วงค์ ตาวัน | การพูดถึง 6 ตุลาฯ ในวันนี้

วงค์ ตาวัน

เมื่อสถานการณ์ม็อบเยาวชน นักเรียน นักศึกษาเริ่มขยายตัวร้อนแรงมากขึ้น ก็เริ่มมีปฏิกิริยาจากอีกฟากฝ่าย โดยเริ่มพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำนองเตือนเหล่าเยาวชนว่า อย่าทำอะไรจนกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก

คนที่หยิบเอาคำว่า 6 ตุลาคม 2519 มาปรามม็อบนักเรียน นักศึกษา อาจจะเน้นแต่ภาพความโหดเหี้ยมรุนแรงของเหตุการณ์นั้น คล้ายจะเป็นการเอามาข่มขู่

เพราะถ้าพูดถึงเนื้อแท้ของเหตุการณ์ดังกล่าว ถ้าพูดถึงความจริงของเหตุการณ์นี้

“ต้องหันหน้าไปเตือนฝ่ายผู้มีอำนาจว่า อย่าทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ขึ้นมาอีก ไม่ใช่การหันมาเตือนฝ่ายเยาวชน”

เพราะ 6 ตุลาคม 2519 คือการตระเตรียมวางแผนอย่างยาวนาน เพื่อเป้าหมายกวาดล้างขบวนการนักศึกษา-ประชาชน ที่เติบโตอย่างมากหลัง 14 ตุลาคม 2516 ต้องการให้ปิดฉาก สิ้นซาก

เป็นกระบวนการบิดเบือนสร้างเรื่อง แล้วนำมาสู่การล้อมปราบที่ธรรมศาสตร์

นักศึกษา-ประชาชนไม่ได้ทำอะไรเกินเลยจนกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิด 6 ตุลาฯ เลย

“แต่ฝ่ายผู้มีอำนาจนั่นแหละ ที่จ้องจะลงมืออยู่อย่างยาวนาน จนได้จังหวะเหมาะในการบิดเบือนสร้างเรื่อง แล้วลงมือ”

คนที่หยิบเอาคำว่า อย่าทำให้เกิด 6 ตุลาฯ อีก อาจจะไม่ฉลาด ขาดความรอบรู้ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ดีพอ หรือก็แค่เจตนาจะปูกระแส เจตนาจะข่มขู่

ขณะที่ฝ่ายนักเรียน-นักศึกษา อาจจะเกิดหลังปี 2519

“แต่เด็กยุคนี้เก่งกาจสามารถในการสืบค้นข้อมูลผ่านออนไลน์อยู่แล้ว ดังนั้น ความจริงของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เด็กรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในวันนี้รู้ซึ้งรู้ดี และยังมีอารมณ์ร่วมเศร้าสะเทือนใจแทนนักศึกษารุ่นพี่ ที่ต้องถูกเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายในวันนั้นอีกด้วย”

เยาวชนจำนวนไม่น้อยเรียนรู้ข้อเท็จจริงทางการเมืองอย่างลึกซึ้งมาโดยตลอด จนนำมาสู่การตื่นตัวในวันนี้

อีกส่วนได้รับผลสะเทือนจากเพลงประเทศกูมี เมื่อมิวสิกวิดีโอประกอบนำเอาฉากเก้าอี้ฟาดในวันที่ 6 ตุลาฯ มาเป็นจุดสำคัญ จึงค้นคว้าหาความจริงของวันนั้น

จนได้รู้ว่าคนในวัยหนุ่ม-สาวเมื่อ 44 ปีที่แล้ว ได้เคลื่อนไหวอย่างคึกคักหนักแน่นเช่นไร และถูกกวาดล้างปราบปรามอย่างอำมหิตเช่นไร กระทำกันเป็นขบวนการอย่างไร

Des policiers équipés de gilets pare-balles surveillent des étudiants après de violents incidents qui ont fait 41 morts, à Bangkok le 06 octobre 1976. Les forces de l’ordre ont pris d’assaut l’université de Thammassat où 1500 étudiants armés s’étaient retranchés. / AFP PHOTO / AFP FILES

