การศึกษา / จับตา ‘มส.’ คลอดกฎเหล็ก… ฟัน ‘พระ’ นั่ง-ยืนปักหลักบิณฑบาต!!

การศึกษา

 

จับตา ‘มส.’ คลอดกฎเหล็ก…

ฟัน ‘พระ’ นั่ง-ยืนปักหลักบิณฑบาต!!

 

ปัญหาพระภิกษุนั่งปักหลัก หรือยืนปักหลักบิณฑบาตตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะตามแผงขายอาหาร ร้านอาหาร ตลาด ฯลฯ กลายเป็นภาพที่คุ้นชินของประชาชนที่ผ่านไปมา

แม้จะเป็นภาพคุ้นชิน แต่ในความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย กลับรู้สึกว่าเป็นภาพที่ “ไม่เหมาะสม”

สร้างความเสียหาย และเสื่อมศรัทธาแก่วงการสงฆ์ และพุทธศาสนาอย่างมาก

ทำให้กลุ่มคุ้มครองพระพุทธศาสนา สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา (พศ.) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรื่องการบิณฑบาตไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย เสนอ มส.

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีประชาชนได้ร้องเรียนผ่านทางระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ พศ. กรณีการบิณฑบาตของพระสงฆ์ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย

อาทิ การบิณฑบาตก่อนอรุณ การกลับเข้าวัดเกินเวลาที่กำหนด รับบิณฑบาตมากเกินความจำเป็น หรือถ่ายเทอาหารให้บุคคลภายนอก นั่งหรือยืนปักหลักบิณทบาตบริเวณหน้าร้านค้า ตลอดจนนำอาหารที่ได้รับให้ร้านจำหน่ายต่อ รวมทั้งหวังแต่ลาภสักการะ เมื่อบิณทบาตแล้ว อาหาร ดอกไม้ ธูปเทียนที่ได้ ไม่นำกลับวัด ทิ้งไว้ข้างทาง

ซึ่งการกระทำเหล่านี้ ไม่เหมาะสมแก่สมณวิสัย ทำให้ผู้ที่ใส่บาตรและผู้ที่พบเห็นเสื่อมความศรัทธา เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการร้องเรียน ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว สำนักเลขาธิการ มส.เห็นว่าเพื่อเน้นการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว และลดปัญหาข้อร้องเรียน โดยให้เสนอ มส.พิจารณากำหนด “แนวปฏิบัติ” เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

ดังนี้

 

การออกบิณฑบาตของพระภิกษุสามเณร ต้องออกบิณฑบาตเวลาได้รับอรุณ และไม่ควรเกินเวลา 08.00 น.

การบิณฑบาตโดยยืนหรือนั่งประจำที่ตามร้านขายอาหาร หรือบิณทบาตโดยเร่ร่อนไปตามสถานที่ต่างๆ นอกพื้นที่บิณฑบาตแห่งวัดตน ไม่สมควรกระทำ

การบิณฑบาตด้วยการนั่งรับบาตร หรือนั่งในรถรับบาตร ไม่สมควรกระทำ

สถานที่ที่เป็นแหล่งอโคจร พระภิกษุไม่ควรเข้าไปบิณฑบาต

การบิณฑบาตไม่ควรสูบบุหรี่ สวมรองเท้า พูดคุยกันโดยไม่มีเหตุจำเป็น

ถ่ายเทอาหาร หรือทิ้งดอกไม้ให้กับเจ้าของร้านอาหาร หรือแย่งกันรับของปัจจัย

เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว ไม่ควรยถา…สัพพี

ทั้งนี้ ให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ในทุกระดับ ตลอดจนพระวินยาธิการ คอยตรวจตรา สอดส่อง ดูแล พระภิกษุสามเณรในการบิณฑบาตให้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัย โดยยึดหลักเสขิยวัตรเป็นเกณฑ์!!

 

ข้อเสนอดังกล่าวนี้ พระเทพปฏิภาณวาที หรือเจ้าคุณพิพิธ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะเขตดุสิต ผู้ช่วยแม่กองธรรมสนามหลวง และนักเทศน์ชื่อดัง มองว่า ก่อนปรับแนวปฏิบัติเรื่องใด อยากให้ มส.พิจารณารายละเอียด ข้อเท็จจริง และบริบทของพื้นที่ชุมชนให้รอบด้าน หาสาเหตุให้เจอ

พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีพระบิณฑบาตเกินเวลา ซึ่งขณะนี้บริบทแต่ละชุมชนเปลี่ยนแปลงไป บางชุมชนนิมนต์พระมาบิณฑบาตเป็นประจำ แต่ไม่ใช่เวลาเช้า ส่วนพระบางรูปอายุมาก ชราภาพ ญาติโยมจึงนิมนต์ให้นั่งบิณฑบาต ไม่ใช่ตั้งใจนั่งรับบาตร ซึ่งคนที่เห็นบางคนไม่เข้าใจ และร้องเรียน จนส่งผลกระทบในวงกว้าง

