อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : มากกว่าสัญลักษณ์การเมือง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

มีสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยติดตามการเคลื่อนไหวของเยาวชนไทยประท้วงรัฐบาลประยุทธ์อยู่ในขณะนี้

พร้อมกันนั้นผู้คนทั่วไปต่างหาคำอธิบายว่าเยาวชนเหล่านั้นประท้วงรัฐบาลทำไม?

แต่ผมว่าเราควรตั้งคำถามว่า ประท้วงรัฐบาลเพื่ออะไร? มากกว่า

 

ประท้วงเพื่ออะไร?

หากตั้งคำถามว่า ประท้วงเพื่ออะไรย่อมนำมาสู่หลายประเด็นที่สำคัญ

นั่นคือ เราจะได้ไม่แปลกใจ ไม่ตกใจ แต่เราจะเข้าใจมากขึ้นที่เห็นคนรุ่นใหม่เขาห่วงใยต่ออนาคตของพวกเขาและประเทศของเขาเอง

พวกเขาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยไม่ต้องเพียงแค่สะท้อนหรืออยู่ในทวิตภพอีกต่อไปแล้ว

พวกเขาออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์และวางมือถือแล้วลงไปท้องถนนตรงไปตรงมา

พวกเขาต้องการความเปลี่ยนแปลงและความเป็นจริง ความต้องการของพวกเขามันไม่ดีตรงไหน

ย้อนกลับไป เราจะเห็นว่า เยาวชนในประเทศไทยรวมแล้วอาจร่วมหมื่นคนในกรุงเทพฯ ชุมนุมต่อเนื่องในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ได้เห็นมาในหลายปี แม้ว่าโรคโควิดห้ามการรวมตัวขนานใหญ่

พวกเขาต้องการ 3 ประการคือ ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และผู้มีอำนาจยุติการคุกคาม ซึ่งตรงและชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว เพียงแต่ว่า พวกเขามีลูกเล่นบ้างแต่นับว่าสร้างสรรค์

ประเทศไทยนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานของการต่อต้านและการประท้วงทางการเมือง แต่คลื่นประท้วงใหม่ครั้งนี้ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อกุมภาพันธ์ 2563 หลังจากพรรคฝ่ายค้านที่พวกเขานิยมชมชอบถูกยุบพรรคไป

มีนาคม 2562 มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก นับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจในปี 2557 สำหรับเยาวชนจำนวนมากและผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก พวกเขาได้เห็นโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงหลังจากทหารปกครองประเทศไทยมาหลายปี

ถึงกระนั้นก็ตาม ทหารก็ได้ก้าวเข้ามายึดมั่นบทบาททางการเมืองของตนและการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมาได้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐประหารได้รับการแต่งตั้งอีกครั้งหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี

ครั้งนั้นพรรคนิยมประชาธิปไตย พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงเป็นพรรคใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของประเทศและเป็นที่นิยมและชื่นชอบจากเยาวชนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก

แต่พรรคนี้ก็ถูกยุบในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีคนร่วมหมื่นร่วมประท้วงบนท้องถนน แต่ระงับไปชั่วคราวด้วยเหตุผลโรคโควิดระบาด

ทว่าหลายสิ่งหลายอย่างร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2563 เมื่อนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่โดดเด่น วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ได้สูญหายไปในประเทศกัมพูชา

 

หนูแฮมสเตอร์และชานม

ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ประเด็นต่างๆ ผลักดันคลื่นใหม่ของการประท้วง นักศึกษาและเยาวชนจำนวนมากรู้สึกว่ารัฐบาลปัจจุบันทำในสิ่งที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้จริง เรื่องจริงคือในหลายปีของการปกครองโดยทหาร รัฐบาลแทรกแซงการเคลื่อนไหว เสรีภาพในการพูดและสิทธิการแสดงออก

ตอนนี้ผู้ประท้วงต้องการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งใหม่ นายกรัฐมนตรีลาออกและยุติคุกคามสิทธิการเคลื่อนไหว

กลุ่มผู้ชุมนุมและขบวนการขยายวงกว้างโดยไม่มีผู้นำ แต่ผลักดันโดยกลุ่มที่ถูกเรียกว่า เยาวชนปลดแอก

กลุ่มนี้เป็นการรวมตัวกันของสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งและกลุ่มที่สัมพันธ์กัน ไม่มีผู้นำเป้าหมาย

พวกเขาเรียนรู้จากการประท้วงในฮ่องกงในช่วงหลายปีหลังนี้ ซึ่งในฮ่องกง ผู้ประท้วงเป็นตัวแทนของคนอิสระต่างๆ ที่มารวมกันมากกว่าการเรียกร้องโดยองค์กรหรือพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ

น่าสนใจ กลุ่มผู้ประท้วงในประเทศไทยเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงและต่อต้านจีน พวกเราร้อยรัดกลุ่มประท้วงในไทย ฮ่องกงและไต้หวัน แล้วให้ฉายากันเองว่า พันธมิตรชานม ซึ่งนี่เป็นมากกว่าสัญลักษณ์ทางการเมือง แต่เป็นการแสวงจุดร่วมในทางสากลโดยเลือกฮ่องกงอันเป็นตัวแทนของสิทธิมนุษยชน สิทธิการเมืองและประชาธิปไตยที่ถูกบิดพลิ้วจากปักกิ่ง

พร้อมให้อารมณ์ขันว่าพวกเขาล้วน ดื่มชานม ซึ่งปักกิ่งดื่มชาอันเท่ากับว่าพวกเขาท้าทายนโยบายจีนเดียว อันเป็นประเด็นระดับโลกและยังถกเถียงกันอยู่ รวมทั้งในไทยด้วยเลยทีเดียว

น่าทึ่งมาก กลุ่มผู้ประท้วงในไทยค้นคิดสิ่งสร้างสรรค์ โดยใช้วิธีการประท้วงอันแปลกและแหวกแนว เช่น นำบุคลิกหนูแฮมสเตอร์ญี่ปุ่นแล้วเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์กบฏ

พวกเขานำเพลง แฮมทาโร่ แล้วเปลี่ยนเนื้อร้องเป็นเพลงขับร้องไล่รัฐบาล ท่อนหนึ่งของเพลง

…อาหารอร่อยที่สุดคือ เมล็ดทานตะวัน… แล้วได้เปลี่ยนเป็น

…อาหารอร่อยที่สุดคือ ภาษีประชาชน…

ช่างแสบนัก

พวกเขาร้องเพลงกระแทกโครงการของรัฐบาล เช่น สั่งซื้อรถถัง สั่งซื้อเรือดำน้ำ สั่งซื้อเครื่องบิน

พวกเขาจึงไม่ใช่เด็กๆ ผู้ไม่ประสีประสาการเมือง แต่พวกเขาเล่าเรื่องที่เป็นภาพจริงในบ้านเมืองของพวกเขาที่มีผู้คนตกงาน และไม่มีอะไรจะกินกันอยู่มากแล้ว

แต่รัฐบาลก็นำภาษีของประชาชนคนไทยไปสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์โดยไม่แยแสอะไรเลย ด้วยข้ออ้างทางการเมืองใหม่ๆ แต่โรคระบาดโควิดก็มิได้เป็นข้ออ้างในการใช้ภาษีประชาชนไปซื้ออาวุธอีกต่อไป รวมทั้งเมื่อพวกเขามองไปที่อนาคต ความจริงที่รออยู่คือ การตกงานครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์รออยู่ข้างหน้า

ทว่ารัฐบาลยังล้างผลาญภาษีประชาชนต่อไป

จริงอยู่ครับ นักศึกษาไทยที่ผ่านมาในระยะหลังนี้มักใช้รูปแบบต่างๆ ของป๊อป คัลเจอร์ (Pop culture) หรือวัฒนธรรมป๊อปของความไม่พอใจต่างๆ มารณรงค์และถ่ายทอด นั่นเป็นเพราะว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภายใต้สภาวะแวดล้อมของการกดขี่ในสังคมและการเมืองในบ้านเราไม่อนุญาตให้ใครต่อใครมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

พวกเขาจึงถ่ายทอดความไม่พอใจออกมาไหลผ่านสายธารทางวัฒนธรรม

 

แน่นอนครับ หาก ทีวีจอสี คือ อาวุธสำคัญ ในการสื่อสารความคิดของแกนนำม็อบเสื้อเหลือง-แดง-นกหวีดในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กไลน์ และ แฮชแท็ก ก็เป็น อาวุธใหม่ ของเครือข่ายนักศึกษาที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกระตุ้นอารมณ์ร่วมได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในสถานที่ชุมนุมก็ม็อบออนไลน์ได้

อย่างไรก็ตาม ทีวีจอสี เฟซบุ๊กไลน์ แฮชแท็กและอื่นๆ หากพัฒนาขึ้นมาใช้กันอีกนับเป็นเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่มีพลังในแง่ออนไลน์ ทวิตภพและการเผยแพร่กว้างขวางข้ามประเทศ ข้ามทวีปไปทั่วโลก ทว่า เนื้อหาที่รังสรรค์จากความเป็นจริงทางการเมือง โดยคนรุ่นใหม่ต่างหากเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังยิ่ง

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในบางประเทศในยุโรป อาหรับ มาเลเซีย เมียนมา ล้วนมาจากพลังความคิดเชิงสร้างสรรค์ที่แสดงความเป็นจริง มากกว่าเทคโนโลยีอันเป็นเพียงเครื่องจักรชนิดหนึ่ง

หนูแฮมสเตอร์และชานมสำคัญตรงนี้เอง