Carolee Schneemann ศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะแสดงสดที่สำแดงพลังอำนาจของสตรีเพศ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เล่าเรื่องนิทรรศการศิลปะติดๆ กันมาหลายตอน คราวนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการหยิบเอาเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญอีกคนมาเล่าให้ฟังกันดีกว่า

ศิลปินผู้นี้เป็นหนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกงานศิลปะแสดงสด, รวมถึงเป็นผู้บุกเบิกศิลปะแบบเฟมินิสต์ (Feminist art) และเป็นศิลปินผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า

แคโรลี ชนีแมนน์ (Carolee Schneemann) ศิลปินศิลปะแสดงสด, ศิลปะเชิงทดลอง, ภาพยนตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย

เธอเป็นที่รู้จักจากผลงานหลากสื่อต่างแขนง ทั้งงานจิตรกรรม, สื่อผสม, มัลติมีเดีย และศิลปะแสดงสดที่ใช้ร่างกายเป็นสื่อ หรือบอดี้อาร์ต (Body art)

ถึงแม้จะเป็นที่รู้จักจากศิลปะแสดงสดและสื่ออันหลากหลาย แต่แรกเริ่มเดิมที ชนีแมนน์เริ่มต้นอาชีพของเธอด้วยการทำงานจิตรกรรมในรูปแบบของศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์

เธอกล่าวว่า “ฉันเป็นจิตรกร และตอนนี้ฉันยังคงเป็นจิตรกรอยู่ และจะตายในฐานะจิตรกร ทุกสิ่งที่ฉันทำล้วนแล้วแต่อยู่บนหลักการของการทำงานบนผืนผ้าใบ”

แต่ด้วยความที่เธอเบื่อหน่ายการเชิดชูพลังแห่งความเป็นชายอันล้นเหลือของศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ ในนิวยอร์ก เธอจึงหันเหมาทำงานศิลปะแสดงสดแทน

ชนีแมนน์เริ่มรับเอามุมมองในแบบสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ในสมัยที่เธอเรียนศิลปะอยู่ จากการต้องเผชิญกับค่านิยมที่สนับสนุนความเหลื่อมล้ำทางเพศในวงการศิลปะอเมริกันในยุค 1950s และทัศนคติทางเพศอันคับแคบของครูสอนศิลปะเพศชาย รวมถึงการลบเลือนบทบาทและอิทธิพลของศิลปินในประวัติศาสตร์ศิลปะที่ครอบงำโดยเพศชายมาอย่างยาวนาน

เธอเริ่มผสมผสานแนวคิดแบบเฟมินิสต์เข้ากับงานศิลปะ รวมถึงงานเขียน งานสอน และการบรรยายในเวลาต่อมา

จุดยืนเช่นนี้ของเธอนี่เองที่ส่งให้เธอกลายเป็นศิลปินผู้มีบทบาทสำคัญในกระแสเคลื่อนไหวเฟมินิสต์มากที่สุดคนหนึ่ง

Eye Body #11 (1963) , ภาพจากhttps://mo.ma/33mxUq

ในช่วงต้นยุค 1960s ชนีแมนน์ทำงานที่สำรวจและตั้งคำถามเกี่ยวกับเซ็กซ์และบทบาททางเพศ การวิเคราะห์วัฒนธรรมทางสายตา ประเด็นอันต้องห้ามเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับสังคม การเมือง ด้วยศิลปะแสดงสดเชิงทดลองที่ใช้ร่างกายของเธอเองเป็นวัตถุดิบและเครื่องมือในการทำงานศิลปะ เพื่อแสดงความเป็นไปได้ในการปลดปล่อยร่างกายของผู้หญิงจากค่านิยมทางเพศแบบเดิมๆ และขับเน้นบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้สร้างและผู้ปฏิบัติกิจกรรมสร้างสรรค์ในตัวเอง

แทนที่จะเป็นแค่วัตถุแห่งการจ้องมองในฐานะนางแบบเปลือยสำหรับศิลปินเพศชายอย่างที่เคยเป็นมา

