คำ ผกา | อดีตคืออนาคต

คำ ผกา

 

หมุด อันเป็นวัตถุไร้ชีวิต สถิตแน่นิ่ง เงียบงัน และเกือบจะถูกหลงลืม (มีเพียงผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไม่กี่คนไปแสดงความเคารพหมุดนั้นในวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี) อยู่บนพื้นผิวถนนนั้นมา 81 ปี ถึงขณะนี้กลับปลุกเร้าบทสนทนาขึ้นมาอย่างหลากหลาย

ผลพลอยได้จากวิวาทะเรื่องหมุด ทำให้ฉันระลึกขึ้นได้ว่า เออ…เราไม่ได้ทบทวนความหมายของคำต่างๆ เหล่านี้และใช้มันแบบ take it for granted คือ ใช้ตามความเคยชิน ใช้โดยไม่ตั้งคำถาม นั่นคือ คำที่เกี่ยวกับ “มรดกของชาติ” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ โบราณคดี

โบราณ ในความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตฯ ให้ความหมายว่า

[โบราน โบรานนะ-] ว. มีมาแล้วช้านาน เก่าก่อน เช่น อักษรโบราณ หนังสือเก่า เก่าแก่ เช่น แพทย์แผนโบราณ ของโบราณ (ปาก) ไม่ทันสมัย เช่น คนหัวโบราณ. (ป. โปราณ ส. เปาราณ).[โบราน โบรานนะ-] ว. มีมาแล้วช้านาน เก่าก่อน เช่น อักษรโบราณ หนังสือเก่า เก่าแก่ เช่น แพทย์แผนโบราณ ของโบราณ

(ปาก) ไม่ทันสมัย เช่น คนหัวโบราณ. (ป. โปราณ ส. เปาราณ).

http://dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-royal-institute/%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93

หากจะเทียบกับอีกหลายพจนานุกรม ก็จะได้ความหมายว่า สมัยก่อน สมัยเก่า อดีตกาล คือสามารถแปลได้เป็นทั้ง old fashioned outdated (ล้าสมัย) หรือจะแปลว่า ancient คือ โบราณกาล หรือจะหมายถึง ของเก่า ซึ่งก็คือ antique ก็ยังได้อีก

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อพูดถึงโบราณวัตถุ เราย่อมคิดถึงของที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ นั่นแหละ ไม่มีวันเป็นอื่น หรือไม่ก็ข้ามไปเป็นหม้อบ้านเชียง ลูกปัดโบราณพันปีอะไรไปนู่นเลย และที่ค่อนข้าง “ทริกกี้” ในจินตนาการของคนไทยคือ ถ้าเราเห็นอะไรที่ดูเป็น “ไทยประเพณี” บางทีเราก็ไม่สนใจว่ามันอายุ 30 ปี หรือ 300 ปี ถ้ามาในทรงไทยประเพณีปุ๊บ เราพร้อมจะเติมคุณศัพท์โบราณให้สิ่งนั้นอย่างไม่ลังเล

คำถามต่อมาคือ ถ้าเราเจอหม้อบุบบิบบู้บี้ของชาวบ้านเมืองสองร้อยปีก่อน เราจะนับมันเป็นขยะหรือโบราณวัตถุ?

 

อ่านถึงตอนนี้อาจมีคนบอกว่า จะบ้าเหรอ! คำว่าโบราณวัตถุมันต้องมี “คุณค่า” ทางประวัติศาสตร์ด้วย หม้อบุบบิบบู้บี้จะเป็นโบราณวัตถุได้ยังไง ถ้าเป็นหม้อของคนสำคัญหรือหม้อที่ใช้ในเหตุการณ์สำคัญ เออ อันนั้นค่อยว่ากัน – แต่ปัญหามันอยู่ตรงนี้ไง ว่าใครกำหนดนิยามความสำคัญ และคุณค่าต่อประวัติศาสตร์

สังคมทุกสังคม ผ่านช่วงเวลาที่คำว่า โบราณสถาน โบราณวัตถุ หมายถึง สถาน หรือวัตถุที่สูงค่า เป็นของศาสนา หรือเป็นของผู้นำ ของบุคคลสำคัญ เช่น วัด โบสถ์โบราณ คัมภีร์ทางศาสนา

จนเมื่อแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์แบบมหาบุรุษถูกตั้งคำถาม และขยับมาศึกษาประวัติศาสตร์ของสามัญชน

