สุทธิชัย หยุ่น | บทเรียนสู้วิกฤตโควิด : โปร่งใส, เปิดกว้าง, ฟังเสียงประชาชน

สุทธิชัย หยุ่น

สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนถึง “นวัตกรรมสังคม” ที่ช่วยให้ไต้หวันปราบโควิด-19 ค่อนข้างได้ประสิทธิภาพสูง…เพราะรัฐมนตรีกระทรวงดิจิตอลที่ชื่อ Audrey Tang ได้รับอาณัติให้ใช้เทคโนโลยีสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง

อีกบางตอนของบทสนทนาของผมกับรัฐมนตรีคนเก่งคนนี้ :

ถาม : คุณเป็นรัฐมนตรีดิจิตอล คุณได้ยินเรื่องโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อไหร่ ทั้งในฐานะส่วนตัวและฐานะรัฐมนตรี คุณมีปฏิกิริยาอย่างไร

ตอบ : เราเริ่มตรวจผู้โดยสาร (ที่เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น) 5 คน ตรงนี้เป็นเรื่องส่วนรวม แล้วทุกคนก็รู้ว่ามีบางอย่างคล้ายกับโรคซาร์สเกิดขึ้นอีกครั้ง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ความใส่ใจเรื่องนี้มาก แต่บางคนอาจจะกำลังครุ่นคิดว่าจะลงคะแนนให้ตัวแทนชิงประธานาธิบดีคนไหนดี…เพราะวันที่ 11 มกราคม เป็นวันเลือกตั้งของเราพอดี (หัวเราะ)

ฉันบอกกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศก่อนหน้านั้น 2 วัน…ตอนวันที่ 9 มกราคม ว่าเราคิดว่าซาร์สกำลังจะกลับมาอีก

ถาม : คุณได้ข้อมูลมากจากไหน คุณยืนยันเรื่องนี้ได้ยังไง

ตอบ : เราก็ไม่รู้หรอก ตอนนั้นไม่มีใครรู้ เราส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 2 คนไปอู่ฮั่นเพื่อสืบว่าเกิดอะไรขึ้น

ตอนนั้น นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ที่อู่ฮั่นเริ่มมีภาพแล้วว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

เราส่งคนของเราไปวันที่ 12 มกราคม แต่สำหรับผู้สื่อข่าวและองค์การอนามัยโลกในตอนนั้นยังบอกว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการติดต่อจากคนสู่คน

เพราะฉะนั้น ตรงนี้จึงเป็นเหมือนช่องว่าง 2 สัปดาห์ คือทุกคนที่ไต้หวันพูดตรงๆ เลยคือเตรียมรับมือแล้ว แต่ที่อื่นๆ ในโลกยังรอให้การยืนยันเรื่องนี้อยู่เลยว่าติดต่อจากคนสู่คนหรือเปล่า

ปฏิกิริยาส่วนตัวก็อย่างที่บอกแหละว่าต้องใช้มุขตลกสยบข่าวลือ

ส่วนระบบการรับมือที่ฉันพัฒนากับรัฐมนตรีสาธารณสุขและสวัสดิภาพ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่ขลุกอยู่กับสุนัขตัวนั้น ที่จริงสุนัขตัวนี้เป็นสัตว์ที่เราเลี้ยงไว้อยู่แล้ว ไม่ได้มาจากชัตเตอร์สต็อก เราไม่ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ใดๆ

พอศูนย์ควบคุมโรคมีประกาศออกมาใหม่ พวกเขาก็จะกลับไปบ้านแล้วบอกให้สุนัขโพสท่า เหมือนกับรายการหานางแบบนายแบบเวอร์ชั่นสุนัข แล้วก็ถ่ายรูปมา

ฉันอธิบายให้นักข่าวฟังกับโฆษกของเราว่าการใช้มุขตลกสยบข่าวลือมันได้ผล ซึ่งตอนนั้นเราใช้เบื้องต้นกับการกำจัดความกลัว ความไม่แน่ใจ และความสงสัยเกี่ยวกับการแห่ไปซื้อหน้ากากอนามัยที่มาตอนแรก แล้วเราก็จัดการกับปัญหาตุนกระดาษทิชชู่ แล้วก็อีกหลายเรื่อง

สุดท้ายมันก็กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ ที่ทุกคนเริ่มแชร์มีมสุนัข

ถาม : ปฏิกิริยาแรกคือถ้าหากมีโรคระบาดครั้งใหม่จริง เราควรต้องพร้อมอยู่เสมอ แล้วบทเรียนอะไรจากโรคซาร์สที่คุณนำมาใช้บ้าง

ตอบ : เรามี 2 บทเรียนหลัก ข้อแรกคือ เราจำเป็นต้องมีศูนย์ควบคุมโรคส่วนกลาง หรือซีดีซี

