สูตรสำเร็จในชีวิตตามหลักพุทธศาสนา ว่าด้วยการแสดงความเคารพ

สูตรสำเร็จในชีวิต (24)

ความเคารพ (2)

เขียนไปเมื่อครั้งก่อนว่า คำว่า “เคารพ” มาจากคำว่า “ครุ” ที่แปลว่าหนัก

ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งทักว่า แปลเอาเองหรือเปล่า ขอเรียนว่ามิได้แปลเอาเองครับ โบราณจารย์ท่านแปลและอธิบายมาก่อน ผมจำท่านมาว่าอีกทีหนึ่ง

ถ้าท่านยังไม่ “สนิทใจ” ลองดูคำอื่นๆ ที่ท่านใช้เกี่ยวกับการแสดงความเคารพก็ได้

มีข้อน่าสังเกตคือ คำบาลีนั้น ถ้าเป็น “การแสดงความเคารพ” ท่านใช้คำว่า ครุกาโร แปลตามตัวอักษรว่า “การกระทำให้หนัก”

ถ้าเป็นคำกิริยาพูดถึงคนเคารพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ท่านใช้คำว่า ครุกโรติ (ครุ+กโรติ) แปลตามตัวอักษรว่า “ย่อมกระทำให้หนัก”

ถ้าพูดถึงคนที่ควรเคารพท่านใช้คำว่า ครุกาตพฺโพ (ครุ+กาตพฺโพ) แปลตามตัวอักษรคือ “ควรทำให้หนัก” หรือ ครุฏฺฐานีโย (ครุ+ฐานีโย) แปลตามตัวอักษรว่า “ผู้ควรแก่ฐานะที่หนัก”

พอมองเห็นนะครับว่า คำว่า “หนัก” เกี่ยวพันกับ “ความเคารพ” อย่างไร

เหมือนกับคำว่า อุรโค ที่แปลว่า “สัตว์ไปด้วยอก” หมายถึงงู สุนโข แปลตามอักษรว่า “สัตว์ขุดดินเก่ง” หมายถึง หมา ถ้าไม่ถอดความถึงสองชั้นก็ไม่มีทางมองเห็นว่า “อก” กับ “งู” “ดิน” กับ “หมา” มันเกี่ยวกันอย่างไร

โอ้ย ปวดหัว เข้าเรื่องความเคารพต่อดีกว่า

การแสดงความเคารพ เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นคนที่อารยธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม อย่างวัฒนธรรมการแสดงความเคารพของไทยเรา คือการไหว้อันอ่อนช้อยสวยงาม ชาติอื่นอาจมีการไหว้กัน เช่น อินเดีย ลังกา แต่ทำได้ไม่อ่อนช้อยงดงามเท่าคนไทยสมัยก่อน

ที่ใช้คำ “สมัยก่อน” ก็เพราะคนไทยสมัยนี้ไหว้แทบไม่เป็นเอาเสียเลย เจ้าเงาะที่ “ประนมมือเมินหน้าท่าแบกขวาน” ยังจะไหว้สวยกว่าคนสมัยนี้ด้วยซ้ำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะหันไปเห่อการ “จับมือ” แบบวัฒนธรรมฝรั่งกันมากขึ้น

ที่น่าขำก็คือ เรารณรงค์ให้เด็กรู้จักไหว้ผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่กลับไม่เห็นความสำคัญ งานมอบรางวัลแก่นักเรียนผู้ชนะประกวดมารยาทไทยครั้งหนึ่ง (สามสี่ปีที่ผ่านมา) ผู้ใหญ่ที่เป็นประธานมอบรางวัลแก่เด็กยื่นมือให้เด็กจับ เด็กยกมือไหว้อย่างนอบน้อมไม่ยอมจับมือตอบ เห็นแล้วสะใจดี

ถ้าอยากให้เยาวชนในชาติรู้จักสัมมาคารวะ รู้จักกราบ รู้จักไหว้ ผู้ใหญ่ก็ควรปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างด้วย

ไม่ใช่สักแต่พูดๆ แล้วไม่ทำ

สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเห็นพระไม่เคารพกันตามลำดับอาวุโส พระองค์ทรงต้องการให้สำนึกว่า คนที่เจริญแล้วต้องรู้จักเคารพกัน จึงทรงเล่านิทานให้พวกเธอฟังว่า

มีสัตว์สามตัวคือ ช้าง ลิง นกกระทา อาศัยอยู่ในป่า แรกๆ ต่างก็ไม่เคารพกัน

วันหนึ่งสัตว์ทั้งสามตกลงกันว่า ใครเกิดก่อนจะได้รับการเคารพจากสัตว์อื่น

แล้วการพิสูจน์ “อาวุโส” ก็เกิดขึ้นโดยเอาต้นไทรที่มองเห็นเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ใครเห็นต้นไทรนี้มาตั้งแต่เมื่อใด

ช้างบอกว่า ตั้งแต่ตนยังเป็นลูกช้าง

ลิงบอกว่า ตนก็เห็นมันมาตั้งแต่เป็นลูกลิง

ฝ่ายนกกระทาบอกว่า พวกท่านรู้ไหม แต่ก่อนต้นไทรมิได้อยู่ที่นี้ ฉันกินผลไทรจากป่าไกลโพ้นแล้วมาขี้ไว้ตรงนี้ ไทรต้นนี้เกิดจากเมล็ดไทรที่ฉันขี้ไว้ สำแดงว่าฉันแก่กว่าพวกท่าน

ช้างและลิงต่างก็ยกให้นกกระทาเป็นตั้วเฮียตั้งแต่บัดนั้น

สัตว์เดียรัจฉานมันยังรู้จักสัมมาคารวะต่อกัน แล้วคนล่ะจะเรียกว่าผู้เจริญได้อย่างไร ถ้าแม้การกราบ การไหว้ยังทำไม่เป็น