เพ็ญสุภา สุขคตะ : กองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับสงครามครั้งสุดท้าย

เพ็ญสุภา สุขคตะ

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็น “วีรกษัตริย์นักรบ” ผู้กอบกู้เอกราชของชาติไทย ตลอดรัชสมัยที่ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลา 15 ปี พระองค์ทรงพำนักอยู่ในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยาเพียงช่วงเวลาสั้นๆ รวมแล้วไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น เนื่องจากระยะเวลาที่เหลือทั้งหมดอีก 13 ปี พระองค์ต้องทรงกรำศึกในสนามรบตลอดพระชนม์ชีพ

ทั้งนี้ ยังไม่นับยุคสมัยอันทุกข์เข็ญในวัยหนุ่มฉกรรจ์ก่อนที่พระองค์จะทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพรรษาได้ 35 อีกกว่า 20 ปี

หลังจากสงครามยุทธหัตถีครั้งสำคัญกับพระมหาอุปราชาที่หนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2135 (ซึ่งต่อมาวันนี้ได้รับการประกาศให้เป็น “วันกองทัพไทย”) แล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ยกทัพไปปราบข้าศึกศัตรูทั่วทิศานุทิศอีกหลายครั้ง

ไม่เพียงแต่ปัจจามิตรฝ่ายพม่าเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการกระด้างกระเดื่องของหัวเมืองรายรอบสยาม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหัวเมืองมอญแถบทวาย มะริด ตะนาวศรี ตลอดจนหัวเมืองละแวก (เขมร) และในดินแดนลาวอีกด้วย

ทำให้พระราชอาณาเขตในรัชสมัยของพระองค์มีแว่นแคว้นกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่ารัชกาลใดๆ ในประวัติศาสตร์สยาม

จนกระทั่งวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2148 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคต ในสงครามครั้งสุดท้ายที่พระองค์ทรงยกกองทัพไพร่พลโยธาจำนวนนับแสน (เอกสารบางเล่มระบุ 1 แสน บางเล่มระบุ 2 แสน) เพื่อยึดคืน “เมืองนาย” และบุกโจมตี “กรุงอังวะ”

ด้วยเหตุผลที่ว่า พระเจ้าสีหสุรมหาธรรมราชา กษัตริย์กรุงอังวะ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง กำลังขยายพระราชอำนาจอย่างกว้างขวางมายังรัฐไทใหญ่ และได้เข้ายึดเมืองนายซึ่งเป็นเมืองลูกของเชียงใหม่ ในขณะนั้นล้านนาประเทศก็เป็นเมืองในขอบขัณฑสีมาของกรุงศรีอยุธยาด้วย

การกระทำของพระเจ้ากรุงอังวะดังกล่าวเท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยตรง

 

ปริศนาสถานที่สวรรคต

ความเห็นทางวิชาการของนักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงกันอยู่ถึงคำว่า “เมืองห้างหลวง” จุดที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตนั้น อยู่ที่ใดกันแน่ระหว่าง

ข้อสันนิษฐานแรก ตามทฤษฎีเดิมเคยเชื่อกันว่า “เมืองห้างหลวง” คือเมืองหาง อยู่ในประเทศพม่า ตามที่พงศาวดารคำให้การของขุนหลวงหาวัด กล่าวว่า “หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปสักการะพุทธบาทฮังฮุ้ง (รังรุ้ง ซึ่งเป็นพระพุทธบาทสี่รอย) แล้ว พอเสด็จลงมาก็ทรงพระประชวรด้วยไข้ป่า

แม้ปัจจุบันจะไม่มีภาพถ่ายยืนยันว่าพระพุทธบาทฮังฮุ้งที่เมืองหางมีจริงหรือไม่ เหตุที่บริเวณนี้เป็นเมืองปิด ไม่มีใครสามารถเข้าถึง แต่จากการศึกษาเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัย ในตอนที่กล่าวถึงช่วงท่านต้องอธิกรณ์ครั้งสุดท้ายปี 2478-2479 นั้น

เอกสารระบุชัดว่า ศิษยานุศิษย์ของท่านจำนวนมากกว่า 30 รูปได้เดินทางออกจากเชียงใหม่ ลำพูนหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่พระพุทธบาทฮังฮุ้งเมืองหาง

เมืองหางที่คนไทยรู้จัก คือการค้นพบสถูปร้างองค์หนึ่ง ซึ่งคนไทยกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าเป็นสถานที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงได้ทำการขุดดินและเขม่าเถ้าจากบริเวณสถูปแห่งนั้น นำมาก่อสร้างใหม่ในเขตประเทศไทย ณ ที่เมืองงาย อำเภอเชียงดาว ก่อนที่พม่าจะทำลายสถูปองค์ดังกล่าวทิ้งไป

ข้อสันนิษฐานที่สอง ปี พ.ศ.2557 ช่วงมีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ภาคอวสาน โดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ “ท่านมุ้ย” นั้น กรมศิลปากรได้จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ

ได้ข้อสันนิษฐานใหม่ว่า “เมืองห้างหลวง” ควรหมายถึงบริเวณอำเภอ “เวียงแหง” มากกว่า เนื่องจากพงศาวดารระบุว่าขณะนั้นทัพหน้าของสมเด็จพระเอกาทศรถได้ยกไปถึงเมืองฝาง พอทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระเชษฐา (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ที่เมืองห้างหลวง สมเด็จพระเอกาทศรถได้ยกทัพมาสมทบกับทัพหลวง

เป็นธรรมเนียมของกองทัพหน้าที่ต้องเดินทางล่วงหน้าไปก่อนกองทัพหลวง ซึ่งเมืองหางในพม่าอยู่เหนือเมืองฝาง ส่วนเวียงแหงอยู่ใต้เมืองฝาง

ดังนั้น เมืองห้างหลวงควรเป็นเมืองที่อยู่ตอนล่างของเมืองฝางมากกว่าหรือไม่ อีกทั้งมีการตั้งคำถามว่า พระบาทฮังฮุ้งยังมีอีกแห่งหนึ่งที่ชื่อซ้ำกัน นั่นคือพระพุทธบาทสี่รอยที่สะลวง อำเภอแม่ริม จะใช่ “พระบาทฮังฮุ้ง” ที่แม่ริมไหมที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชแวะขึ้นไปกราบ ก่อนที่จะลงมาแล้วเสด็จสวรรคต?

 

อุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

“อุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ถือกำเนิดขึ้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอำเภอเชียงดาว จัดสร้างโดย “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” มีศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน

ไม่ว่าจุดสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะเป็นเมืองหางในพม่าหรือที่บริเวณใกล้กับ “พระธาตุแสนไห” ตำบลทุ่งแก้ว อำเภอเวียงแหง ก็ตาม สถานที่จัดตั้งอุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ต้องถือว่าบริเวณที่จัดตั้งอุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่เชียงดาวแห่งนี้ มีความเกี่ยวข้องกับการสงครามครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอย่างแนบแน่น

เพราะตั้งอยู่ใกล้ทั้งกับสถูปพระบรมอัฐิสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่เมืองงาย และใกล้ทั้งเส้นทางเมืองคอง เมืองแหง ตามทฤษฎีใหม่

จึงถือว่าที่ตั้งของอุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงได้กับทั้งสองข้อสันนิษฐาน

อุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งนี้ ขึ้นเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่นำเสนอประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลขนาดเท่าคนจริง จำลองเหตุการณ์การตั้งกระบวนทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในคราวที่เตรียมเสด็จพยุหยาตราทางสถลมารค เพื่อนำขบวนทัพหลวงเคลื่อนสู่สมรภูมิรบพิชิตกรุงอังวะ ถือเป็นมหาสงครามครั้งสุดท้ายของพระองค์

ดิฉันได้รับเกียรติจากคุณมณี นามศิริพงศ์พันธุ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เชิญให้เป็นหนึ่งในคณะทำงานฝ่ายวิชาการ เพื่อร่วมพิจารณาเนื้อหาและรูปแบบที่มูลนิธิฯ ต้องการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์หน้าสำคัญว่าด้วย “กองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสงครามครั้งสุดท้าย”

มูลนิธิมีความตั้งใจจะนำเสนอฉากประวัติศาสตร์ โดยใช้จุดเริ่มต้นกระบวนทัพ ณ พระตำหนักป่าโมก จังหวัดอ่างทอง จากนั้นมีการทำพิธี “ตัดไม้ข่มนาม” ที่ตำบลเอกราช จังหวัดอ่างทอง โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแม่ทัพหลวงทรงช้างต้น “ศรีชัยศักดิ์” เป็นพระคชาธาร ส่วนพระอนุชาธิราช สมเด็จพระเอกาทศรถ แม่ทัพหน้า ทรงช้าง “มหาศักดานุภาพ” เป็นพระคชาธาร

คณะทำงานฝ่ายวิชาการของมูลนิธิได้ช่วยกันศึกษาค้นคว้ารูปแบบการจัดวางกองกำลังทหารทุกหมู่เหล่าอย่างละเอียด เพื่อให้ผลงานออกมาทรงคุณค่าเสมือนการจำลองเหตุการณ์จริง อาทิ กองทัพจาตุรงคเสนา กองทัพช้าง กองทัพม้า สมุหโยธา ไพร่ราบ กองเสบียง ภูษาภรณ์ เครื่องศาสตราวุธต่างๆ ให้ถูกต้องตรงตามตำราพิชัยสงครามฉบับดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาทุกประการ

อนึ่ง รูปปั้นบุคคลที่ร่วมกระบวนทัพจำนวนมหาศาลนี้ ล้วนคลุกเคล้าปะปนไปด้วยผู้คนหลากหลายทางชาติพันธุ์ เนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีความรอบรู้การศึกตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งวิธีการรบแบบมอญ พม่า ไทใหญ่ สยาม เขมร ล้านนา ล้านช้าง ผสมผสานเข้ากับความรู้ใหม่ของชาวตะวันตกเช่นโปรตุเกส สเปนอีกด้วย

ฉะนั้น การศึกครั้งสุดท้ายของพระองค์นี้ จึงถือว่าเป็นการรวบรวมองค์ความรู้อันยิ่งใหญ่ของทุกสรรพยุทธที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การรบของอุษาคเนย์

 

ประชาชนเรียนรู้อะไรจากอุทยานฯ

สิ่งที่ผู้ชมจะได้รับเมื่อมาเยือนอุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีอย่างน้อย 3 ประการคือ

ประการแรก ได้ชื่นชมประทับใจในความอลังการของการจำลองกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชผ่านงานประติมากรรมปูนปั้นชิ้นเยี่ยมอันเกริกตระการ นำโดยประติมากรชาวเชียงดาว “อ้ายสล่าอัญเชิญ โกฏแก้ว” ผู้คร่ำหวอดเรื่องการปั้นรูปเหมือนบุคคลและสัตว์

ทีมงานผู้จัดสร้างมีความพิถีพิถันใส่ใจรายละเอียดทั้งบุคลิกลักษณะเฉพาะของแม่ทัพนายกองหรือพลทหารแต่ละนาย ความแตกต่างของสีหน้า อารมณ์ ท่วงท่า พัสตราภรณ์ เครื่องประกอบชั้นยศ อาวุธยุทโธปกรณ์ พาหนะศึก ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างได้รับการวางแผนตามกลศึกจากตำราพิชัยสงคราม ที่ถูกนำมาถ่ายทอดอีกครั้ง ผ่านกระบวนการตรวจสอบของผู้รู้หลากหลายสรรพวิทยาการ

ประการที่สอง ได้เรียนรู้ถึง “เบื้องหลัง” ของกลุ่มบุคคลหลากหลายกลุ่มที่มีส่วนช่วยผลักดันให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกอบกู้เอกราชหรือกรำศึกในแต่ละครั้งได้สำเร็จ ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เคียงคู่ขนานไปกับประติมากรรมกองทัพนักรบที่เป็นส่วนจัดแสดงใน “ฉากหน้า”

อุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งนี้ยังได้จัดทำองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับ “เบื้องหลัง” ของกองทัพอีกด้วย อาทิ ฝ่ายเตรียมกองเสบียง น้ำท่าข้าวปลาอาหาร ฝ่ายหาหยูกยา ฝ่ายดูแลนายทหารที่ได้รับบาดเจ็บ

ประการที่สาม จังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยได้แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง โดยสถานที่ตั้งอุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งนี้ทรงคุณค่าในตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

นั่นคือตั้งอยู่ใกล้กับ “ดอยหลวงเชียงดาว” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวเชียงใหม่นับถือว่าเป็นที่สิงสถิตของ “เจ้าหลวงคำแดง” อารักษ์เมืองเชียงใหม่

รายรอบถ้ำหลวงเชียงดาวยังมีถ้ำหินปูนหินงอกหินย้อยอีกหลายถ้ำอันวิจิตรงดงาม บางถ้ำพบร่องรอยของพิธีกรรมการฝังศพมนุษย์โบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุกว่าหมื่นปีในเรือขุด ดังที่เรียกกันทางศัพท์วิชาการว่า “ถ้ำผีแมน” (แมนภาษาล้านนาแปลว่าโผล่หน้า)

นอกจากนี้แล้ว เชียงดาวยังเป็นเส้นทางธรรมยาตราจาริกบุญของครูบาเจ้าศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา ที่ได้มาสร้างวัดวาอารามหลายแห่งอีกด้วย

คงอีกไม่นาน เมื่อการดำเนินงานมีความคืบหน้าโดยลำดับ จะมีการเปิดตัวแนะนำโครงการรวมทั้งจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยแหล่งโบราณคดีที่เชียงดาว และเส้นทางทัพครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเร็วๆ นี้