สิ่งที่เรียนรู้จากซาร์สย้อนกลับไปตอนปี 2546 สิ่งที่เทศบาลพูดกับสิ่งที่รัฐบาลกลางพูดเป็นคนละเรื่องเลย ชาวบ้านเลยสับสนเพราะได้รับข้อมูลคนละอย่างจากต่างกระทรวงหรือต่างนายกเทศมนตรี

แต่ซีดีซีคือองค์กรที่ขอให้แต่ละกระทรวงส่งคนของตัวเองมาทำงานด้วยกันก่อนที่จะแถลงข่าวรายวัน

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณกลัวหรือสงสัยอะไร ก็แค่โทร.มา 1922 แล้วคำตอบที่คุณจะได้ กับคำตอบที่ให้นักข่าวที่จะบอกในวันถัดไปจะตรงกัน นี่เป็นบทเรียนข้อแรก

ถาม : ข้อมูลมาจากแหล่งเดียว จากแหล่งเดียวที่มีการรวมศูนย์

ตอบ : มาจากศูนย์กลางแหล่งเดียว แล้วก็กลายเป็นแหล่งข้อมูลทางการ ไม่มีการโต้แย้งจากองค์กรต่างระดับหรือจากกระทรวงต่างๆ ต่อซีดีซี ความสัมพันธ์กันของการฟังและการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

บทเรียนข้อสอง ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการควบคุมการเข้า-ออกประเทศ

เราต้องตรวจสอบการเดินทางเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วเราก็ตั้งซีดีซีขึ้นมาก่อนที่จะมีการติดต่อในประเทศด้วยซ้ำ เราไม่ใช่แค่เป็นฝ่ายตั้งรับเท่านั้น แต่เรายังใช้วิธีการเชิงรุกล่วงหน้า ด้วยการบอกว่า ถ้าคุณกลับประเทศมาจากพื้นที่เสี่ยงสูง เรามีห้องพักโรงแรมให้คุณกักตัว 14 วันนะ แต่ถ้าคุณอยากกักตัวอยู่บ้าน คุณไม่ได้อยู่กับคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ คุณก็ทำได้

แต่ถ้าคุณออกไปนอกพื้นที่ละแวกบ้าน เรารู้จากข้อมูลที่เก็บจากเครือข่ายโทรศัพท์ เราจะส่งข้อความไปหาตำรวจหรือผู้ใหญ่บ้าน แล้วผู้ใหญ่บ้านหรือตำรวจจะไปตรวจว่าเกิดอะไรขึ้นกับโทรศัพท์ของคุณ

เพราะเราสืบหาการติดต่อสัมผัสตั้งแต่แรกที่เข้าประเทศ ทำให้หลายคนได้รับความไม่สะดวกตลอด 14 วันที่ไปไหนมาไหนไม่ได้ หรือถูกจำกัดความเป็นส่วนตัว

แต่พอถึงวันที่ 15 พวกเขากลายเป็นพลเมืองธรรมดาตามรัฐธรรมนูญ เราติดตามพวกเขาไม่ได้อีก นี่เป็นเหตุผลว่าเราทำไมถึงไม่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน แล้วยังสู้กับโรคนี้ภายใต้กฎหมายปกติตามรัฐธรรมนูญ

ถาม : คุณไม่ได้ปิดเมืองเหมือนหลายประเทศ

ตอบ : ไม่มีการปิดเมือง ไม่มีภาวะฉุกเฉิน แต่ที่อู่ฮั่นพวกเขาปิดร้านรวง พวกเขาปิดเมืองทั้งเมืองลง พวกเขาตรวจตราเข้มงวด พวกเขาไม่ให้คนเดินทางไปไหน แต่ที่ไต้หวันคุณบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องทำอย่างงั้น

ถาม : อะไรทำให้ไต้หวันและอู่ฮั่นแตกต่างกันครับ

ตอบ : ฉันคิดว่าหลักๆ เลย มันขึ้นอยู่กับการวางศูนย์กลางอำนาจ

ที่ไต้หวันอย่างที่เราเห็นกันว่ามีแผนที่การกระจายหน้ากาก หรือการที่ประชาชนเตือนกันเองให้สวมหน้ากากเพื่อปกป้องกันและกัน

เราพึ่งพาภาคพลเมือง เพราะฉะนั้น รัฐบาลเลยไม่ได้ควบคุมการเก็บข้อมูล ประชาชนเลือกโหลดแอพพ์มาติดในมือถือเอง เราไม่ได้บังคับให้ใช้บลูทูธหรือเทคโนโลยีติดตามตัวอื่นๆ เลย

