คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ก้าวแรก ของเทวสถานบ้านเกิดพระรามในอโยธยา กับการเมืองอินเดีย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ท่ามกลางโควิดที่ยังระบาด เมื่อวันที่ห้าสิงหาคมที่ผ่านมา อินเดียมีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องไลฟ์สดให้ผู้ชมทั้งประเทศติดตาม คือการที่นายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังเมืองอโยธยา (Ayodhaya) ในรัฐอุตตรประเทศ เพื่อประกอบพิธี “ภูมิปูชัน” หรือการบูชาพื้นธรณี ซึ่งตามด้วยพิธีวางศิลาฤกษ์ตามขนบฮินดูเรียกว่า “ศิลานยาส” ณ จุดที่จะทำการสร้างเทวสถาน “รามชันภูมี” หรือเทวสถานบ้านเกิดของพระราม บนพื้นที่เดิมของมัสยิดบาบรีที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16

พิธีกรรมดำเนินไปตามประเพณีฮินดูโบราณอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนศิลาฤกษ์ที่ฝังลงไปนั้นทำด้วยเงินแท้หนักสี่สิบกิโลกรัม มีการเชิญบุคคลสำคัญรวมทั้งนักบวชฮินดูที่มีชื่อเสียงนับร้อยคนมาเป็นสักขีพยาน

ก่อนเริ่มพิธี นายกฯ โมทีได้เดินทางไปสักการะเทวรูป “รามลัลลา วิราชมัน” หรือกุมารพระราม ซึ่งจะถูกนำมาประดิษฐานในเทวสถานที่สร้างขึ้นใหม่

โดยไม่มีใครทราบล่วงหน้า นายกฯ โมทีก้มกราบอัษฎางคประดิษฐ์ นอนราบไปกับพื้นเบื้องหน้าเทวรูปองค์น้อยๆ นั้นอยู่ชั่วขณะหนึ่ง

ภาพนี้สร้างความสะเทือนอารมณ์ให้กับผู้ศรัทธาที่รับชมเป็นจำนวนมาก

เทวรูปพระรามลัลลา วิราชมันนั้น ลือกันว่ามาปรากฏโดยปาฏิหาริย์ในมัสยิดบาบรี แต่ที่จริงมีการลักลอบนำมาวางไว้ในเวลากลางคืน เพื่อที่องค์กรวิศวฮินดูปริษัท (VHP) ซึ่งเป็นองค์กรฮินดูฝ่ายขวา จะได้รณรงค์ยึดคืนพื้นที่และสร้างเทวสถานของพระรามขึ้นมาแทนมัสยิด

หลังเสร็จพิธี นายกฯ โมทีกล่าวสุนทรพจน์ “อินเดียเปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึก หลังการรอคอยหลายสิบปีได้สิ้นสุดลง คนนับล้านๆ คงไม่อยากเชื่อว่าจะได้เห็นวันนี้ในช่วงชีวิตของเขา หลายปีที่พระรามลัลลาต้องประทับอยู่ในเต็นท์ บัดนี้พระองค์จะได้ประทับอยู่ในเทวสถานอันยิ่งใหญ่ซึ่งสร้างโดยผู้ภักดีในพระราม วันนี้ รามชนมาภูมีได้รับการปลดปล่อยแล้ว!”

 

แม้พิธีจะจบลง แต่บรรยากาศของการเฉลิมฉลองยังคงมีอยู่ในเมืองอโยธยาและในหลายแห่งของอินเดีย กระนั้นเหตุการณ์นี้ก็ยังทำให้เกิดข้อวิจารณ์ด้วยในเวลาเดียวกัน หากท่านผู้อ่านยังจำได้ ผมเคยเขียนถึงบ้านเกิดของพระรามหลายครั้ง รวมทั้งประเด็นทางการเมือง

แน่นอนว่า พิธีวางศิลาฤกษ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น คือผลพวงของความขัดแย้งยาวนานนับศตวรรษในสังคมอินเดีย และผมคิดว่ามันยังไม่ถึงปลายทาง แม้จะดูเหมือนเป็นปลายทางแล้ว