การหยิบเอา 6 ตุลาฯ มาเขย่าขวัญคนรุ่นใหม่ในวันนี้จะได้ผลหรือไม่ก็ประการหนึ่ง

แต่อย่าพูดโดยไม่รู้จริง พูดอย่างบิดเบือน เพราะคนที่ต้องการจะก่อ 6 ตุลาคม ไม่ใช่เยาวชนคนหนุ่ม-สาว แต่เป็นกลุ่มผู้มีอำนาจ!!

ในช่วงปี 2519 กลุ่มผู้มีอำนาจขณะนั้นหวาดกลัวสถานการณ์ที่รัฐบาลฝ่ายขวาในประเทศใกล้เคียง เวียดนาม ลาว กัมพูชา พ่ายแพ้ราบคาบ กลัวว่ารัฐบาลขวาไทยจะเป็นรายต่อไป จึงเกิดความหวาดระแวงในพลังนักศึกษา-ประชาชน ที่โดนตีตราว่าเป็นพวกฝ่ายซ้าย

จนเริ่มตระเตรียมวางแผนกวาดล้าง และแสดงออกอย่างเปิดเผยผ่านสื่อฝ่ายขวาด้วยกัน

“เช่น การพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นำเสนอล่วงหน้านับเดือน หรือคนในรัฐบาลให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผยว่า เราอาจจำเป็นต้องสูญเสียนิสิต-นักศึกษาสัก 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เกิดความสงบสุข รวมทั้งพระขวาจัดก็เทศน์เรื่องฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

การจุดชนวนเริ่มขึ้น ด้วยการนำจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ถูกนักศึกษาขับไล่ไปเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 กลับประเทศ แบบเหนือเมฆคือบวชเข้ามาเลย ใช้ผ้าเหลืองเป็นเกราะ และอาจจะคิดประเด็น นักศึกษาทำลายศาสนา เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการกวาดล้าง

“จนกระทั่งการสร้างเรื่องสำเร็จ จากวิธีการตกแต่งภาพการแสดงละคร”

ประสานเข้ากับการโหมโจมตีผ่านสื่อวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ว่านักศึกษาในธรรมศาสตร์ มีธงคอมมิวนิสต์ มีตำราลัทธิคอมมิวนิสต์ มีการสะสมอาวุธร้ายแรงเพื่อเตรียมก่อกบฏ แถมมีอุโมงค์ลับในธรรมศาสตร์ด้วย

สุดท้ายเมื่อแผนเข่นฆ่ากวาดล้างสำเร็จ มีแต่ศพนักศึกษา-ประชาชน และผู้ที่ถูกจับกุมหลายพันราย

“ไม่มีอาวุธสงครามร้ายแรง อุโมงค์ลับที่แท้ก็คือท่อระบายน้ำ ซึ่งทะลุไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ธงคอมมิวนิสต์ เอกสารคอมมิวนิสต์ ก็คือที่ใช้จัดนิทรรศการทางวิชาการเรื่องความสัมพันธ์ไทย-จีน”

สรุปแล้ว 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้เกิดจากฝ่ายเยาวชน นักเรียน-นักศึกษาเคลื่อนไหวจนกลายเป็นชนวน

เพราะนักศึกษาไม่ได้กระทำอะไรตามที่อ้างเรื่องกล่าวหา

ไม่ได้แสดงละครหมิ่น แต่โดนตกแต่งภาพ ไม่ได้สะสมอาวุธสงครามเตรียมเป็นกบฏ ไม่ได้สร้างอุโมงค์ลับก่อการร้าย มีแต่ท่อระบายน้ำ โดยการเตรียมแผนร้าย การนำมาสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาจากฝ่ายมีอำนาจและฝ่ายขวาจัดทั้งสิ้น