สรุปสั้นๆ คือ ใครที่มีไอเดียดีๆ เราจะขยายไอเดียนั้นออกไป

แต่คนที่ควบคุมก็ยังเป็นภาคพลเมือง ในขณะที่อีกหลายประเทศ ประชาชนยอมให้รวมข้อมูลทุกอย่างไว้ที่ศูนย์กลางที่คอยสอดส่องประชาชนเอง

ดังนั้น ถ้าคุณทำให้ภาครัฐโปร่งใสต่อประชาชนอย่างที่เราทำ ซึ่งก็คือการให้อำนาจกับภาคประชาสังคม ตรงนี้ต่างหากคือความแตกต่างที่สำคัญ และเป็นทิศทางที่ต่างกัน

ถาม : การระบาดครั้งนี้พิสูจน์เรื่องบางเรื่องว่าอะไรให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าใช่ไหมครับ คุณคิดว่าไง ครั้งนี้ทำให้เปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนระหว่างการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางและการกระจายอำนาจ

ตอบ : ฉันคิดว่าทั้ง 2 (แนวคิด) จะถูกนำไปใช้มากขึ้น เพราะยังมีอีกหลายประเทศที่รัฐบาลไม่เชื่อใจภาคประชาสังคมหรือประชาชนไม่เชื่อใจรัฐบาล แต่กลับเชื่อใจภาคเอกชน บริษัทข้ามชาติ ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ใช่ไหม

ถาม : ถูกต้อง

ตอบ : ความจริงคือคุณจะเชื่อข้อมูลมากกว่าอะไรอย่างอื่นหมด ฉันเลยคิดว่ามันไม่เกี่ยวกับว่าจะชนะหรือแพ้ แต่มันน่าจะเป็นแนวโน้มดั้งเดิมของสังคมมากกว่า แล้วก็ถูกเร่งขึ้นด้วยไวรัสโคโรนาเหมือนกับที่เราเจอตอนซาร์ส

หลังจากซาร์สระบาด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ฝ่ายนิติบัญญัติไปคิดวิธีขึ้นมาใหม่ ไม่ให้สังคมต้องเลือกระหว่างความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยสาธารณะ

เราก็เลยคิดวิธีการที่ไม่ต้องปิดเมือง เราคิดวิธีสื่อสารด้วยข้อมูลด้วยการใช้อารมณ์ขันและการไม่เซ็นเซอร์ เพราะฉะนั้น ไม่ปิดเมือง ไม่เซ็นเซอร์ (ข้อมูล) นั่นคือทางที่ไต้หวันเลือกเดิน

ถาม : แต่ตอนที่คุณเริ่มทดลองใช้ครั้งนี้ คุณก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันจะได้ผลหรือไม่ได้ผลมากน้อยแค่ไหนใช่ไหม

ตอบ : ไม่เลย เราพึ่งพาภาคประชาสังคมให้ช่วยกันเสนอไอเดียที่ดีกว่า (ของทางการ)

แผนที่หน้ากากก็ไม่ใช่ไอเดียของฉัน แต่เป็นไอเดียของนักนวัตกรรมสังคมคนรุ่นใหม่ในไถหนานชื่อ ฮาเวิร์ด อู๋

เขาเขียนโปรแกรมและออกเงินเอง แต่ปัญหาคือเขาติดหนี้กูเกิล 20,000 ดอลลาร์ในวันที่ 2 เขาจ่ายค่าใช้เอพีไอไม่ไหว เราก็เลยเอาไอเดียเขามาแล้วก็สนับสนุนเขาที่เขาพยายามเขียนโค้ดโอเพ่นซอร์สด้วยการรับความเสี่ยงและการปกป้องข้อมูล

แต่แอพพลิเคชั่นสามารถทำหน้าที่ได้มากกว่า 140 อย่าง ไม่ได้มีแค่แผนที่ เพราะผู้ใช้ที่บกพร่องด้านการมองเห็นคงใช้แผนที่ไม่ง่ายนัก ก็เลยเสริมไลน์แชตบ็อตขึ้นมาในวันแรกที่ออนไลน์ แล้วก็มีสิริ หรือกูเกิล นาว แอสซิสแตนต์ส หรือเครื่องมืออื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าถึงได้

ถ้าเป็นความคิดฉันจริงๆ คงเขียนโค้ดเครื่องมือแค่ชิ้นเดียว ไม่ใช่ 100 กว่าชิ้น

นี่คือเรื่องราวจากปากคำของรัฐมนตรีดิจิตอลไต้หวันคนดังที่น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทยได้ในหลายๆ แง่มุม

เราสามารถนำมาปรับใช้ทุกๆ ด้านโดยไม่ต้องรอวิกฤตครั้งใหม่ระเบิดต่อหน้าเราใช่ไหม?