เทศมองไทย : “โควิด-19” กำลังทำ “ขยะพลาสติก” ท่วมโลก?

รายงานขนาดค่อนข้างยาวของเซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ (เอสซีเอ็มพี) สื่อหนังสือพิมพ์ในเครืออาลีบาบา เมื่อ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา พูดถึงเรื่อง “ขยะพลาสติก” ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ในชาติอาเซียนโดยเฉพาะ

เพื่อสื่อสารออกไปยังผู้อ่านว่า เรากำลังก่อปัญหาใหญ่หลวงให้กับโลกเพิ่มมากขึ้น ในยามที่ถูก “ล็อกดาวน์” ให้อยู่แต่กับบ้าน

แม้ทั้งโลกถูกคาดการณ์ว่าจะสร้างขยะพลาสติกที่ก่อให้เกิดปัญหาการรีไซเคิลและมลภาวะโดยรวมเพิ่มมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ข้อมูลจากองค์กรเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมระดับโลกคาดว่า พอลลูชั่นจากขยะพลาสติกจะเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้าถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดดเพราะการระบาดหนนี้

แต่การเพิ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศอย่างอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนามและไทยนั้นส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อขยะพลาสติกของโลก

เนื่องเพราะแต่เดิม 3-4 ประเทศนี้ก็สร้างขยะพลาสติกให้กับโลกมหาศาลอยู่ก่อนแล้ว

 

โอเชียน คอนเซอร์เวนซี องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมบอกว่า ในแต่ละปีโลกผลิตขยะพลาสติกที่ไปลงเอยอยู่ในมหาสมุทรราวๆ 8 ล้านตัน กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดนี้เป็นขยะที่มาจาก 4 ชาตินี่แหละครับ ถึงแม้ว่าปัญหานี้ส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่ประเทศมั่งคั่งอย่างออสเตรเลีย, แคนาดา, อังกฤษและสหรัฐอเมริกา เขามักส่งออกขยะพลาสติกเข้ามาใน 4 ชาติที่ว่านี้มานานหลายสิบปีต่อเนื่องก็ตามที

แต่ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดหนักๆ ของโควิด-19 ที่ต้องล็อกดาวน์กันจ้าละหวั่นหลายประเทศ ปริมาณขยะพลาสติกในหลายประเทศทางอุษาคเนย์นี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ตัวอย่างเช่น ในอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตขยะพลาสติกออกมามากถึง 6.8 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉพาะในปีนี้อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ โดยราว 48 เปอร์เซ็นต์ถูกเผาทิ้งกลางแจ้ง อีก 10 เปอร์เซ็นต์เล็ดลอดลงสู่มหาสมุทร

ที่มาเลเซีย กระทรวงบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมบอกว่า เดือนมีนาคม ขยะของมาเลย์เพิ่มขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า, 31.5 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายน, 24.6 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤษภาคม

ที่น่ากังวลอย่างมากในมาเลเซียคือ ปริมาณขยะทางการแพทย์ตั้งแต่หน้ากากอนามัยไปจนถึงถุงมือและอุปกรณ์แหย่โพรงจมูกเพื่อตรวจหาเชื้อโควิดและอื่นๆ ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

 

ในประเทศไทยเรา ซึ่งเริ่มต้นการล็อกดาวน์เมื่อราวๆ ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยแสดงให้เห็นว่า ขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเดิมก็มหาศาลอยู่แล้วถึงวันละ 2,115 ตันในช่วงก่อนหน้าล็อกดาวน์หรือพรี-ล็อกดาวน์ พุ่งกระฉูดขึ้นเป็นกว่า 3,400 ตันต่อวันในช่วงเดือนเมษายนครับ

ในระดับประเทศจากที่เคยผลิตขยะพลาสติกกันที่ 5,000 ตันต่อวัน ก็เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6,300 ตันเลยทีเดียว

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการอนาคตปลอดพลาสติก ของกรีนพีซ ประเทศไทย ให้ข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าสำหรับเมืองไทยเราไว้ว่า เมื่อปี 2018 ทั้งปี เราผลิตขยะพลาสติกออกมาราว 2 ล้านตัน ในจำนวนทั้งหมดนี้มีเพียง 500,000 ตันเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ส่วนใหญ่แล้วเป็นพลาสติกจากขวดน้ำดื่ม

อีกราว 1.2 ล้านตันนั้นเป็นขยะพลาสติกที่ไม่ถูกนำไปรีไซเคิลใดๆ เลย ขยะพลาสติกพวกนี้ประกอบด้วย ถุงพลาสติก, ฝาขวดพลาสติกกับกล่องพลาสติกล้วนๆ

“พลาสติกที่ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิลจำนวนมากมาจากพลาสติกที่ถูกทำเป็นภาชนะบรรจุอาหารเพื่อนำกลับไปรับประทานที่บ้าน, ช้อนและส้อม, ไม้จิ้มฟัน, กล่อง และถุงพลาสติก” พิชามญชุ์บอกอย่างนั้น ก่อนเสริมด้วยว่า คนไทยไม่ชอบแยกขยะ ไม่คิดว่าจำเป็นต้องทำความสะอาดพลาสติก อย่างน้อยล้างน้ำเปล่าก็ยังดีก่อนโยนทิ้งไปเป็นขยะ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมราว 80 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล เนื่องจากสกปรก เลอะเศษอาหาร

เอสซีเอ็มพีบอกว่า ไทยเพิ่งจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ “แบน” ถุงพลาสติกเมื่อต้นปี 2020 แต่การระบาดของโควิด ดูเหมือนทำให้เรื่องนี้เลือนหายไปในความรู้สึกของคนไทย กลายเป็นเหมือนที่ผ่านๆ มาก็คือ ปราศจากความรับผิดชอบต่อขยะ ทิ้งแล้วก็แล้วกันไป ลืมซะ ไม่ได้คิดไว้ตั้งแต่แรกเริ่มตอนที่ลงมือซื้อว่า จะทำอย่างไรกับมัน จะทิ้งอย่างไร ทิ้งแล้วมันจะไปลงเอยที่ไหน

“ขยะเป็นผลผลิตจากคน เราต้องเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งกันเสียที” พิชามญชุ์ย้ำไว้อย่างนั้นครับ