อภิญญา ตะวันออก : เมื่อสมเด็จยกระดับ ประวัติศาสตร์เขมรใหม่

อภิญญา ตะวันออก

ไม่เกินคาดหมายบนคานอำนาจที่สมเด็จฯ ฮุน เซน จะทำต่อไป นั่นคือการเขียนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในยุคตน

ก็เรื่องแบบนี้มันก็มีมาหมด ตั้งแต่สมัยสีหนุถึงยุคลอน นอล ที่เขียนใหม่เป็นแบบเรียนในกระทรวงศึกษาธิการ แล้วทำไมสมเด็จฯ ฮุน เซน ที่ยิ่งใหญ่กว่ายุคใดที่ผ่านมาจะสร้างตำราประวัติศาสตร์ฉบับของตนบ้างไม่ได้?

ในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ดูจะสั่นคลอนอำนาจผู้นำกัมพูชาครั้งใหญ่ แต่ความสำเร็จทั้งหมดทางการเมืองซึ่งล้วนแต่บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการปั้นยุทธศาสตร์ล่าสุด “ทายาท” ฮุน เซน คนต่อไปนั้น

สมเด็จฯ ฮุน เซน กำลังเผชิญกับกับดักที่มองไม่เห็น นั่นคือศัตรูตัวแม่แท้จริงตัวใหม่ นั่นคือชุมชนแห่งโลกเสมือนจริงที่แม้แต่เขาเองก็ยังมองไม่ออกและคาดเดาตัวตนลอดจากการขับเคลื่อนของมันไม่ได้

และนั่นคือความตระหนักกลัวอย่างวายร้ายที่สถิตอยู่ในใจ จนมาถึงขั้นที่เขาจำเป็นต้องเปิดหน้าสู้ ด้วยการสร้างตำราประวัติศาสตร์เขมรขึ้นมาใหม่

ที่ผ่านมา ฮุน เซน เคยออกหนังสือประวัติชีวิตตัวเองทั้งฉบับเขมรที่แต่งโดยนักเขียนผี และฉบับภาษาอังกฤษโดยฮาริช เมห์ตา ทั้งนี้ เพื่อตีคู่หนังสือการเมืองคู่แข่งสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ที่เขียนโดยนายเมห์ตาคนเดียวกัน

อ่านแล้วเหมือนหนังสือโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างไงอย่างงั้น

แต่ต้องเข้าใจว่า มันคือยุทธศาสตร์การเมือง ที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ จึงไม่แปลกเลยที่ครั้งนี้ ไอเดียการแต่งตั้งนักวิชาการ 25 คนของสำนักราชบัณฑิตเขมรจะเป็นไปเพื่อการชำระประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่

โดยหากจะสังเกตหรือเฉลียวใจว่า ในแต่ละครั้งสมัยที่มีการแต่งตำราขึ้นมานั้น ล้วนแต่นำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

และเท่าที่ทราบในยุคที่ผ่านมา ไม่ว่าสีหนุ-ลอน นอล พอสำเร็จบรรลุเขียนประวัติศาสตร์ฉบับของตน ก็ตามมาซึ่งล่มสลาย อย่างไรอย่างนั้น

หรือจะเป็นอาถรรพ์แห่งความวิบัติที่ตกทอดกันมา?

 

จากแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการฉบับตรึง เงีย ยุคลอน นอล (1970) นักประวัติศาสตร์สายเสรีนิยมที่ยังเป็นตำราฉบับเดียวที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน แม้ไม่ทันสมัย เมื่อเทียบกับตำรานอกระบบยุคหลังที่เขียนโดยวันดี กาอน ผู้ถอดรหัสประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยอย่างถึงรากและบาดใจสมเด็จฯ ฮุน เซน

นับว่าประวัติศาสตร์กัมพูชามีรสชาติคือสุดยอดแห่งความปรารถนาในการเรียนรู้ของชาวเขมร โดยจะเห็นว่าหนังสือทุกเล่มที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์จริงของคนในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเขียว สัมพัน วันดี กาอน หรือแม้แต่เดวิด พี. แชนด์เลอร์ ล้วนแต่ติดท็อปเบสต์เซลเลอร์ทั้งสิ้น

ชาวกัมพูชารักการอ่านตำราประวัติศาสตร์กันถึงขนาดนั้นเทียวรึ?

