ไทยมองไทย : 2 หู 1 ปาก เรื่องเล่านักเรียนพันธุ์ใหม่ (4)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานจากเวทีประชุมประจำปีของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาปีที่ 4 ตอนที่แล้วผมปิดท้ายที่ข้อเสนอต่อระบบการศึกษาไทย ตั้งแต่ระดับกระทรวงศึกษาธิการลงไปจนถึงระดับเขตพื้นที่การศึกษา ของทีมวิจัยติดตามประเมินผลโครงการ นำโดย ผศ ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษาแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ว่าไปแล้ว หากพิจารณาเนื้อในของข้อเสนอดังกล่าว ยังรวมเลยไปถึงผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ภูมิปัญญาในพื้นที่ทุกระดับทีเดียว

ที่สำคัญ พลาดข้อความอันเป็นสาระที่น่าเน้นย้ำ เลยขอย้อนกลับ เอาประโยคที่ผู้วิจัยกล่าวบนเวทีต่อผู้ฟังเกือบพันคนมาฉายอีกครั้ง

“รากของปัญหาคือการบริหารจัดการสถานศึกษาที่กำกับแนวดิ่ง สั่งการจากระดับบนเป็นทอดๆ ได้บั่นทอนกำลังความคิดของผู้บริหารสถานศึกษาจนขาดศักยภาพคิดทำสิ่งใหม่ด้วยตนเอง”

ใครมีพฤติกรรมความคิดเข้าข่ายตามความในประโยคนี้บ้าง จะปรับความคิด ปรับตัว ปรับใจ ปรับการปฏิบัติโดยยินยอมพร้อมใจ ไม่ต้องใช้อำนาจและคำสั่งอย่างไร ก็แล้วแต่ดุลยพินิจนะครับ

ก่อนเริ่มต้นรายงานผลสรุปการวิจัยและข้อเสนอ หัวหน้าทีมพูดถึงความเชื่อของเพาะพันธุ์ปัญญาให้รับรู้ ซึ่งเป็นธงนำความคิดและแนวทางปฏิบัติ การทำโครงงานฐานวิจัยที่เกิดปัญญาโดยผู้เรียนเอง ดังนี้

1. วิจัยสร้างปัญญาให้ผู้ทำ วิจัยจึงเป็นกระบวนการของการศึกษา

2. ปัญญาเกิดได้จากการคิดบูรณาการความรู้เข้าสู่ข้อสรุปอย่างมีเหตุ-ผล มีตรรกะ

3. การทำวิจัยด้วยความคิดแบบผลเกิดจากเหตุ คือกระบวนการสร้างปัญญาของมนุษย์

4. การได้ปัญญาจากวิจัยเป็นปัจจัตตัง วิจัยต้องเป็นงานของผู้เรียน

5. การศึกษาต้องเรียนรู้ผ่านความเข้าใจจากประสบการณ์ปฏิบัติ คิดด้วยเหตุด้วยผล จนรู้เอง (กาลามสูตร)

6. ครูต้องเข้าใจวิจัยในส่วนของกระบวนการ แล้วจัดให้นักเรียนทำ

ปรากฏการณ์จากการติดตามผล จากการพูดคุยกับนักเรียน ครูแกนนำ ผู้บริหาร ครูศูนย์พี่เลี้ยง พ่อแม่ผู้ปกครอง และร่วมสังเกตการจัดการเรียนตามแนวทาง RBL ทั้งในโรงเรียนที่ปฏิบัติได้ดีมากกับยังอยู่ในระดับที่ท้าทาย พบความเปลี่ยนแปลงของนักเรียนและครูมากมาย ดร.เลขา สะท้อนให้ฟังเป็นตัวอย่างสองเรื่อง

นักเรียนตั้งชื่อเรื่องของเธอมาด้วย

 