การเอา 6 ตุลาคม 2519 มาพูดในวันนี้ เป็นไปได้ที่ฝ่ายขวายุค 2563 มีความกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะกระทำซ้ำอีก แต่ความที่พวกนี้ยังเป็นคนในโลกเก่า ทัศนคติยังล้าหลัง เลยขาดความเข้าใจว่า 6 ตุลาฯ นั้นเกิดเมื่อ 44 ปีก่อน ขณะที่สังคมไทยในปีนี้ต่างไปมากแล้ว

เมื่อ 44 ปีที่แล้ว สังคมไทยยังขาดสื่อที่ทันสมัยอย่างมาก

สถานีโทรทัศน์ ยังไม่มีรายการข่าวที่น่าสนใจให้คนได้ติดตาม อาจจะมีสถานีวิทยุที่เข้าถึงประชาชนได้มากหน่อย

ยุคนั้นหนังสือพิมพ์ยังเป็นสื่อหลัก แต่การนำเสนอข่าวถึงมือถึงสายตาประชาชนต้องเป็นเช้ารุ่งขึ้นของทุกวัน เพราะยังเป็นยุคที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีข่าวออนไลน์ที่อัพเดตได้ทุกนาที

“สมัยนั้นไม่มีเน็ต ไม่มีเว็บข่าวออนไลน์ ไม่มีสื่อโซเชียลมีเดียให้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารวิพากษ์วิจารณ์กัน ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีไลน์”

ขณะที่เครื่องมือสำคัญของฝ่ายรัฐและฝ่ายกลุ่มอำนาจขวาจัด ก็คือสถานีวิทยุในเครือข่ายกองทัพบก โดมีชมรมวิทยุเสรีเป็นหัวหอกในการจัดรายการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อโจมตีฝ่ายนักศึกษา-ประชาชน บิดเบือนใส่ร้ายว่าเป็นพวกซ้าย รับแผนคอมมิวนิสต์มาเคลื่อนไหว และเป็นเครื่องมือสำคัญในการปลุกเร้าสร้างสถานการณ์วันที่ 6 ตุลาคม

รวมทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ดาวสยามและอีก 2-3 ฉบับ ที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ฝ่ายขวา

ส่วนฝ่ายนักศึกษา ประชาชน เยาวชนคนหนุ่ม-สาวในยุคนั้น สื่อสำคัญในมือก็คือการติดโปสเตอร์ชี้แจงข้อมูลข่าวสารและนัดหมายการชุมนุม โดยมีความสามารถในการระดมติดได้ทั่ว กทม. และในจังหวัดที่ขบวนการนักศึกษามีความเข้มแข็ง

สื่อหนังสือพิมพ์มีเพียงหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ราย 3 วัน ที่วางจำหน่ายไม่แพร่หลายมากนัก

“เหตุการณ์ 6 ตุลาคม เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ ไม่มีเครื่องมือสื่อสารเผยแพร่ความจริงฉับไวไปสู่ประชาชนในวงกว้าง ฝ่ายรัฐและฝ่ายกุมอำนาจขวาจัดได้เปรียบกว่ามาก เพราะคุมทีวีและวิทยุไว้ได้หมด”

ขณะที่วันนี้โลกพัฒนาไปไกลลิบ เมื่อเทียบกับเมื่อ 44 ปีที่แล้ว

ความคิดที่จะก่อ 6 ตุลาฯ ซ้ำอีก มาจากกลุ่มคนที่คิดทันโลกสมัยใหม่หรือไม่ แค่การเอาชื่ออาชีวะออกมาใช้ต่อต้านก็แสดงถึงความคิดอันแสนโบราณอย่างยิ่ง

โลกวันนี้ สังคมไทยวันนี้ มีเสรีภาพในการสื่อสารเต็มเปี่ยม รัฐควบคุมไม่ได้ สื่อโซเชียลออนไลน์อยู่ในมือประชาชน โดยเฉพาะในมือเยาวชนคนรุ่นใหม่

นี่คือจุดแตกต่างอย่างมากกับเมื่อ 44 ปีก่อน!