ข้อเด่นในงานเขียนของเดวิด พี. แชนด์เลอร์ ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกสมัยเขมรแดง ส่วนวันดี กาอน ครอบคลุมลงมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงระบอบฮุน เซน

แต่ทั้งหมดก็เป็นประวัติศาสตร์นอกตำราเรียน

สมเด็จฯ ฮุน เซน เองนั้นก็ทราบดีว่า สิ่งพิมพ์ยุคเก่ากลุ่มนี้ไม่ได้มีผลต่อกระทบต่อวงการเมืองของตนในวงกว้างเมื่อเทียบกับการคุมสื่อโซเชียลมีเดีย ดังที่การมาถึงของโครงการ “แลไปข้างหน้ากัมพูชา 2040” (Envision Cambodia) ที่จัดทำโดย “เวติกาอนาคต” (Future Forum) องค์กรเอกชนที่ยังเดินหน้ากิจกรรมเพื่อสังคมในกรุงพนมเปญ

สมเด็จฯ ฮุน เซน เริ่มเตือนตัวเองว่า เขาเคยต่อกรแบบนี้กับนักการเมืองฝ่ายค้าน แต่คนพวกนั้นไม่มีความรอบด้านเมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่อย่างนายอู วิระ ผู้สร้างแคมเปญทางความคิดในรูปหนังสือดิจิตอลและพ็อดคาสต์ ที่เข้าถึงง่ายในคนรุ่นใหม่

นี่คือการเปิดแนวรุกของโซเชียลมีเดียที่เขารู้สึกได้ถึงสัญญาณอันตรายต่อระบอบฮุน เซน มันคือยุทธวิธีของการสร้างฐานมวลชนคนหนุ่ม-สาว

 

ก่อนหน้านี้ ความเชื่องช้าพลวัตการเดินหน้าทางสังคมของเยาวชนเขมร ดูจะถูกชะลอไว้ด้วยนโยบายต่างๆ ทั้งการปิดสื่อและเซ็นเซอร์ความเห็นทางการเมืองและลงโทษอย่างรุนแรงต่อการวิพากษ์รัฐบาลในโซเชียล

แต่ดูเหมือนบัดนี้ ฮุน เซน พอจะประเมินแล้วว่า นี่เป็นภัยพิบัติใหม่ที่น่ากลัวยิ่งกว่าทุกๆ ภัยพิบัติที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 หรือพิษเศรษฐกิจ ที่ตนยังพอเอาอยู่ เว้นแต่สิ่งเดียว นั่นคือ

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของมวลชนคนรุ่นใหม่ ที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หากระบอบฮุน เซน ทั้งหมดยังนอนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของพลังมวลชนในโลกเสมือนจริง ดังกรณีประท้วงที่ฮ่องกง และตอนนี้คือกลุ่มเยาวชนของไทยที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

ฮุน เซน ผู้ได้ฉายา “จิ้งจอกคอมมิวนิสต์” จากนักข่าวยุค “80 ดูจะทราบดีถึงสัญญาณอันตรายของความตื่นตัวนี้ และเพื่อให้เชื่อว่า เขาสามารถจะรับมือกับมันได้ ด้วยการสร้างแคมเปญคู่ขนานดังที่ผ่านมา

และนั่นคือเหตุผลว่า ทำไมเมื่อ “เวติกาอนาคต” เปิดตัวนักเขียน 16 คนเพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจ ศิลปะ วัฒนธรรมและสังคมของกัมพูชาในอีก 2 ทศวรรษหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญต่อคนรุ่นใหม่นั้น

รัฐบาลฮุน เซน ก็เริ่มเช่นกันในโครงการชำระประวัติศาสตร์เขมรขึ้นใหม่ โดยไม่ปล่อยผ่านให้ฝ่ายตรงข้ามขยายฐานมวลชวนออกไปแต่ฝ่ายเดียว

