จิตต์สุภา ฉิน : วิธีหนี ออกจากโลกแห่งการ Personalize

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ฉันเป็นหนึ่งในคนที่ติด Netflix ค่อนข้างมาก

ด้วยความที่เป็นคนชอบดูซีรี่ส์มาตั้งแต่เด็กและมักจะเสาะแสวงหาซีรี่ส์เรื่องใหม่ๆ มาดูอยู่เสมอ การมี Netflix ฝังอยู่กับทีวีที่บ้านก็ทำให้ฉันรู้สึกเหมือนมันกลายเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่ง

ต่อให้ไม่ได้กำลังอยู่ในช่วงที่ติดซีรี่ส์เรื่องไหนจริงจัง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเปิดและเบราซ์หาสิ่งที่น่าสนใจดูไปเรื่อย

อัลกอริธึ่มของ Netflix คือการจัดสรรหาสิ่งที่เราน่าจะสนใจมานำเสนอให้ โดยที่ดูจากข้อมูลของสิ่งต่างๆ ที่เราได้กดดูไปแล้ว ยิ่งดูเรื่องไหนไปจนจบ ก็จะยิ่งมีหนังหรือซีรี่ส์ในแนวเดียวกันนี้นำเสนอขึ้นมาให้อีกเรื่อยๆ

หลายปีก่อนตอนที่ Netflix เข้ามาทำตลาดในไทยใหม่ๆ ฉันยังจำได้ว่าแต่ละเรื่องจะมีระบบการให้คะแนนเป็นดาว ชอบมากก็แจกดาวให้ทุกดวง แต่ถ้าชอบน้อยก็ตระหนี่ให้ดาวน้อยหน่อย แต่ละเรื่องจะมีคะแนนเฉลี่ยของผู้ชมจากทั่วโลกแสดงผลเอาไว้ ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายว่าเรื่องไหนดูมีความน่าจะเป็นที่จะสนุกเพราะมีคะแนนเยอะก็จะได้กดดูเรื่องนั้น แต่จู่ๆ Netflix ก็เปลี่ยนระบบมาเป็นชอบกับไม่ชอบแทน ซึ่งแปลว่าความชอบของคนอื่นๆ จะไม่มีผลต่อการเลือกคอนเทนต์มานำเสนออีกต่อไปแล้ว

สิ่งเดียวที่จะกำหนดได้คือความชอบของตัวเราเองนี่แหละ

 

การหยิบเอาสิ่งที่เราดูบ่อยๆ ในแนวทางเดิมๆ มานำเสนอให้เพราะเป็นสิ่งที่เรามีโอกาสจะคลิกมากที่สุด คือกระบวนการที่เรียกว่า Personalized หรือการคัดเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะสำหรับแต่ละคนโดยเฉพาะ

สิ่งนี้ทำให้หน้าแรกของ Netflix ของเราไม่เหมือนกันเลยกับหน้าแรกของ Netflix ที่เพื่อนล็อกอิน

และถ้าเราไม่รู้ เราก็จะนึกว่าผู้ชมคนอื่นๆ เขาก็คงเห็นสิ่งเดียวกับที่เราได้เห็นนี่แหละ

แรกๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ฉันชอบเสียด้วยซ้ำที่ไม่ต้องเสียเวลามานั่งดูปกของเรื่องที่ห่างไกลจากความสนใจของฉันเสียเหลือเกิน

แต่เมื่อเวลาผ่านไปฉันกลับรู้สึกว่าทำไมโลกการชมคอนเทนต์ของฉันมันแคบลงเรื่อยๆ

และเมื่อได้ไปใช้ Netflix ที่ล็อกอินเอาไว้ในโทรทัศน์บ้านเพื่อนซึ่งหน้าแรกเต็มไปด้วยภาพยนตร์หลากหลายหมวดหมู่ ผิดกับหน้าแรกของฉันที่มีแต่ซีรี่ส์ล้วนๆ แทบจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลย

ก็ทำให้ฉันรู้สึกว่า แย่แล้ว ฉันเสพแต่สิ่งเดิมๆ มากเกินไปแล้ว

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับเราทุกคนบนแทบจะทุกแพลตฟอร์ม ไม่ใช่แค่ Netflix แต่โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือเว็บไซต์ดูวิดีโอ YouTube ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน

ถ้าเราชอบอะไรหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาแบบไหนบ่อยๆ มันก็จะหยิบเอาเนื้อหาแบบนั้นมานำเสนออยู่นั่นแหละ

และโดยไม่รู้ตัวเราก็รู้สึกว่าเราถูกห้อมล้อมไปด้วยสิ่งที่เราชอบและสิ่งที่เราเชื่อ และพาลคิดไปว่าคนอื่นๆ ก็ต้องเชื่อและชอบในสิ่งเดียวกับเราด้วยเหมือนกัน

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาอาจจะไม่ได้เห็นสิ่งเดียวกันนี้เลยก็ได้

 

การได้ไปใช้ Netflix ของเพื่อนทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันตัดขาดจากโลกของภาพยนตร์ไปแบบแทบจะสิ้นเชิง จนเกือบลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าในนั้นมีหนังน่าดูอยู่เต็มไปหมด และหลายๆ เรื่องก็เป็นเรื่องที่เคยเล็งๆ เอาไว้ว่าอยากดูแต่ไม่เคยมีโอกาสได้ดูสักที

