กรองกระแส / จุดยืน ทัศนะ เยาวชน ประชาชน ปลดแอก วิธีการ ทางออก

กรองกระแส

 

จุดยืน ทัศนะ

เยาวชน ประชาชน ปลดแอก

วิธีการ ทางออก

 

การปรากฏขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อตอนค่ำของวันที่ 18 กรกฎาคม ดำเนินไปในกระสวนแห่งปรากฏการณ์หนึ่งในทางสังคม

สะท้อน “ความคิด” แสดงผ่านรูปธรรมแห่ง “การเมือง”

เริ่มต้นอาจเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่ยึดโยงต่อกันและกัน กล่าวคือ 1 หยุดคุกคามประชาชน 1 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย และ 3 ยุบสภาเพื่อมอบโอนอำนาจให้ประชาชน

ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็น “ประชาชนปลดแอก” ก็เพิ่มอีก 2 จุดยืน

นั่นก็คือ 1 ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะไม่เห็นว่ารัฐประหารจะเป็นทางออก และ 1 ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแห่งชาติ เพราะไม่เห็นว่ารัฐบาลแห่งชาติจะเป็นทางออก

และต่อมาก็เพิ่มความใฝ่ฝันอีก 1 ความใฝ่ฝัน

ที่ต้องยอมรับก็คือ ไม่ว่าข้อเสนอ ไม่ว่าจุดยืน ไม่ว่าความใฝ่ฝัน ล้วนร้อยรัดและสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นและรวมศูนย์อยู่ที่ “รัฐธรรมนูญ”

คำถามก็คือ ปรากฏการณ์นี้ก่อให้เกิดผลสะเทือนอย่างไร

 

เริ่มจากนิสิต-นักศึกษา

สะเทือนถึง “นักเรียน”

การเคลื่อนไหวในเดือนกรกฎาคม 2563 มีจุดเริ่มมาจากนิสิต-นักศึกษาและต่อมาได้ขยายไปสู่ประชาชนอันทำให้ละม้ายกับการเคลื่อนไหวในเดือนตุลาคม 2516 และการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

แต่ที่แตกต่างออกไปก็คือ การทะลุทะลวงเข้าไปในหมู่ “นักเรียน”

มิใช่ว่าการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2516 จะไม่มีนักเรียนเข้าร่วม เพราะแม้แต่เด็กอนุบาลก็ถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหว

แต่ดำเนินไปเพราะครูและโรงเรียนเห็นชอบด้วย

มิใช่ว่าการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2516 จะไม่มีนักเรียนเข้าร่วม เพราะอย่างน้อยศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยก็ก่อรูปตั้งแต่ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร

แต่บทบาทของนักเรียนก็เสมอเป็นเพียงส่วนเสริม ไม่มีลักษณะกัมมันตะมากนัก

ตรงกันข้าม ผลสะเทือนจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม และโดยเฉพาะในวันที่ 16 สิงหาคม ได้ก่อให้เกิดลักษณะ “อาฟเตอร์ช็อก” ขึ้นอย่างครึกโครม

ดึงนักเรียนเข้าร่วมอย่างมีลักษณะ “กัมมันตะ” สูงยิ่ง

 

เยาวชนปลดแอก

กับ “พัฒนาการ”

แม้ในเบื้องต้นของการปรากฏตัวของ “เยาวชนปลดแอก” จะถูกเรียกอย่างหมิ่นหยามจากแต่ละองคาพยพของอำนาจว่าเป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” ว่าเป็น “ม็อบฟันน้ำนม” ว่าเป็น “ม็อบวูบวาบ”

ความหมายก็คือด้อยค่าว่าเป็นเรื่องของเด็ก ไม่มีความหมายอะไร

แต่ก็ต้องยอมรับในเชิงพื้นที่และในเชิงปริมาณว่าพัฒนาเติบใหญ่อย่างไม่ขาดสาย ด้วยเวลาอันรวดเร็วก็ขยายจาก 1 จุดเป็น 100 กว่าในขอบเขตทั่วประเทศ

หากวัดจากจำนวนก็เป็นเรือนหลายพัน และเรือนหลายหมื่น

ยิ่งภายหลังจากการชุมนุมบนถนนราชดำเนินในวันที่ 16 สิงหาคม และมีผลสะเทือนต่อเยาวชนระดับนักเรียน ยิ่งทำให้ปริมาณเหยียบเป็นเรือนแสนและอาจถึงเรือนล้าน

ขณะเดียวกัน ก็สามารถสร้างเอกภาพทางความคิดและข้อเสนอได้อย่างรวดเร็ว

ไม่ว่าจะเป็น 3 ข้อเรียกร้อง หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา ไม่ว่าจะเป็น 2 จุดยืนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแห่งชาติ

และที่สำคัญคือความฝันอันจะสำแดงผ่าน “รัฐธรรมนูญ”

 

จุดยืน และทัศนะ

กับวิธีการต่างกัน

ต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์ “เยาวชน/ประชาชนปลดแอก” ได้ทะลวงเข้าไปในสังคมอย่างทรงพลังและนำไปสู่มุมมองที่แตกต่างกันอย่างรุนแรง แข็งกร้าว

มีทัศนะในแบบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยมีบางส่วนของ 250 ส.ว.ออกมาแวดล้อม โดยมีบางส่วนของพรรคพลังประชารัฐออกมาหนุนเสริมและให้ความเห็นชอบ

แนวโน้มก็คือ มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มี “เบื้องหลัง”

เมื่อมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีเบื้องหลัง จึงมองไม่เห็นบทบาท มองไม่เห็นความหมายและจงใจละเลยต่อข้อเรียกร้องของ “เยาวชน/ประชาชนปลดแอก” โดยเจตนา

ต้องการเตะถ่วง ดำเนินกลยุทธ์ซื้อเวลา

ขณะเดียวกัน ในอีกด้านก็ใช้มาตรการคุมเข้มตั้งแต่ระดับโรงเรียน ระดับวิทยาลัย ระดับมหาวิทยาลัย กระทั่งเปิดไฟเขียวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองคุกคาม

หวังว่ากลยุทธ์หลอกลวงและคุกคามจะสยบการเคลื่อนไหวลงไปได้ในที่สุด

 

สถานการณ์ใหญ่

วิธีวิทยา ต้องคมชัด

สภาพการณ์ทางการเมืองอันเกิดขึ้นจาก “เยาวชน/ประชาชนปลดแอก” ในขณะนี้เรียกร้องเครื่องมือในการทำความเข้าใจอย่างเป็นพิเศษ

หากใช้ “เครื่องมือ” ผิดพลาด ไม่มีประสิทธิภาพ ผลก็ผิดพลาด ไม่มีประสิทธิภาพ

แต่ละจังหวะก้าวไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน หากไม่สามารถทำความเข้าใจต่อสถานการณ์อย่างถูกต้องเป็นจริง

โอกาสที่จะตัดสินใจผิดพลาด ดำเนินการผิดพลาดมีสูงอย่างสูงยิ่ง

มีความจำเป็นต้องอยู่ในจุดยืนที่ยึดกับสภาพความเป็นจริง ทัศนะอันสำแดงออกมาจึงสอดรับกับความเป็นจริง วิธีการอันเป็นทางออกจึงจะไม่เหินจากความเป็นจริง

จุดยืนดี ทัศนะดี วิธีการย่อมดี