คนแรก นักเรียนหญิงชั้นมัธยมปีที่ 6 ชื่อเรื่องว่า 2 หู 1 ปาก

“หนูเป็นคนที่รับผิดชอบสูง มีความเป็นผู้นำสูง หนูเป็นหัวหน้าห้องมาตลอด แต่พอมาเรียน ม.4 มีเพื่อนที่มาจากโรงเรียนใหม่เข้ามา แต่ละคนมีบุคลิกภาพแตกต่างกัน แต่หนูก็ยังคิดว่าหนูเก่ง คิดว่าหนูอยู่โรงเรียนเดิม สภาพแวดล้อมเหมือนเดิม หนูก็ยังเป็นหัวหน้าห้อง

ต่อมาครูให้จัดงานนำเสนอโครงร่าง RBL ซึ่งมีโรงเรียนหนูเป็นเจ้าภาพและเชิญโรงเรียนอื่นมาร่วม ครูมอบให้นักเรียนที่มาจากโรงเรียนอื่นเป็นคนรับผิดชอบหลัก

หนูโกรธ น้อยใจ ทำไมครูไม่เลือกเรา เราเก่ง เราเป็นหัวหน้า ครูก็สอนเรามานาน เราก็เข้าร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น ทำไมครูจึงมองข้ามเรา หนูยอมรับว่าหนูไม่พูด ไม่ฟัง ไม่ยอมรับรู้ว่าเขาจะทำอะไร ทำอย่างไร หนูปิดกั้นตัวเอง

หนูเป็นอย่างนี้อยู่ช่วงหนึ่ง งานก็คงก้าวหน้าไปเรื่อยๆ หนูฉุกคิดว่าแทนที่จะไม่สนใจ ลองมาค้นหาดูว่า เขาทำงานอย่างไร แล้วมาค้นหาตัวเอง ถ้าเป็นเราจะทำได้อย่างเขาไหม

วิธีการของเขาต่างไปจากหนูจริงๆ เขาจะฟังเพื่อนๆ ก่อน แล้วจึงลงมือทำ งานของเขาก้าวหน้าไปเป็นขั้นตอน เขาทำได้ดีกว่าหนูจริงๆ ถ้าเป็นหนูป่านนี้คงยุ่งและเหนื่อยมาก

จุดนี้เองทำให้ความเชื่อที่ว่าหนูเก่งกว่าใคร จบลง หนูคิดว่า แทนที่เราจะปิดตัวเองแบบนี้ ทำไมเราไม่ช่วยให้เขาทำงานสะดวกขึ้น ในเมื่อเราเองเป็นนักเรียนเก่าที่นี่ คุ้นเคยกับสิ่งต่างๆ มากกว่าเขา

มาถึงตอนนี้หนูเริ่มคุยกับเขา และถามว่าจะให้หนูช่วยอะไรบ้าง เขาดีใจมากและบอกว่าอยากให้หนูช่วยแต่เกรงใจ

เขาพูดหนูก็ฟัง พอหนูพูดเขาก็ฟัง พอเราช่วยกันทำงาน งานก็เสร็จเร็ว ถึงเวลาการนำเสนองานทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทั้งระหว่างงานและหลังงาน พอเสร็จงานทุกอย่างก็ถูกเก็บเสร็จเรียบร้อย

หนูเรียนรู้ว่า คนเรานั้นไม่มีใครเก่งจนพัฒนาต่อไม่ได้ เราควรพัฒนาตนด้วยการฟังคนอื่นให้มากขึ้น เรียนรู้ในสิ่งที่เขาทำ ขอข้อเสนอแนะจากเขา เอามาคิด แทนที่จะฝังตัวเองกับเรื่องเก่า และที่สะดุดใจหนูมากที่สุดคือ หนูรู้แล้วทำไมธรรมชาติจึงให้คนมีหู 2 ข้าง แต่มีเพียง 1 ปาก”

 

เรื่องต่อมา ชื่อว่า ปฏิวัติ เรื่องราวของนักเรียนชาย ชั้นมัธยมปีที่ 3

“ผมเป็นคนพูดน้อย ขี้อาย ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เวลาทำงานโครงงานกลุ่ม ผมจะนั่งฟังเพื่อนๆ พูดแล้วทำงานตามที่เพื่อนบอก เวลานำเสนออะไรผมจะแค่ไปยืนในกลุ่มแต่ไม่เคยเสนอและไม่เคยตอบคำถาม ผมรู้สึกสบายใจที่เป็นคนอย่างนี้

