ต่างประเทศ : ที่มา “แอมโมเนียมไนเตรต” ระเบิดแฝงตัวใน “กรุงเบรุต”

เหตุระเบิดครั้งใหญ่ในกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน เมื่อคืนวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุระเบิดที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเลบานอน และมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วกว่าร้อยราย ส่วนยอดผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6,000 คน

สาเหตุเบื้องต้นคาดกันว่ามาจาก “แอมโมเนียมไนเตรต” ที่ถูกเก็บไว้ที่คลังสินค้าของท่าเรือในกรุงเบรุต ที่มีปริมาณมากถึง 2,750 ตัน!!

แอมโมเนียมไนเตรตเป็นสารเคมีที่ใช้สำหรับการผลิตปุ๋ยเพื่อการเกษตร และยังมีไว้สำหรับทำระเบิดในอุตสาหกรรมเหมืองแร่อีกด้วย

คำถามคือ สารอันตรายขนาดนี้ ปริมาณมากขนาดนี้ มาอยู่ที่ท่าเรือแห่งนี้ได้อย่างไร แล้วจริงๆ แล้วมันเป็นของใคร ทำไมถึงถูกเก็บไว้ที่แห่งนี้

 

ซีเอ็นเอ็นได้เผยแพร่เอกสารที่บ่งชี้ให้เห็นว่า สารแอมโมเนียมไนเตรตเหล่านี้มาจากไหน

ซีเอ็นเอ็นระบุว่า แอมโมเนียมไนเตรต 2,750 ตันนี้เดินทางถึงกรุงเบรุตโดยเรือเอ็มวี โรซุส ของ “รัสเซีย” เมื่อปี 2013 ซึ่งออกเดินทางจากเมืองบาทูมี ประเทศจอร์เจีย และมีเป้าหมายในการเดินทางคือประเทศโมซัมบิก แต่ต้องหยุดพักที่กรุงเบรุต เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเงิน ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดเหตุจลาจลขึ้นบนเรือระหว่างลูกเรือชาวรัสเซียกับลูกเรือชาวยูเครน

เอกสารระบุว่า เรือเอ็มวี โรซุสนี้เป็นของบริษัทเตโต ชิปปิ้ง ซึ่งลูกเรือบอกว่าเป็นของนายอิกอร์ เกรชุชกิน นักธุรกิจจากเมืองคาบารอฟสก์ ประเทศรัสเซีย ที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ไซปรัส

โดยหลังออกจากจอร์แดน เรือเอ็มวี โรซุส ซึ่งมีนายบอริส โปรโคเชฟ เป็นกัปตันเรือ ได้แวะเติมน้ำมันที่ประเทศกรีซ ที่ซึ่งเจ้าของเรือได้แจ้งกับลูกเรือชาวรัสเซียและชาวยูเครนว่า “เขาไม่มีเงินแล้ว” และยอมให้ลูกเรือสามารถนำของบนเรือไปขายเพื่อเป็นค่าเดินทางต่อได้

นำไปสู่การนำเรือวกไปจอดเทียบท่าที่ “กรุงเบรุต”

 

เมื่อจอดที่กรุงเบรุต เรือเอ็มวี โรซุส ก็ถูกเจ้าหน้าที่การท่าเรือยึดเรือทั้งหมดเอาไว้ เนื่องจากเป็นการละเมิดกฎของท่าเรือ เพราะไม่มีการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการจอดเรือ ขณะที่ลูกเรือชาวรัสเซียและยูเครนยังมีการร้องเรียนเรื่องการถูกลอยแพอีก

กัปตันโปรโคเชฟให้สัมภาษณ์ไว้หลังเกิดเหตุระเบิดที่ท่าเรือว่า ลูกเรือต้องอยู่บนเรือนานถึง 11 เดือน โดยมีของกินอยู่บนเรือน้อยมาก และเขาได้เขียนจดหมายถึงวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียทุกวัน

“แม้ว่าเราจะขายเชื้อเพิลง ใช้เงินในการจ้างทนายความ เพราะไม่มีความช่วยเหลือใดๆ ส่งมา แต่เจ้าของเรือก็ไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย ไม่มีแม้แต่อาหารหรือน้ำ” กัปตันโปรโคเชฟกล่าว

จนในที่สุดลูกเรือชาวรัสเซียทั้งหมดก็ทิ้งเรือ

 

กลุ่มสหภาพลูกเรือแห่งรัสเซียเปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า จากข้อมูลที่ได้ ลูกเรือชาวรัสเซียถูกเนรเทศกลับประเทศบ้านเกิดในเวลาต่อมา และไม่ได้รับเงินเดือนค่าจ้างแต่อย่างใด

“ตอนนั้นบนเรือไม่มีอะไรเลย มีแต่สินค้าที่เป็นอันตราย อย่างแอมโมเนียมไนเตรต ซึ่งการท่าเรือของเบรุตไม่อนุญาตให้นำลงจากเรือหรือถ่ายโอนไปยังเรือลำอื่น” กลุ่มสหภาพระบุ