และนี่คือยุทธวิธีกำจัดฝ่ายตรงข้ามอีกครั้ง หลังจากเขาเคยกำราบกรมพระรณฤทธิ์-สัม รังสี ด้วยวิธีเดียวกัน นั่นคือซื้อนักเขียนมือดีฝ่ายตรงข้าม ทั้งฮาริช เมตาห์ และราอูล เจนนาร์ (Raoul Jennar) นักเขียนสายราชสำนักสีหนุที่หันมาภักดีฮุน เซน เหล่านี้ได้บอกเล่าอะไรแก่เราบ้าง สำหรับความสำคัญที่เขามีต่อการทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างถึงราก แม้แต่ศัตรูอดีตพระมหากษัตริย์ก็ไม่เว้น

สำหรับการยกระดับตนเองเสมือนว่าเหนือกว่าในเชิงสัญลักษณ์

สมแล้วที่เกิดมาเพื่อเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ แล้วคุณคิดว่าอย่างไรล่ะ?

 

แน่นอน เมื่อมองภาพรวมวิชาการตำราฉบับตรึง เงีย ดูจะเก่าแก่และล้าหลัง และสมควรแก่การสังคายนาอย่างเต็มรูป ส่วนฉบับวันดี กาอน และเดวิด พี. แชนด์เลอร์นั้นเล่า ก็จัดอยู่ในตำรานอกกระทรวงศึกษาด้วยว่าไม่ครบหมู่องค์ของยุคก่อน-หลังเมืองพระนครตลอดจนสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส

ดร.วง สุทิรา หนึ่งในตัวแทนราชบัณฑิตกัมพูชาและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยพนมเปญผู้รับผิดชอบประวัติศาสตร์ด้านโบราณคดีกล่าวถึงสาเหตุที่มาของการแต่งประวัติศาสตร์กัมพูชาขึ้นใหม่ หลังจากที่ประวัติศาสตร์ฉบับเดิมที่ในปลายทศวรรษ “60 และเป็นการเขียนขึ้นโดยลำพัง ไม่น่าจะรอบด้านและมีเนื้อหาที่ถูกที่เหมาะกับคนยุคหลัง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และสังคมชาติพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่มีประกาศจากราชบัณฑิตเขมร ถึงโครงการผลิตตำราประวัติศาสตร์เล่มใหม่เท่านั้น พลันเสียงอื้ออึงก็แซ่ซ้องตามมาจากทุกสารทิศ โดยเฉพาะชาวเน็ตในโซเชียล

หนึ่งในข้อเรียกร้องของหลายฝ่ายคือ ความวิตกกังวลต่อเนื้อหาของประวัติศาสตร์เขมรฉบับใหม่ว่า จะเป็นเพียงตำราโฆษณาชวนเชื่อของนักการเมืองบางฝ่ายเช่นในอดีต

ประกอบด้วยนักวิชาการกว่า 20 ท่านที่คัดมาจากราชบัณฑิตยสภา และแม้ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกจะเห็นว่าจำเป็นต้องมีการชำระใหม่ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา การพบหลักศิลาจารึกจำนวนมาก ทำให้เกิดการตีความประวัติศาสตร์แนวใหม่ โดยเฉพาะยุคก่อนและหลังเมืองพระนคร (Pre & Post Ankor Period)

แต่สิ่งที่ประชาชนเขมรหวาดวิตกกลับเป็นในส่วนของประวัติศาสตร์ร่วมสมัย!

พลัน “เวติกา-นานาทัศนะ” แห่งมุมมองก็ดังขึ้น ตั้งแต่ยุคสังคมราษฎร์นิยมของสีหนุ เขมรสาธารณรัฐของลอน นอล กัมพูชาประชาธิปไตยของพล พต และสมเด็จฯ ฮุน เซน ยุคสุดท้าย

แห่งภาคพิสดารหรือไม่? โปรดรอต่อไปอย่างระทึกพลัน