แต่เจ้าคุณพิพิธก็ยอมรับว่า ยังมีพระสงฆ์บางส่วนที่ประพฤติตนรุ่มร่าม ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ซึ่งเจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าคณะปกครองต้องกวดขัน

เจ้าคุณพิพิธกล่าวด้วยว่า การที่ มส.จะออกแนวปฏิบัติในเรื่องใด ต้องหาสาเหตุที่มาและข้อเท็จจริง ไม่เช่นนั้นอาจกระทบต่อพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตนอยู่ในพระธรรมวินัย รวมถึงกระทบต่อศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ไม่ใช่นำมาตรฐานของวัดใดวัดหนึ่งมาใช้กับทุกวัด แต่ถ้าเป็นเรื่องที่พระสงฆ์ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็ต้องแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีพระปลอมเพิ่มมากขึ้น จากปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี บางคนจึงยอมลงทุนโกนหัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าคณะจังหวัด ต้องกวดขัน

 

ขณะที่นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ระบุว่า เห็นด้วยในหลักการ ที่นักบวชต้องปฏิบัติตัวให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย โดยเฉพาะวัตรปฏิบัติต่างๆ เพื่อรักษาสถานภาพของนักบวชไว้ให้สมบูรณ์ ไม่ให้ถูกดูถูกเหยียดหยาม หรือทางพระธรรมวินัยเรียกว่า โลกวัชชะ อาบัติที่เป็นโทษทางโลก ข้อเสียหายที่ชาวโลกติเตียนว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ ซึ่งการบิณฑบาตของพระ มีทั้งโลกติเตียน และไม่ติเตียน

นายสมฤทธิ์ระบุว่า ร่างแนวปฏิบัติใหม่ที่ออกมา ประเด็นหลักๆ ที่ต้องการแก้ปัญหา อย่างพระนั่งบิณฑบาต หรือการกำหนดเวลาให้พระสงฆ์ต้องบิณฑบาตให้เสร็จก่อน 8 โมง ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กรณีนี้โลกติเตียนหรือไม่ เพราะบางแห่งมีพระนั่งบิณฑบาต ประชาชนก็ใส่บาตร คิดว่าโลกไม่ติเตียน แต่บางคนอาจไม่พอใจ เพราะมองว่าไม่เหมาะสม

ดังนั้น ทางแก้ที่ดีที่สุด คือกลับไปดูพระธรรมวินัย ว่าการบิณฑบาตคืออะไร ไม่ใช่ดูที่กฎ มส. เพราะพระที่ออกกฎ คือพระที่ไม่เคยบิณฑบาต

ทั้งนี้ พระธรรมวินัยระบุว่า นักบวชอยู่ได้ด้วยการขอผู้อื่น ชาวบ้านเป็นผู้ให้ ซึ่งเป็นความงดงามระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้าน ดังนั้น การออกกฎเรื่องการบิณฑบาต ต้องพิจารณาบริบทของท้องถิ่นด้วย เพราะเวลาแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน

“8 โมงเช้าต่างจังหวัด กับ 8 โมงเช้าในกรุงเทพฯ ไม่เท่ากัน ผมเคยบวชและบิณฑบาตที่หมู่บ้านอาจารย์ใน จ.เชียงราย ปรากฏว่าผมไม่ได้ข้าวสักเม็ด เพราะชาวบ้านยังไม่ตื่น ผมไม่เห็นด้วย เพราะการออกกฎไม่ใช่การแก้ปัญหา แนวปฏิบัติที่ออกมา เหมือนเอาใจชนชั้นกลาง และพระผู้ใหญ่ที่ไม่ได้บิณฑบาต เหมือนเป็นการแก้ปัญหาแบบผิดฝาผิดตัว”

ซึ่งนักวิชาการอิสระได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ให้เป็นเรื่องของพุทธบริษัท 4 ประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระที่ไม่ดี ก็ไม่ไหว้ ไม่ใส่บาตร สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ อย่าโยนปัญหาไปให้รัฐบาล หรือ มส.

ทางแก้ที่ดีคือ คืนศาสนาให้กลับไปอยู่ในมือของชาวบ้าน!!

 

อย่างไรก็ตาม นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะโฆษก พศ.ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าว ยังเป็นเพียงตุ๊กตา เพื่อให้ มส.มอบหมายให้ผู้แทน มส.ไปศึกษาหาแนวทางที่ชอบด้วยการกระทำทางวินัย และออกเป็นแนวปฏิบัติของสงฆ์ทั่วประเทศ

ขณะนี้ได้ตั้งคณะศึกษารายละเอียดแนวปฏิบัติดังกล่าว เพื่อเสนอที่ประชุม มส.ก่อนประกาศแนวปฏิบัติ และออกเป็นมติ มส.อย่างเป็นทางการ

ต้องรอดูว่า “แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบิณฑบาตของพระสงฆ์” จะได้ฤกษ์คลอดเมื่อไหร่??

มีหน้าตาอย่างไร??

      และจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดหรือไม่??