กระทั่งในปี 2014 จึงได้มีการโยกย้ายสารแอมโมเนียมไนเตรต 2,750 ตันจากบนเรือไปเก็บไว้ที่โรงเก็บเครื่องบิน หมายเลข 12 ที่ท่าเรือเบรุต และอยู่ยาวจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีคนเตือนแล้วเตือนเล่าถึงอันตรายของการเก็บสารแอมโมเนียมไนเตรตจำนวนมหาศาลนี้เอาไว้

บาดรี ดาเฮอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรของเลบานอน เปิดเผยว่า เมื่อเรือลำดังกล่าวเดินทางจอดเทียบท่าที่กรุงเบรุต เขาและอีกหลายคนได้เตือนแล้วว่าเรือบรรทุกดังกล่าวเปรียบเสมือนกับ “ระเบิดลอยน้ำ”

แต่ดูเหมือนไม่มีใครสนใจคำเตือนดังกล่าว!

 

ในจดหมายที่ชาฟิก เมอร์ฮี ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากร ที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าดาเฮอร์ เขียนไว้เมื่อปี 2016 ส่งถึงผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า “อันเนื่องมาจากอันตรายมหาศาลจากการเก็บสิ่งของเหล่านี้ในสภาพที่ไม่เหมาะสม เราขอย้ำข้อเรียกร้องของเรา ให้การท่าเรือนำสินค้าเหล่านี้ออกไปทันที เพื่อคงไว้ซึ่งความปลอดภัยของท่าเรือและการทำงานในท่าเรือ”

ในเอกสารที่เปิดเผยได้ของศาล ที่ซีเอ็นเอ็นได้รับผ่านทางวาดิห์ อัล-แอสมาร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวเลบานอน เปิดเผยให้เห็นว่า ดาเฮอร์และเมอร์ฮีได้ยื่นเรื่องต่อศาลกรุงเบรุตให้ช่วยจัดการกับสารอันตรายเหล่านี้หลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา

หนึ่งในจดหมายที่ดาเฮอร์เขียนเมื่อปี 2017 ระบุว่า ปี 2014 และปี 2015 พวกเขาได้ขอให้ศาลท่าให้การท่าเรือส่งออกสารแอมโมเนียมไนเตรตไปยังประเทศอื่น

ยังมีบางครั้งที่ดาเฮอร์เสนอให้ขายสารอันตรายเหล่านี้ให้กับกองทัพเลบานอนด้วย แต่ก็ไม่มีใครทำตามที่ร้องขอ

ดาเฮอร์ยืนยันกับซีเอ็นเอ็นว่า เขาได้ส่งจดหมายอย่างน้อย 6 ฉบับยื่นต่อทางการเรื่องการจัดการกับสารแอมโมเนียมไนเตรตเหล่านี้ แต่ทางการเลบานอนก็ไม่เคยตอบสนองต่อคำร้องขอเหล่านั้นแต่อย่างใด

“การท่าเรือไม่ควรจะอนุญาตให้เรือนำสารเคมีมาที่ท่าเรือ และสารเคมีเหล่านี้ จริงๆ แล้วจะส่งไปที่ประเทศโมซัมบิก ไม่ใช่เลบานอน” ดาเฮอร์กล่าว

 

นายฮัสซัน เครเทม ผู้อำนวยการของการท่าเรือเบรุต เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น โอทีวี ว่า “เราเก็บสารเคมีเอาไว้ที่คลังเก็บสินค้าหมายเลข 12 ที่ท่าเรือเบรุต ตามคำสั่งของศาล เรารู้ว่ามันเป็นสารอันตราย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้”

และว่า กระทรวงความมั่นคงและศุลกากรได้ขอให้กำจัดหรือส่งออกสารเคมีที่เป็นวัตถุระเบิดนี้ตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน และทางท่าเรือก็รออยู่ว่าจะให้แก้ไขอย่างไร แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ก่อนหน้าที่จะเกิดการระเบิด ก็เพิ่งจะมีคำสั่งจากกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐให้ซ่อมแซมประตูของคลังเก็บสินค้า ก็มีการซ่อมในเที่ยงวันนั้น ก่อนจะเกิดระเบิดขึ้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

ตอนนี้ทางการเลบานอนเองก็กำลังสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงว่า เหตุระเบิดรุนแรงนี้เกิดขึ้นจากอะไร และใครกันที่ต้อง “รับผิดชอบ” ในเรื่องที่เกิดขึ้น

ใครจะรับผิดชอบกับชีวิตนับร้อยที่ต้องตายไป เพราะการละเลยไม่ใส่ใจกับ “ระเบิด” ที่แฝงตัวอยู่ที่ท่าเรือแห่งนี้มานานถึง 6 ปี โดยที่ทางการไม่ใส่ใจที่จะจัดการกับมันเลย