วิเคราะห์ : โอกาสได้เครดิตกู้ซื้อบ้านยากขึ้นแค่ไหน?

การทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้าน คอนโดฯ ทุกวันนี้ ความยากแรกอยู่ที่การขายให้ได้

เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมีหนี้สินครัวเรือนท่วมท้น กำลังซื้อจึงมีน้อย ยิ่งเศรษฐกิจชะงักงัน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำ กำลังซื้อก็ลดตามลงไปด้วย

ความยากอันดับที่สอง คือ ลูกค้าที่จองซื้อแล้ว ผ่อนดาวน์แล้ว แต่ยื่นกู้ธนาคารไม่ผ่าน ธนาคารปฏิเสธการปล่อยกู้ ทำให้ซื้อไม่ได้ในที่สุด บางโครงการก็คืนเงินลูกค้า บางโครงการก็ไม่คืน แล้วแต่ข้อตกลง

อัตราส่วนที่กู้ไม่ผ่านนี้ จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายความเข้มงวดของธนาคาร แต่ผลลัพธ์สำหรับบริษัทอสังหาฯ คือ ต้องนำบ้านหรือห้องชุดนั้นๆ มาขายใหม่ เสียโอกาสจะได้เงิน

และต้องเสียค่าใช้จ่ายการตลาดใหม่อีกรอบ

 

เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการ LTV [loan to value] เพื่อกำหนดวงเงินดาวน์ขั้นต่ำที่ผู้ซื้อต้องจ่าย หรือนัยหนึ่งก็เป็นวงเงินกู้ต่อมูลค่าที่อยู่อาศัยที่ธนาคารจะปล่อยกู้ได้ โดยมีเหตุผลว่า เพื่อคุมคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยและลดความเสี่ยงระบบธนาคารพาณิชย์

แต่ผลลัพธ์สำหรับวงการอสังหาฯ ก็คือ อัตราการกู้ไม่ผ่านเพิ่มขึ้น

แม้ทุกวันนี้อยู่ในวิกฤตหลังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบแรก ทุกธุรกิจหนักหนาสาหัสมาก แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังยืนยันมาตรการ LTV ว่าเหมาะสม

เรียกว่า ป้องกันความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์เต็มที่เสมอ แม้จะเกิดความเสี่ยงกับธุรกิจหรือความเสี่ยงกับระบบเศรษฐกิจ

ที่ธุรกิจอสังหาฯ หวั่นวิตกอยู่เวลานี้ก็คือ

สิ้นเดือนกันยายน-ตุลาคมที่จะถึงนี้ เป็นระยะสิ้นสุดการเลื่อนการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ธุรกิจได้รับการผ่อนปรนอันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด เชื่อว่าจะมีธุรกิจจำนวนมาก ไม่ครึ่งก็เกินครึ่ง ที่ไม่สามารถชำระได้ ซึ่งก็จะกลายเป็นหนี้เสีย

เมื่ออัตราหนี้เสียมากขึ้น ธนาคารก็ต้องเข้มงวดการปล่อยกู้มากขึ้นไปอีก

ผลที่ตามมาลูกค้าที่ยื่นกู้ก็จะกู้ไม่ผ่านมากขึ้นไปอีก เป็นวงจรไม่สิ้นสุด

 

ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงเดือนสิงหาคม เพียงแค่ธนาคารระบุอาชีพใหม่ที่มีความเสี่ยงตกงานหรือรายได้น้อยลง ไม่ควรปล่อยกู้ ลูกค้าโครงการบ้าน คอนโดฯ โดนเข้าไปด้วย กู้ไม่ผ่านมากโข

เป็นอาชีพที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด

อาชีพพนักงานโรงแรม พนักงานบริษัทท่องเที่ยว พนักงานห้าง ร้านอาหาร โดนกันเรียบ

ที่น่าตกใจก็คือ นักบิน แอร์โฮสเตส สจ๊วต ซึ่งเป็นอาชีพลูกค้ารายได้สูง ซื้อที่อยู่อาศัยราคาแพงๆ ได้ ก็ได้กลายเป็นอาชีพเสี่ยงในการปล่อยกู้ซื้อบ้านไปเรียบร้อย

ไม่ต้องพูดถึงเจ้าของกิจการ SME เกี่ยวกับท่องเที่ยวทั้งหลาย มีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียกันถ้วนทั่ว

ล่าสุดมีรายงานว่า อาชีพพนักงานธนาคารก็จะถูกพิจารณาว่า เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะการดิสรัปชั่นด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ทำให้ธนาคารต่างๆ มีเป้าหมายที่จะลดจำนวนสาขาและพนักงานลง

พนักงานแบงก์ก็เลยจะกลายเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเหมือนกับอาชีพอื่นๆ เขาด้วย