ที่จริงต้องกล่าวว่า ความพยายามจะสร้างเทวสถานของพระรามมีมาตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีราชีพ คานธี แต่ความพยายามนั้นไม่สำเร็จผล ส่วนการทำพิธีวางศิลาฤกษ์ของโมทีก็มิใช่พิธีวางศิลาฤกษ์ครั้งแรก เพราะในปี 1989 องค์กรวิศวฮินดูปริษัทเคยทำพิธีนี้มาแล้ว ตามมาด้วยความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นมีการทำร้ายและการจลาจลตลอดทั้งอินเดีย มีผู้เสียชีวิตนับพันคนในปี 1992

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ศาลสูงอินเดียไม่อนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ไม่ว่าจากฝ่ายใด จนถึงเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2562) ศาลสูงอินเดียจึงมีคำตัดสินให้มอบพื้นที่มัสยิดบาบรีให้กับพระรามลัลลาวิราชมัน และตามมาด้วยการรณรงค์โครงการจัดสร้างเทวสถานพระรามของพรรคภารติยชนตะ (BJP) ซึ่งนายกฯ โมทีสังกัดอยู่

นายกฯ โมทีเองเคยเป็นผู้ดำเนินโครงการรณรงค์การสร้างเทวสถานพระรามของพรรคบีเจพีในปี 1990 และเมื่อปี 1992 เขาได้มาเยือนเมืองอโยธยาพร้อมกับปฏิญาณไว้ว่า จะกลับมาอีกต่อเมื่อเทวสถานของพระรามได้สร้างขึ้นเท่านั้น

บัดนี้ความฝันของโมทีและบีเจพีเป็นจริงแล้ว

แต่นี่คือความฝันของคนอินเดียทั้งปวงหรือไม่

 

การสร้างเทวสถานนี้คาดว่าจะใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล โดยใช้รูปแบบ “นคร” (nagara) คล้ายคลึงกับเทวสถานโสมนาถที่สร้างขึ้นใหม่เช่นกัน

การสร้างเทวสถานพระรามเป็นส่วนหนึ่งการสะท้อนแนวคิด “รามราชยะ” หรือการปกครองแบบพระราม แนวคิดนี้เชื่อว่า สมัยที่พระรามปกครองเป็นยุคแห่งความสุขสมบูรณ์

คำคำนี้จึงมักใช้โปรโมตในการเมืองอินเดียจากฝ่ายสนับสนุนแนวคิดฮินดูเสมอ เหมือนกับคำว่ายูโธเปียหรือยุคพระศรีอาริย์ เพื่อสร้างภาพว่ายุคสมัยแห่งความสุขจะกลับมาอีกครั้ง

ดังนั้น ภาพพระรามที่ฝ่ายฮินดูอนุรักษนิยมนำเสนอไม่ว่าจะบีเจพี วีเอชพี หรือองค์กรอื่นก็มักใช้รูปพระรามในโหมดนักรบ ยืนจังก้าพร้อมอาวุธในมือ ปรากฏอยู่เพียงองค์เดียวพร้อมต่อสู้กับศัตรู ผิดกับรูปเคารพพระรามในอดีตที่มักแวดล้อมด้วย “บริวาร” (หมายถึงครอบครัว) ที่อบอุ่นและเป็นมิตรกว่า

แต่ไม่สร้างความเร้าอารมณ์ได้เท่า

 

ความคิดแบบรามราชยะ หรือแนวคิดฮินดุตวะ (Hindutva) การปกครองด้วยแนวคิดและคุณค่าแบบฮินดูซึ่งพรรคบีเจพีนำเสนอกำลังแพร่ขยายมากขึ้นในสังคมอินเดีย ที่จริงการย้อนไปสู่ “ขวา” เป็นกระแสทางการเมืองการปกครองทั่วโลก