ปรากฏการณ์ echo chamber หรือ filter bubble ที่เราอยู่แต่กับสิ่งที่เราชอบเพราะอัลกอริธึ่มนำเสนอมาให้อย่างไม่ขาดสายจนเราคิดว่านี่แหละคือทั้งหมดที่มีอยู่ ถ้าหากเกิดกับการเสพความบันเทิงก็อาจจะไม่ได้มีอะไรที่น่าเป็นห่วงสักเท่าไหร่ เราแค่ขาดอรรถรสในการรับชมของใหม่ๆ ไปบ้าง หรืออาจจะเบื่อกับของที่เราดูอยู่เป็นประจำ

แต่ถ้าเกิดขึ้นกับข่าวสาร ความเคลื่อนไหวในประเทศ ในโลก กลยุทธ์ชั้นเชิงความเชื่อและความชอบทางการเมือง ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อาจจะน่าเป็นห่วงกว่านั้นมาก

Netflix ให้ข้อมูลว่า กว่า 80% ของผู้ใช้งานเลือกชมคอนเทนต์จากที่ระบบนำเสนอให้ ในขณะที่ตัวเลขเดียวกันนี้บน YouTube จะอยู่ที่ 70% นั่นก็หมายความว่าคนส่วนใหญ่เลือกคลิกดูสิ่งที่ระบบนำเสนอโดยที่แทบจะไม่ได้ดูอะไรที่อยู่นอกวงความสนใจเลย

แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะหนีออกจากความจำเจนี้ และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาบ้าง

 

มีหลายวิธีที่เราสามารถหลบหลีกจากระบบที่จะคอยแนะนำสิ่งที่เราชอบและคุ้นเคย อย่างเช่น การลบประวัติการท่องเว็บไซต์ หรือการลบคุกกี้ซึ่งเป็นไฟล์เล็กๆ ที่ทำให้เว็บไซต์ต่างๆ ที่เราแวะเข้าไปชมสามารถติดตามกิจกรรมของเราได้

ยิ่งเราสะสมคุกกี้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีข้อมูลร่องรอยของเรามากเท่านั้น หากเราขยันลบสิ่งเหล่านี้ ก็จะเป็นการเปิดทางให้ตัวเราได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากวงความสนใจของตัวเราได้บ้าง

การปิดออโต้เพลย์หรือการเล่นวิดีโอโดยอัตโนมัติก็ช่วยได้เหมือนกัน ออโต้เพลย์เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มหาศาลสำหรับแพลตฟอร์มอย่าง Netflix และ YouTube เพราะมันช่วยทำให้ระบบรู้ว่าเราน่าจะสนใจอะไรบ้าง หากเราหยุดดูนานก็แปลว่าเราสนใจ แต่ถ้าเราเลื่อนผ่านไปเลย ระบบก็จะจำได้ว่าเราไม่ชอบอะไรแนวๆ นี้

แพลตฟอร์มอย่าง Netflix จะนำเสนอหมวดหมู่ของหนังที่เราน่าจะชอบให้ประมาณ 10 หมวดหมู่โดยใช้ข้อมูลสิ่งที่เราเคยดูมาแล้ว หรือสิ่งที่ผู้ใช้งานที่มีโปรไฟล์คล้ายๆ กับเราชอบดู แต่ในความเป็นจริงแล้ว Netflix มีหนังหรือซีรี่ส์มากถึง 200 หมวดหมู่ ซึ่งรับประกันว่ามีหลายหมวดหมู่มากๆ ที่คุณยังไม่เคยดูและไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามี

การใช้ VPN หรือซอฟต์แวร์ที่ช่วยปกปิด IP Address ของเราด้วยการใช้ IP Address สุ่มแทน ก็จะทำให้ระบบไม่สามารถติดตามหรือรู้ตำแหน่งของเราได้ แต่บางแพลตฟอร์มก็ไม่ยอมให้เราใช้ VPN เข้าไปก็มีบ้างเหมือนกัน

นอกจากวิธีที่เสนอมา ฉันก็คิดว่าอาจจะมีวิธีที่ง่ายและเป็นมิตรยิ่งกว่านั้น อย่างการที่เราสลับกันใส่หนังหรือซีรี่ส์เข้าไปในลิสต์ของเพื่อน การล็อกเอาต์ออกจากชื่อบัญชีตัวเองบน YouTube และลองนั่งดูคลิปที่นำเสนอไว้บนหน้าแรก หรือการเลือกดูหนังหรือคลิปที่ติดอันดับหรือที่มีคนมาแนะนำเอาไว้

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เราจะต้องเริ่มมองรอบๆ ตัวเราด้วยความตื่นรู้ก่อนว่าเรากำลังเสพคอนเทนต์แบบเดิมๆ อยู่จริง และถามตัวเองว่าเราอยากออกจากความคุ้นเคยที่แสนสบายนี้เพื่อไปพบเจออะไรใหม่ๆ หรือเปล่า ถ้าไม่ ก็จงขดอยู่ที่เดิมต่อไปเพราะมันก็ไม่ได้ผิดอะไร ฉันเข้าใจ

แต่ถ้าใช่ ก็ลองใช้วิธีต่างๆ ที่บอกมาได้เลย