นได้อย่างชะงัด
นอกจากนั้น อังกฤษรู้ว่าพระสงฆ์มีอิทธิพลต่อชาวเมืองมาก อังกฤษจึงถวายตำแหน่งมหานายกแก่พระผู้ใหญ่
โดยที่พระมหานายกเหล่านี้จะรายงานความเป็นไปในระดับท้องถิ่นโดยตรงกับอังกฤษ นี่เป็นกลยุทธ์ที่อังกฤษเข้าแทรกแซงคณะสงฆ์อย่างสัมฤทธิผล
การที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษซึ่งเป็นชาติสุดท้ายที่เข้ามาครอบครองศรีลังกา ชาวเมืองถูกบังคับให้เรียนภาษาอังกฤษ อังกฤษเข้ามาจัดการการศึกษา ทำให้ชาวศรีลังกาในรุ่นนั้นสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี จึงไม่ประหลาดใจว่า ตำราในพุทธศาสนาที่ปรากฏแก่สายตาของชาวโลกในสมัยนั้น มักเป็นหนังสือที่เขียนโดยพระภิกษุชาวศรีลังกาทั้งสิ้น
ศรีลังกาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ.2491 เมื่ออังกฤษออกจากเกาะศรีลังกา รัฐบาลก็ไม่บังคับเรียนภาษาอังกฤษอีก
ทำให้ชาวศรีลังกาโดยทั่วไปที่เติบโตขึ้นในยุคปัจจุบันไม่ถนัดในการใช้ภาษาอังกฤษเหมือนคนยุคก่อน มีผลกระทบโดยตรงกับคุณภาพในภาพรวมของพระภิกษุชาวศรีลังกาในปัจจุบัน ที่เมื่อออกมาสู่เวทีโลก มักจะไม่สามารถสื่อกับโลกข้างนอกได้
แต่ภาพการต่อสู้ของพระภิกษุชาวศรีลังกาไว้แม้จนวินาทีสุดท้ายเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า เราชาวพุทธควรชื่นชมยกย่องเป็นอย่างยิ่ง