วันหนึ่งถึงเวลาที่ต้องนำเสนอโครงงานในห้องเรียน ครูบอกว่าครูจะให้คนที่ไม่เคยนำเสนออะไรในกลุ่มไปนำเสนอหน้าห้อง ซึ่งในกลุ่มก็มีผมคนเดียว 2 คนแรกเสนอหัวเรื่องและร่างเค้าโครงไปแล้ว ผมตกใจมาก ผมคิดมาก ผมจะทำอย่างไรดี ผมไม่เคยพูดอะไรหน้าห้องเลย พอยิ่งคิดผมก็ยิ่งกลัว

เพื่อนๆ ในกลุ่มบอกให้ผมลองพูดในกลุ่มดู ผมพูดตะกุกตะกัก มองหน้าเพื่อนๆ ก็รู้แล้วว่าผมพูดไม่ดี เพื่อนๆ ทำท่าหนักใจแต่ไม่ว่าอะไร บอกแต่ว่าไม่เป็นไร ยังมีเวลาซ้อม

พอกลับไปถึงบ้านผมเริ่มซ้อมพูดกับกระจก พูดดังๆ แต่ก็ยังพูดติดๆ ขัดๆ แล้วก็เริ่มใหม่ ทุกคนในบ้านได้ยินผมพูดพึมพำหน้ากระจกคนเดียว ทีแรกเขาแปลกใจ แต่ก็ไม่ว่าอะไร ผมซ้อมอย่างนี้ทุกวัน วันละหลายครั้ง จะไปขอเลิกพูดกับครูก็ดูว่าไม่เหมาะสม ทุกคนในกลุ่มเขาทำมาแล้วและครูอยากให้เราฝึกพูด เราก็น่าจะทำต่อ

มาถึงวันนำเสนอ ผมตกใจมาก กลัวจะพูดไม่ออก แต่พอถึงกลุ่มผม ทุกคนออกไปยืน ผมยืนตรงกลางแล้วสมมติว่าข้างหน้าผมคือกระจก ผมก็พูดตามที่ซ้อมมา พอพูดจบก็มีคำถาม ผมกับเพื่อนๆ ก็ช่วยกันตอบคำถาม ครูชมผมว่าพูดได้ดี เพื่อนๆ ในห้องบอกว่า ไม่นึกเลยว่าผมจะพูดได้ดีมาก

ผมรู้สึกว่า ความกลัวและความอายมันหลุดหายไปจากตัวผม จริงๆ แล้วผมก็พูดหน้าห้องได้ ทีนี้พอมีการพูดคุยกันในกลุ่มผมก็เริ่มเสนอความเห็น เวลามีคนถามผมก็จะตอบ ที่กล้ากว่านั้นคือผมกล้าถามคำถาม

ตอนนำเสนอโครงงานผมรับหน้าที่เป็นคนนำเสนอด้วย ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมคงขอออกไปยืนเฉยๆ ผมพูดได้คล่อง ไม่ตะกุกตะกัก ไม่อาย และแทนที่จะคุยเฉพาะเพื่อนในโครงงาน ผมกล้าออกไปคุยกับเพื่อนๆ ในห้อง เพื่อนๆ ที่มาด้วยบอกว่าเปลี่ยนจากคนขี้อายมาเป็นคนพูดเก่ง”

 

เรื่องเล่าความเป็นจริงทำนองนี้ เกิดขึ้นหลายเรื่อง หลากรส ทุกโรงเรียน ทุกศูนย์พี่เลี้ยง ถูกชักชวน เรียกร้องให้เล่าด้วยการบันทึกความคิด ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการเรียนรู้ตามกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา ภายใต้หลักการ สะท้อนคิดคือเรียน ถามคือสอน เขียนคือคิด

ผลงานเล่มล่าสุด “รอยจากรึก บนเส้นทางครูเพาะพันธุ์ปัญญา” ครูปัญญาทีปกร 24 คน น่าอ่านมาก

พวกเขาสะท้อนคิดจากการเขียน อ่านแล้วสะอึก ยิ้มหรือร้องไห้ ต้องติดตาม