สถานการณ์ที่ดำเนินไปเช่นนี้ จึงควรจะต้องตั้งสติกันครั้งใหญ่

ก่อนจะสายเกินไป

หากติดตามการเมืองแบบรับฟังทุกด้านเพื่อประมวลข้อมูลมาประเมินสถานการณ์ จะพบว่าเกือบทุกฝ่ายแล้วที่เห็นว่าเริ่มมีแนวโน้มที่จะ “หนีความรุนแรงลำบาก”

เมื่อความเป็นไปในประเทศทุกมิติอยู่ในสภาพวิกฤต ความสิ้นหวังครอบคลุมอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน โดยเฉพาะเยาวชนคนหนุ่ม-สาวที่พูดถึงชีวิตที่หมดหวังกับอนาคตที่ดีงามกันกว้างขวาง ด้วยข้อมูลประกอบที่เป็นเหตุเป็นผล เห็นจริงเห็นจังมากขึ้น

เมื่อประกอบกับไฟของวัยที่ลุกโชนได้ง่าย พร้อมที่จะท้าทายแบบดื้อดึงตามประสาเด็ก หรือวัยเรียนรู้ชีวิต “ความกล้าที่จะแสดงออก” จึงมากมาย

ในระดับที่คนที่ผ่านโลกมาก่อน อาบน้ำร้อนมานานกว่า “ตกใจ”

“ซูเปอร์โพล” สำรวจล่าสุด พบว่าคนส่วนใหญ่ อันหมายถึงทุกเพศทุกวัยต่างเห็นว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปในทางรุนแรง ความคิดต่อปัญหาการเมือง ร้อยละ 81.6 เห็นว่าจะลุกลาม บานปลาย รุนแรง มีร้อยละ 18.4 เท่านั้นที่เชื่อว่าจะไม่รุนแรง

เช่นเดียวกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 87.9 เห็นว่ารุนแรง และจะลุกลามบานปลาย คนจะตกงานมากขึ้น มีร้อยละ 12.1 เท่านั้นที่เชื่อว่าไม่รุนแรง

หมายความว่าทุกคนรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ความน่าห่วงจึงอยู่ที่ “รู้ทั้งรู้แต่พร้อมจะเผชิญหน้ากับความรุนแรงนั้น”

นักเรียน นิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ต่างวางโปรแกรมชุมนุมทางการเมืองต่อเนื่อง เนื้อหาเต็ม เน้นย้ำท้าทายผู้มีอำนาจ

ขณะเดียวกับเกมของผู้มีอำนาจไม่มีท่าทีจะลดราวาศอก อย่างเป็นทางการดูคล้ายจะประนีประนอม มีการแสดงออกว่ายอมรับจะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้อง พร้อมๆ กับการตั้งคณะทำงานฟังความคิดความเห็นของเยาวชน

แต่ที่ไม่เป็นทางการ มีการใช้เจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามกลุ่มผู้เคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และมีไม่น้อยที่กลายเป็นประเด็นคุกคาม

ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก เนื่องจากเป็นไปได้ทั้งกดข่มให้เกิดความกลัว หรือกระตุ้นให้เกิดการต่อต้าน ตอบโต้ด้วยความรุนแรงมากขึ้น

การปะทะกันทางความคิดความเชื่อครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าหวั่นใจยิ่งว่าที่สุดแล้วต่างฝ่ายต่างหาทางลงให้ตัวเองไม่เจอ

ข้อเรียกร้องเน้นหนักไปที่การแก้รัฐธรรมนูญก็จริง แต่ดูเหมือนเนื้อหาที่ต้องการให้แก้นั้นเป็นประเด็นที่ยอมรับกันได้ยากไม่น้อย

ผลสำรวจนิด้าโพล ที่ถามว่า “มีความมั่นใจแค่ไหนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้การเมืองไทยดีขึ้น” ร้อยละ 21.35 ตอบว่า “มั่นใจมาก” เพราะคิดว่าน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ด้วยจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากประชาชน และได้รับการยอมรับจากประชาชนที่แท้จริง ร้อยละ 23.03 ค่อนข้างมั่นใจ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการรับฟังความคิดเห็น เน้นการมีส่วนร่วม ซึ่งจะลดความขัดแย้งได้

แต่ร้อยละ 25.98 ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะเห็นว่าแก้มาหลายครั้งแล้วก็ยังมีปัญหา ร้อยละ 27.33 ไม่มั่นใจเลย มองไม่เห็นทางที่การเมืองจะดีขึ้น

นั่นหมายความว่าคนที่มองไม่เห็นความหวังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีมากกว่า

บรรยากาศความเป็นไปของประเทศ ถูกขับเคลื่อนด้วยความสิ้นหวังต่ออนาคต

คนรุ่นใหม่ที่มีความหวัง ต้องการอนาคตที่มีความหวัง กำลังมองหาว่าอะไรเป็นอุปสรรคต่อความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต ต่อการพัฒนาประเทศ

ขณะที่ผู้มีอำนาจ แทนที่จะมีท่าทีที่รับฟัง และทำความเข้าใจ กลับแสดงออกในทางใช้อำนาจเข้าข่ม ใช้ทัศนคติที่เห็นเยาวชนสิ้นหวัง เป็น “พวกชังชาติ”

สถานการณ์ที่ดำเนินไปเช่นนี้ จึงควรจะต้องตั้งสติกันครั้งใหญ่