ชนีแมนน์พัฒนาวิธีการทำงานศิลปะที่สร้างบทสนทนาโต้ตอบการทำงานแบบแอ๊กชั่นเพ้นติ้ง (Action painting) ที่บุกเบิกโดยแจ๊กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) ศิลปินแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ผู้ทรงอิทธิพล ที่วาดภาพด้วยการวางผืนผ้าใบลงบนพื้นแล้วเยื้องย่างร่างกายไปรอบๆ และตวัด สะบัด สาด เทสีลงบนผืนผ้าใบด้วยท่วงทีอันเข้มแข็งเปี่ยมพลัง ด้วยการผสานแนวคิดแบบเฟมินิสต์เข้าไปในกระบวนการทำงานลักษณะนี้ ชนีแมนน์สอดแทรกประสบการณ์ทางกายภาพและมุมมองของเธอเข้าไปในการทำงานศิลปะด้วยร่างกายของตัวเอง

Meat Joy (1964), ภาพจากhttps://bit.ly/39QbdwE

ดังเช่นในผลงานแสดงสด Meat Joy (1964) ที่เธอทำร่วมกับเจมส์ เทนนีย์ (James Tenney) นักแต่งเพลงหัวก้าวหน้าชาวอเมริกันผู้เป็นสามีของเธอในเวลานั้น ซึ่งเป็นศิลปะแสดงสดประกอบดนตรีที่ดูไม่ต่างอะไรกับเซ็กซ์หมู่ของเหล่าบรรดานักแสดงชายหญิงรวมถึงตัวเธอเองในชุดชั้นในน้อยชิ้น เกลือกกลิ้งกอดก่ายนัวเนียกันไปมาบนพื้นที่คลุกเคล้าด้วยสีแดงสดเหมือนเลือดและซากสัตว์อย่างปลา, ไก่, ไส้กรอก, ถุงพลาสติก, เชือก และเศษกระดาษนานาชนิด

Fuses (1964 – 67), ภาพจากhttps://bit.ly/316Vs0

หรือผลงาน Fuses (1964-1967) ที่ชนีแมนน์และเทนนีย์มีเซ็กซ์กันจริงๆ และถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ แล้วนำฟิล์มที่ได้ไปย้อมสี ขีดข่วน เผาไฟ กัดกรด ตัดแปะ และฉายเป็นหนังทดลอง

Blood Work Diary (1972), ภาพจากhttps://bit.ly/3fqcKL8

หรือผลงาน Blood Work Diary (1972) ที่ประกอบด้วยทิชชู่ซับเลือดประจำเดือนในหนึ่งรอบเดือนของเธอเอง ชนีแมนน์ทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อเป็นการโต้ตอบอคติและความรู้สึกรังเกียจของบรรดาเพศชายที่มีต่อเลือดประจำเดือนของเพศหญิง

ในปี 1975 ชนีแมนน์ทำผลงานศิลปะแสดงสดสุดอื้อฉาวที่มีชื่อว่า Interior Scroll (1975) ในนิทรรศการศิลปะ Women Here and Now ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากลของสหประชาชาติ ในอีสต์แฮมพ์ตัน นิวยอร์ก

Interior Scroll (1975) ภาพจากhttps://bit.ly/39Qbdw

เธอเข้ามาในห้องแสดงงานที่เต็มไปด้วยผู้ชมพร้อมเสื้อผ้าเต็มยศ ก่อนที่จะค่อยๆ เปลื้องออกจนหมด ทาตัวด้วยสีดำและสวมผ้ากันเปื้อนสีขาวบิดกายเกลือกกลิ้งบนโต๊ะ โพสท่าเลียนแบบนางแบบวาดภาพนู้ด พร้อมกับอ่านถ้อยคำจากหนังสือให้ผู้ชมฟัง

ในจุดพีกสุดของการแสดง เธอปลดผ้ากันเปื้อนออก ยืนเปลือยกายล่อนจ้อนบนโต๊ะ กางขา แล้วค่อยๆ ดึงม้วนกระดาษยาวเหยียดออกจากอวัยวะเพศแล้วอ่านเนื้อหาในนั้นดังๆ ให้คนดูฟัง!

