ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 สิงหาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
สุจิตต์ วงษ์เทศ
วงตีไก่ อุทัยธานี
พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์รูปวงกลม
วงตีไก่ อุทัยธานี พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์รูปวงกลมตามความเชื่อในศาสนาผี ซึ่งมีทั้งอยู่ลานกลางชุมชนและอยู่นอกชุมชน เช่น ที่สูง ฯลฯ เพื่อทำเป็นแหล่งฝังศพหัวหน้าเผ่าพันธุ์และตระกูลคนชั้นนำ ขณะเดียวกันก็ใช้ทำพิธีกรรมเลี้ยงผีและมีการละเล่นประจำปีและประจำฤดูกาล
อุทัยธานี พบวงตีไก่อยู่กลางดงป่าห้วยขาแข้ง โดยมีคำบอกเล่าสืบต่อกันมาช้านานนักหนาว่าสมเด็จพระนเรศวรยกทัพผ่านมาในดงป่านี้แล้วโปรดให้พักทัพ บรรดาไพร่พลพากันคลายเหนื่อยเมื่อยล้าด้วยการตั้งค่ายล้อมวงเล่นชนไก่ตีไก่
วงตีไก่ หรือวงหินตีไก่ เป็นหินตั้งหรือกองหินรูปและขนาดต่างๆ จัดวางเรียงเป็นวงกลมตามความเชื่อในศาสนาผี มีเส้นผ่าศูนย์กลางของวงขนาดยาวพอสมควรตามต้องการของแต่ละพื้นที่ทั้งที่ราบและที่สูง
ต่อมาสมัยการค้าโลกเริ่มแรกมีรับวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งศาสนาพุทธ-พราหมณ์ และมีการค้า “ของป่า” กว้างขวาง ทำให้ชุมชนหมู่บ้านมีพัฒนาการเติบโตเป็นเมือง มีการขุดคูน้ำและคันดินล้อมรอบเป็นขอบเขตศักดิ์สิทธิ์ (แยกจากพื้นที่ในชีวิตประจำวันของคนชั้นนำ) โดยทำตามประเพณีสืบเนื่องความเชื่อในศาสนาผีดั้งเดิมเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์รูปวงกลมปักล้อมด้วยหินตั้งขนาดไล่เลี่ยต่างๆ พบหลักฐานสำคัญคือ เมืองบึงคอกช้าง อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี
แหล่งฝังศพชนชั้นนำ
วงตีไก่ อุทัยธานี เป็นพื้นที่พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์รูปวงกลมเพื่อฝังศพของกลุ่มคนบนที่สูงเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ซึ่งสืบเนื่องจากประเพณีในวัฒนธรรมหินตั้งของชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปี พบทั่วไปในภูมิภาคอุษาคเนย์ [เช่น เมืองถั่นหัว บริเวณอ่าวตังเกี๋ยในเวียดนาม คนตระกูลไท-ไต ใช้หินตั้งปักเป็นวงล้อมหลุมศพ (หนังสือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในไทย ของ ชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 82)] รวมทั้งพบในไทย แล้วยังสืบเนื่องประเพณีด้วยการปรับเปลี่ยนบางอย่างต่างไป แต่ความหมายคงอยู่เกี่ยวกับความตายของคนชั้นนำจนถึงสมัยหลังๆ เช่น
“ที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘วงตีไก่’ พบไหดินเผาสองใบและมีดสี่เล่ม เมื่อสํารวจภายในไหใบแรกพบโครงกระดูกมนุษย์ผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิง ส่วนไหใบที่สองเป็นโครงกระดูกเด็กในวัยประมาณ 15 ปี การฝังกระดูกในไหแบบนี้เป็นการนํากระดูกผู้ใหญ่เคลื่อนย้ายไปฝังไว้เป็นครั้งที่สอง (secondary adult jar burial) ซึ่งพบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นได้นี้ ทําให้สันนิษฐานได้ว่าประเพณีการฝังกระดูกในไหภายหลังจากที่ได้ฝังศพไว้ที่อื่นเป็นเวลานานแล้วอาจกระทํากันตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และสันนิษฐานต่อไปได้ว่าประเพณีการฝนฟันบนของมนุษย์ในประเทศไทยได้เริ่มตั้งแต่ยุคหินใหม่เป็นต้นมา และสืบเนื่องมาถึงสมัยที่มีการฝังในรายงานนี้”
[จากบทความเรื่อง “การตรวจวัตถุและโครงกระดูกที่อยู่ในไหสองใบ ที่ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี” โดย สุด แสงวิเชียร, วัฒนา สุภวัน วารสารสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ [ปีที่ 13 เล่ม 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม) พ.ศ.2524]
ในไทยนอกจากอุทัยธานี ยังพบหลายแห่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมหินตั้งเป็นวงกลม ชิน อยู่ดี (ถึงแก่กรรม) นักปราชญ์ทางโบราณคดีของไทย อดีตข้าราชการประจำกรมศิลปากร บอกไว้ ดังนี้ (1.) อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ (2.) อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน (ใกล้ ต.บ่อหลวง) มีคำบอกเล่าว่าเมื่อหัวหน้าลัวะตายจะนำหลักหินมาปัก (ไม่ใช่หลักไม้) ไว้ไม่ไกลจากหลุมศพ (3.) มีกระจาย 2 กลุ่ม บ้านหินตั้ง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา [จากหนังสือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในไทย พ.ศ.2510 หน้า 82]
พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์รูปวงกลม มี 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ (1.) เนินดินเดี่ยวรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางราว 7-30 เมตร ขุดคูน้ำล้อมรอบ (2.) เนินดินหลายวงเป็นกลุ่มบนยอดเขามีขนาดใหญ่และน้อย (3.) เนินดินรูปวงกลม มีหินตั้งปักรอบ [จาก สุมิตร ปิติพัฒน์ อ้างในบทความเรื่อง “ของหรู ของหายาก จากบนยอดดอย” ของพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ พิมพ์อยู่ในหนังสือ ศึกษาสิ่งของ เข้าใจผู้คน คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2560 หน้า 52-71]
หินตั้ง ในศาสนาผี ราว 3,000-2,500 ปีมาแล้ว คือ หินธรรมชาติเป็นก้อน, เป็นเท่ง, เป็นแผ่น ฯลฯ ใช้ปักดินหรือวางซ้อนกันเป็นเครื่องหมายบอกเขตเฮี้ยนหรือศักดิ์สิทธิ์ แบ่งแยกพื้นที่เป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. พื้นที่เฮี้ยน หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาผี 2. พื้นที่ไม่เฮี้ยน มีกิจกรรมของชาวบ้านทั่วไป
ครั้นต่อมาหลังรับศาสนาพุทธได้ปรับปรุงหินตั้งเป็น สีมา ปักรอบโบสถ์และอาคารอื่นๆ ทางพุทธศาสนา แล้วเรียกภายหลังว่า เสมาหิน
[ข้อมูลเกี่ยวกับอุทัยธานี ได้รับความกรุณาจากนักศึกษาค้นคว้าชาวอุทัยธานี ส่วนแผนผังเมืองบึงคอกช้าง ด้วยความกรุณาจากเอนก สีหามาตย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร]