เกษียร เตชะพีระ | 80 ปีนิธิ เอียวศรีวงศ์ : #Old Question แต่ไม่ Out of Date (2)

เกษียร เตชะพีระ

80 ปีนิธิ เอียวศรีวงศ์ : #Old Question แต่ไม่ Out of Date (2)

ผมขอยกผลงานโดดเด่นของปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยในอดีตที่ผสานภาวะทันสมัยแบบตะวันตก เข้ากับระเบียบอำนาจไทยมาให้พิจารณาโดยสังเขป :

1) การผสานสถาบันกษัตริย์เข้ากับระบอบประชาธิปไตย : ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อความแสดงบุคลิกเอกลักษณ์ของการเมืองการปกครองไทยว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ปรากฏประจำในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับเหมือนกัน รวมทั้งฉบับพุทธศักราช 2560 ปัจจุบัน (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF)

เอาเข้าจริงข้อความดังกล่าวมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ

มันปรากฏขึ้นครั้งแรกในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 ในรูปลักษณ์ต่างจากที่เรารู้จักทั่วไปชั้นหลังเล็กน้อย แต่อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ เป็นข้อความสองประโยคแยกต่างหากจากกัน แต่วางเรียงกันไปว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (http://library.senate.go.th/document/Ext11/11717_0001.PDF)

ข้อความดังกล่าวถูกปรับเปลี่ยนครั้งแรกโดยเติมคำบุพบทว่า “อัน” แทรกเข้าไประหว่างกลางเพื่อเชื่อมคำนามคำแรกเข้ากับวลีหลังเป็นคำนามคำเดียวว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ.2521 (http://library.senate.go.th/document/Ext11/11737_0001.PDF)

จนกระทั่งมาปรากฏเป็นข้อความเต็มรูปว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” ในตัวบทมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ.2534 เป็นครั้งแรก

(http://library.senate.go.th/document/Ext11/11741_0003.PDF)

นัยสำคัญของการนี้อยู่ตรงเมื่อเชื่อมรวมคำว่า “ระบอบประชาธิปไตย” กับวลีว่า “มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เข้าด้วยกันเป็นคำเดียว องค์เอกภาพเดียวโดยคำบุพบทว่า “อัน” แล้ว ก็ย่อมทำให้ :

– เนื้อหาสองส่วนนี้หลอมรวมสนิทแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้ กล่าวคือ ประเทศไทยมีการปกครอง [ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข] เท่านั้น ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่นใดอันไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

– นอกจากนี้ ยังทำให้องค์ประกอบหลักสองส่วนของคำดังกล่าวได้แก่ [ประชาธิปไตย] กับ [สถาบันกษัตริย์] กลายเป็นเงื่อนไขจำเป็นแห่งการดำรงอยู่ของกันและกัน ในความหมายนัยที่ว่าหากไม่มีสถาบันกษัตริย์อยู่เป็นฉัตรเกล้าคุ้มครองแล้ว ระบอบประชาธิปไตยก็มิอาจดำรงอยู่ได้ และในทางกลับกันเช่นกัน (vice versa)

ความมั่นคงอย่างยิ่งทางการเมืองอันเป็นจุดแข็งของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ผ่านมายังอยู่ตรงที่ระบอบดังกล่าวสมานหลักความชอบธรรมทางการเมือง 3 ประการเข้าด้วยกันอย่างเนียนแนบแยบคาย (https://plato.stanford.edu/entries/legitimacy/) ทำให้บ้านเมืองรอดผ่านสงครามเย็น สงครามประชาชน และความพยายามก่อรัฐประหารบางครั้งมาได้ อันได้แก่ :

ความชอบธรรมเชิงประเพณี (traditional legitimacy) : สถาบันกษัตริย์

ความชอบธรรมเชิงกฎหมาย-เหตุผล (legal-rational legitimacy) : รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ความชอบธรรมเชิงบารมี (charismatic legitimacy) : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ดังที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เคยชี้ให้เห็นความสำเร็จของปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยในการผสานสิ่งที่แตกต่างไม่น่าเข้ากันได้ให้อยู่ด้วยกันและเป็นเงื่อนไขของกันและกันได้ว่า :

“ทั้งนี้ ควรตระหนักและเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า Monarchy กับ Democracy นั้นเป็นแนวความคิดที่อยู่ในคู่ตรงข้ามกันและเป็นปฏิปักษ์กันมานับตั้งแต่สมัยโบราณ (เนื่องด้วย Monarchy หมายถึงระบอบของการปกครองของบุคคลเพียงคนเดียว ตรงกันข้ามกับ Democracy ที่หมายถึงการปกครองของคนส่วนใหญ่เสมอ ฉะนั้น หากจะกล่าวเป็นหลักการแล้ว การปกครองโดยบุคคลคนเดียวจะนำมาผสมจนกระทั่งกลายเป็นการปกครองโดยคนส่วนใหญ่คงจะไม่ได้) และเราก็มิอาจจะนำคำทั้งสองมาผูกสัมพันธ์กันจนกลายเป็นแนวความคิด (concept) ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างง่ายๆ ดังที่เกิดขึ้นและปรากฏในสังคมการเมืองของไทยในห้วงเวลานี้

“ดังนั้น การที่แนวความคิดทั้งสองซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกันสามารถประสานเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างกลมกลืนจึงควรนับว่าเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองและทางปัญญาหรืออุดมการณ์ของโลกสมัยใหม่โดยแท้…”

กรณี ร.7 ทรงสละราชสมบัติ : การตีความและการสานต่อความหมายทางการเมือง (2549), น.5

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

เรียบเรียงจากคำอภิปรายของผู้เขียนในงานเสวนาจัดโดยมติชน, 3 กรกฎาคม 2563