ชนีแมนน์อธิบายถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้ว่า เธอต้องการเปิดเผยตัวตนของ “โยนี” ที่ถูกซ่อนเร้น ลดทอน ทำให้มองไม่เห็นและไม่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่เพียงเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิต ความสุขความพึงพอใจ เป็นแหล่งกำเนิดของประจำเดือนและความเป็นแม่แล้ว แต่ยังเป็นแหล่งกำเนิดของความรู้ได้อีกด้วย

Interior Scroll (1975) ภาพจาก https://bit.ly/30nHat1

เธอต้องการแสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่พื้นที่ไร้ชีวิตและตัวตน

ชนีแมนน์ได้แรงบันดาลใจในศิลปะการแสดงสดนี้จากความฝันของเธอที่มีถ้อยคำบางอย่างผุดออกมาจากช่องคลอดของเธอ เป็นถ้อยคำสั้นๆ เรียบง่ายที่เขียนว่า “ความรู้”

ผลงานชิ้นนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าโยนีไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นที่ให้กำเนิดชีวิตทางกายภาพ หากแต่เป็นบ่อเกิดของความคิดและการสร้างสรรค์ ด้วยการดึงวัตถุออกจากพื้นที่ภายใน สิ่งที่ถูกซ่อนไว้ก็จะปรากฏขึ้น และท้ายที่สุด มีเสียงให้เราได้ยิน

Interior Scroll (1975) ภาพจากhttps://bit.ly/3k3S3YN

ชนีแมนน์สนใจพื้นที่ภายในนั้นอย่างลึกซึ้ง ไม่เพียงแต่ในแง่ของการเมืองเรื่องเพศสภาพ แต่ลึกไปถึงเรื่องจิตวิญญาณด้วย

เธอกล่าวว่า เธอสนใจอวัยวะเพศหญิงในหลายแง่มุม ทั้งทางกายภาพ (ในฐานะอวัยวะ) มโนทัศน์ (ในฐานะวัตถุทางศิลปะ) ในเชิงสถาปัตยกรรม (ในฐานะพื้นที่) ในเชิงของแหล่งกำเนิดความรู้อันศักดิ์สิทธิ์ ความปีติสุข เส้นทางแห่งการก่อกำเนิด ความเปลี่ยนแปลง และคุณลักษณะแห่งอำนาจทางเพศของทั้งชายและหญิงนั่นเอง

นอกจากนี้ ผลงานนี้ยังเป็นการใช้อวัยวะเพศหญิงเป็นเครื่องมือท้าทายอำนาจนิยมและแนวคิดชายเป็นใหญ่ของศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์อีกด้วย

ชนีแมนน์ยังสนใจประเด็นเกี่ยวกับการเมืองระหว่างอำนาจและร่างกาย และแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์สงครามและความรุนแรงอย่างจริงจัง ทั้งสงครามเวียดนาม, สงครามกลางเมืองเลบานอน, สงครามกลางเมืองซีเรีย (ที่เธอถึงกับลงพื้นที่สงครามจริงๆ ด้วยตัวเอง) และเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001

สิ่งเหล่านี้ปรากฏทั้งในงานแสดงสด, สื่อผสม, ศิลปะจัดวาง, และภาพยนตร์ของเธออย่าง Viet Flakes (1965), Souvenir of Lebanon (1983-2006) รวมถึงการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ผ่านสื่อมวลชนต่างๆ เป็นเนืองนิจ

เช่นเดียวกับศิลปินหัวก้าวหน้าผู้เป็นนักบุกเบิกพรมแดนใหม่ทางศิลปะอีกหลายคนในรุ่นของเธอ ชนีแมนน์เองก็เพิ่งจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเมื่อไม่กี่ปีมานี้ว่าจะเป็นการแสดงนิทรรศการแสดงเดี่ยวในพิพิธภัณฑ์และสถาบันการแสดงชั้นนำ เธอได้รับรางวัลเกียรติยศสิงโตทองคำจากเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 57 ในปี 2017

ผลงานของเธอส่งอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปินแสดงสดและศิลปินมัลติมีเดียรุ่นหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินชื่อดังอย่างมาริน่า อบราโมวิช (Marina Abramovi?), แมทธิว บาร์นีย์ (Matthew Barney) และพิพิลอตตี ริสต์ (Pipilotti Rist) รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับร่างกาย เซ็กซ์ และเพศสภาพทั้งหลายอีกด้วย

หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างยาวนานถึงสองทศวรรษ แคโรลี ชนีแมนน์ ก็เสียชีวิตในวันที่ 6 มีนาคม 2019 ด้วยวัย 79 ปี เหลือทิ้งไว้แต่เพียงผลงานและแรงบันดาลใจอันมหาศาลที่ส่งต่อสู่คนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลัง

ข้อมูล https://bit.ly/2Ducr4I, https://bit.ly/3191BsW, https://bit.ly/2DrDXQm, https://mo.ma/33s1ITn, https://bit.ly/3gqhUYC