สิ่งที่ถูกให้คุณค่า ควรค่าแก่การเก็บรักษาในฐานะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์จึงเป็นข้าวของเครื่องใช้ รายละเอียดในชีวิตของสามัญชน ของผู้หญิง ของคนผิวสี ของทาส

มิวเซียมต่างๆ ที่เคยจัดแสดงแต่เครื่องของอลังการของราชการ ศาสนา วีรบุรุษ วีรสตรี ผู้นำ ก็เริ่มมีการสร้างมิวเซียมชาวนา มิวเซียมทาส มิวเซียมโสเภณี

ดังนั้น คำที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัตถุทางประวัติศาสตร์ จึงถูกผลิตสร้างขึ้นมา เพื่อรองรับพลวัตทางสังคม

(แน่นอนว่าเกี่ยวพันกับอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น สำนึกประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ลัทธิเชิดชูความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม กระแสสตรีนิยม กระแสหลังอาณานิคม ผนวกกับความเป็นสหวิทยาการของโลกวิชาการ เป็นต้น)

ถ้อยคำที่เรียกทั้งวัตถุและสถานที่ จึงมีทั้ง antiquities, national heritage, historical objects, historical resources หรือโบราณวัตถุ, มรดกของชาติ (มีทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้) วัตถุทางประวัติศาสตร์ที่ไม่จำเป็นต้องโบราณ ไปจนถึงทรัพยากรทางประวัติศาสตร์ ซึ่งกินความหมายกว้างมาก ทั้งที่เป็นสถานที่ วัตถุ เหตุการณ์ สถานการณ์ ฯลฯ ที่มีผลต่อประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม เศรษฐกิจ มานุษยวิทยา วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ทั้งเก่า ใหม่ ถูกนับเป็นทรัพยากรทางประวัติศาสตร์

หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่หมุนวนอยู่รอบตัวเราล้วนมีสิทธิจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น

ดังนั้น การตัดสินว่าอะไรสำคัญ จึงอยู่ในแนวราบและหลากหลายมาก เช่น สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์ดนตรี จุดที่ วิตนีย์ ฮูสตัน ยืนหน้าทางเข้างานรางวัลแกรมมี่ก็อาจจะเป็น “หมุดหมาย” ของสถานที่และเวลาที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

ข้าวของทุกชิ้นในชีวิตของ ไมเคิล แจ๊กสัน ก็คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์

สำหรับคนสนใจประวัติศาสตร์แรงงาน รายละเอียดในชีวิตประจำวันของแรงงานหญิงในโรงงานทำเสื้อผ้าสำเร็จรูปในบังกลาเทศก็อาจหมายถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และมีค่าพอจะนำไปจัดแสดงในมิวเซียม

ความรู้ทางประวัติศาสตร์จึงสะท้อนพลวัตทางการเมืองของสังคมนั้นๆ ด้วย

ยิ่งสังคมมีพลวัตทางการเมืองที่อำนาจเป็นของประชาชนมากเท่าไร พื้นที่ของประวัติศาสตร์ก็ย่อมเป็นพื้นที่เปิดสำหรับคนทุกคนจะเข้ามาเขียนประวัติศาสตร์หรือบอกเล่าเรื่องราวของตนเองมากขึ้นเท่านั้น

พูดให้ง่ายและหยาบคือ อำนาจรัฐในการผูกขาดการเล่าเรื่องราวของอดีตก็เบาบางลงตามลำดับ

และประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะถูกเขียนโดยใครก็ย่อมจะถูกท้าทาย ตั้งคำถาม และเกิดสิ่งที่เรียกว่าการประชันขันแข่งของอดีต อันนำไปสู่การเดินทางไปทำความเข้าใจอดีตด้วยข้อเท็จจริงที่มากกว่าหนึ่งชุดบนความตระหนักรู้ว่าไม่มีข้อเท็จจริงชุดใดชุดหนึ่งจริงแท้สมบูรณ์แบบปราศจากอคติ

วิชาประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่วิชาท่องจำ แต่เป็นวิชาที่มีไว้ท้าทายอำนาจของผู้ผูกขาดการเล่าเรื่องเกี่ยวกับอดีต เพราะใครก็ตามที่ผูกขาดอดีตเอาไว้ได้ก็ย่อมกำอนาคตไว้ในมือ

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องราวของผู้ชนะ แต่ประวัติศาสตร์เป็นสนามแห่งการประลองกำลังของผู้เล่าเรื่องเกี่ยวกับอดีตอันประชันขันแข่งกันอย่างมากหน้าหลายตา

ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีแต่คำบอกเล่า หรือตัวหนังสือ ประวัติศาสตร์ยังมีอนุสาวรีย์ วัตถุเพื่อการรำลึกถึง การกำหนด วันและเวลาใดเวลาหนึ่งให้เป็นห้วงเวลาพิเศษ มีกิจกรรมพิเศษ

เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบเพื่อใช้ประลองกำลัง ช่วงชิงอำนาจแห่งการยึดกุมอดีตเอาไว้ทั้งสิ้น

และเรามักจะถอดใจว่า มีแต่รัฐเท่านั้นที่มีสรรพกำลังมากพอที่จะกันอาจว่าด้วยการพูดถึงอดีตเอาไว้แต่ฝ่ายเดียว

เพราะรัฐสามารถทำทั้งผลิตหนังสือ สร้างอนุสาวรีย์ ออกแบบผังเมือง กำหนดจุดแลนด์มาร์กของเมือง เป็นเจ้าของมิวเซียม และอีกสารพัดกลไกของรัฐที่จะสร้างประวัติศาสตร์ฉบับราชการและสถาปนาให้เป็นฉบับที่ถูกต้องที่สุด

แต่ถ้าประชาชนอยากมีส่วนร่วมในการกำกับอดีต ประชาชนต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจในการพูดถึงอดีตในเวอร์ชั่นของตัวเองเพื่อปะทะสังสรรค์กับฉบับของราชการ

และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ในไต้หวัน ฮ่องกง อเมริกา ญี่ปุ่น จึงมีการประท้วงให้รัฐบาลแก้ไขเนื้อหาแบบเรียนประวัติศาสตร์อยู่เนืองๆ

ที่ผ่านมาคนไทยเพิกเฉยและเห็นความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีน้อยเกินไป

เราเชื่อเหมือนนักชาตินิยมยุคศตวรรษที่ 19 ที่มองว่าประวัติศาสตร์มีไว้เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ

แต่เราไม่เคยมองว่า ประวัติศาสตร์คือเครื่องมือในการปลดปล่อยเราออกจากอำนาจครอบงำของรัฐที่กดขี่

และบ่อยครั้งที่เราติดกับดักของประวัติศาสตร์ที่มุ่งสร้างความมลังเมลืองแก่ตัวเราและพวกพ้องของเรา จนลืมไปว่า ประวัติศาสตร์ย่อมพร้อมจะบันทึกทั้งด้านดีและด้านร้ายของอดีต

อดีตของสังคมสังคมหนึ่งพึงมีทั้งเรื่องราวของความกล้าหาญ ความโง่เขลา ชัยชนะและความพ่ายแพ้

ประเทศทั้งประเทศ มีอายุมาตั้งเป็นร้อยปี จะมีแต่เรื่องดีๆ เรื่องฉลาดๆ เรื่องน่าภาคภูมิใจอย่างเดียวได้อย่างไร

เช่นเดียวกัน วัตถุทางประวัติศาสตร์ หรือสิ่งที่พึงรักษาไว้ เพื่อเป็นประจักษ์พยานแห่งชีวิตของสังคมการเมืองสังคมหนึ่ง คุณค่าของมันไม่จำเป็นต้องเป็นของเก่า มีอายุนับร้อยๆ ปี

ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางศิลปะ งดงาม วิจิตรบรรจง วัตถุบางชิ้นอาจจะอัปลักษณ์อย่างยิ่ง ใหม่อย่างยิ่ง แต่หากมันมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ บ่งบอกถึงจุดเปลี่ยนผ่านอันสำคัญของสังคมการเมืองนั้น วัตถุนั้นก็ย่อมเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า โดยไม่จำเป็นต้องเก่าหรือโบราณ

ประวัติศาสตร์ไม่ได้หมายถึงอดีตอันไกลโพ้น (หากวันนี้บอลไทยได้ไปแข่งบอลโลก คนไทยก็คงบอกว่านี่เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มันเก่าหรือยาวนาน) วัตถุทางประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเก่าแก่ หรือสูงค่า แต่ประเด็นคือ สำหรับเรา วัตถุนั้นคือหมุดหมายแห่งอดีตที่กำกับอนาคตของเราหรือไม่?

คำตอบของเราวันนี้ที่มีต่ออดีต ย่อมเป็นสิ่งตัดสินชะตาของเราในอนาคต