ผมไม่ใช่นักรัฐศาสตร์จึงไม่อาจวิเคราะห์ถึงสาเหตุ รวมทั้งยังมิอาจทำนายได้ว่าแนวโน้มจะเปลี่ยนไปเช่นใด อีกทั้งยากที่จะไปสนทนาแลกเปลี่ยนกับมิตรสหายที่เป็นพราหมณ์ชาวอินเดียหรือชาวฮินดูโดยเฉพาะที่อาวุโสกว่า เพราะหลายท่านก็ได้เทิร์นขวาไปอย่างเต็มที่เสียแล้ว

หากคุยเรื่องนี้กัน ท่านก็คงคิดว่าผมไม่อาจเข้าใจได้เพราะผมเป็น “คนนอก” แม้จะรักชอบอินเดียอย่างไร อินเดียก็มิใช่มาตุภูมิหรือ “ภารตมาตา” อย่างพวกท่าน

ทั้งนี้ ต้องย้ำนะครับว่า อินเดียเป็นประชาธิปไตยและเป็นรัฐแบบฆราวาสวิสัย (secular) อีกทั้งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประเพณี ศาสนาและความเชื่อ

แต่การที่รัฐบาลมีแนวนโยบายและดำเนินการอย่างที่เป็นอยู่ คงตั้งคำถามได้ว่า รัฐบาลอินเดียยังคงซื่อตรงต่อความเป็นรัฐประชาธิปไตยและความเป็นรัฐฆราวาสวิสัยเพียงใด

ช่วงนี้นักปกรณัมวิทยาคนโปรดของผม คุณเทวทัตต์ ปัฏฏานายก ดูจะเหนื่อยมากเป็นพิเศษ เพราะในเฟซบุ๊กแกพยายามจะชี้ชวนให้คนเห็นความแตกต่างระหว่าง “รามราชยะ” กับ “รามธรรม” และ “ฮินดุตวะ” กับ “ฮินดูธรรม” แต่แกก็โดนขวาจัดหรือสลิ่มในอินเดียด่าซะไม่มีชิ้นดี

ทั้งที่อันหนึ่งเป็นการเมืองแบบชาตินิยม ศาสนานิยม อีกอันเป็นศีลธรรมเพื่อมนุษยชาติ ซึ่งเราอาจมองเห็นความแตกต่างได้ หากเราเอาอคติออกไป

 

ผมอยากจบบทความนี้ด้วยถ้อยคำบางส่วนของประตาป ภาณุ เมห์ตา (BP Mehta) นักหนังสือพิมพ์ และผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายสาธารณะอินเดียต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The India Express ในหัวข้อ “เทวสถานของพระรามแห่งอโยธยา คือ การยึดเป็นอาณานิคมแรกที่แท้จริงของศาสนาฮินดูโดยอำนาจทางการเมือง” (Ayodhya”s Ram temple is first real colonisation of Hinduism by political power)

“พวกเขาจะกล่าวว่า พระรามคือสัญลักษณ์ของชาติ เป็นสัญลักษณ์ความภาคภูมิของฮินดู แต่พระรามจะทรงยินยอมให้พระองค์กลายเป็นบางสิ่งที่โหดร้ายและน่ารังเกียจ เป็นสัญลักษณ์ของชาตินิยมของคนบางกลุ่มหรือ?

“โปรดทอดพระเนตรไปยังคนเหล่านั้น ทั้งพวกนักการเมืองและพวกคุรุทั้งหลาย ผู้กล่าวอ้างพระนาม แต่ในอีกมือหนึ่งของพวกเขาก็มีทั้งเลือด อำนาจ และการข่มขู่ พระนามของพระองค์จะถูกใช้ไปเพื่อค้ำจุนอำนาจส่วนตนอันหยาบช้า”

“เทวสถานพระรามแห่งอโยธยา คืออนุสาวรีย์แห่งการแบ่งแยกและการใช้เสียงส่วนใหญ่

บังคับเสียงส่วนน้อย”