อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (24) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

 

“ในช่วงปี 1518 ไข้ทรพิษซึ่งไม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มพวกเขาได้ระบาดขึ้น และทำให้พวกเขามีสภาพไม่ต่างจากฝูงนกที่โดนเล่นงานด้วยอากาศที่เป็นพิษ”

เปโดร มาเทียร์-Pedro Martir

โรคภัยไข้เจ็บและความตายมาถึงโลกใหม่พร้อมกับขบวนเรือของโคลัมบัสในครั้งที่สองคือปลายปี 1493 ในช่วงต้นของศตวรรษที่สิบหก

ก่อนการระบาดของไข้ทรพิษในปี 1518 การเจ็บป่วยล้มตายของคนพื้นถิ่นนั้นเป็นไปอย่างไม่รุนแรงนัก แม้ว่าผู้คนดั้งเดิมในเกาะแก่งแถบแคริบเบียนจะป่วยไข้จนแทบสูญพันธุ์ไปจากเกาะแก่งเหล่านั้น ทว่า ปริมาณผู้เสียชีวิตเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดก็เป็นสัดส่วนที่ไม่มากมาย

ทว่า การระบาดของไข้ทรพิษในปี 1518 นั้นถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

ความทรงจำต่อเหตุการณ์นั้นปรากฏในบันทึกของผู้รอดชีวิตทั้งจากคนพื้นถิ่นที่เผชิญโรคร้ายนั้นราวกับถูกคำสาปให้จบชีวิตและในหมู่คนตะวันตกผู้มาใหม่ที่ต้องแลเห็นแรงงานของตนเองล้มตายราวใบไม้ร่วงโดยไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย

บันทึกว่าด้วยการระบาดครั้งนั้นปรากฏเป็นเอกสารจำนวนมาก

แต่เอกสารชิ้นที่สมบูรณ์เป็นจดหมายเล่าเหตุการณ์ของบาทหลวง หลุยส์ เดอ ฟิเกอรัวร์-Luis de Figueroa และบาทหลวง อลอนโซ่ เดอ ซานโต โดมิงโก้-Alonso de Santo Domingo ที่มีถึงพระเจ้าชาร์ลที่ห้า ในวันที่ 10 มกราคม ปี 1519

จดหมายนั้นถูกส่งจากฮิสปานิโอล่าอันเป็นสถานที่ที่มีการระบาดของโรคสถานที่หนึ่ง

ข้อความในจดหมายเล่าว่าโรคระบาดเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 1518 และคร่าชีวิตชาวอินเดียนท้องถิ่นไปถึงหนึ่งในสาม

อีกทั้งยังคงระบาดต่อเนื่อง ขยายวงกว้างไปอีก แม้ในช่วงเวลาที่พวกเขาเขียนจดหมายฉบับนี้

“อาจเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่โรคระบาดนี้เล่นงานเฉพาะพวกคนอินเดียน และหามีทีท่าสงบลงไม่ พวกเขาล้มตายและยังคงล้มตายอย่างต่อเนื่อง ประชากรที่ล้มตายมีถึงหนึ่งในสาม กระหม่อมขอกราบทูลว่าพวกเราได้ทำทุกวิถีทางและยังพยายามต่อไปที่จะช่วยและเยียวยาชีวิตของพวกเขา”

ในจดหมายยังเล่าอีกว่าการระบาดได้ขยายตัวไปถึงเปอร์โตริโก้

“เราได้ทราบข่าวมาว่าพวกอินเดียนบนเกาะซานฮวน เริ่มล้มตายด้วยไข้ทรพิษแล้ว”

จดหมายจากข้าราชสำนักอีกคนคือ ฮาโร่-Haro ที่มีไปถึงพระเจ้าชาร์ลที่ห้าจากคาปาร์ร่า ในเปอร์โตริโก้ ในวันที่ 21 มกราคม 1519 ช่วยยืนยันความจริงข้อนี้ เขารายงานว่า แม้ว่าพวกอินเดียนจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี พวกเขาก็ไม่อาจทนพิษไข้ได้

“พวกเขามีร่างกายที่อ่อนแอเกินไป เป็นความอ่อนแอแบบเดียวกับศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระผู้เป็นเจ้า”

บันทึกเหตุการณ์อันน่าเศร้าในแถบแคริบเบียนนี้ปรากฏอย่างเป็นระเบียบอีกครั้งในหนังสือชื่อ “รายงานจากโลกใหม่” ของ เปโดร มาเทียร์-Pedro Martir ผู้ซึ่งแน่นอนว่าได้อ่านสำเนาจดหมายของบาทหลวงหลุยส์ และบาทหลวงอลอนโซ่ เขาเขียนหนังสือเล่มที่ว่านี้ในปี 1520 เล่าถึงเหตุการณ์ระบาดของไข้ทรพิษในปี 1518 ว่าส่งผลต่อชนพื้นเมืองราวกับฝูงสัตว์ที่ได้สูดดมอากาศเป็นพิษเข้าไปจนล้มตายดุจใบไม้ร่วง

บาทหลวง บาร์โธโลเม่ เด ลาส คาซาส ผู้ที่เขียนบันทึกเกี่ยวกับการเดินทางของเขามาโลกใหม่ในปี 1520 ก็ได้เล่าถึงเหตุการณ์นี้เช่นกัน หากแต่เขามีความสงสัยในการระบาดของโรคว่าเป็นความจงใจของใครบางคน

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโรคที่ระบาดอยู่นั้นคือโรคไข้ทรพิษ มันแพร่ในหมู่ชนพื้นเมืองและเชื่อได้ว่าจุดกำเนิดของมันนั้นมาจากผู้คนที่มาจากแคว้นคาสติลล์”

ในจดหมายของบาทหลวงหลุยส์และบาทหลวงอลอนโซ่นั้นไม่มีที่มาของโรคนี้ พวกเขาเพียงแต่กล่าวว่าผลกระทบของมันที่มีต่อร่างกายของชาวยุโรปเป็นไปอย่างเบาบางมาก

“โรคระบาดที่ว่านี้เกิดในหมู่คนสเปนเหมือนกัน ทว่า ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต ดูเหมือนพวกเราจะไม่มีใครกลัวโรคนี้หรือโรคระบาดอื่นๆ เลย”

บาทหลวง ลาส คาซาส ก็ให้ความเห็นทำนองนี้ว่ามีพวกสเปนหยิบมือหนึ่งติดเชื้อไข้ทรพิษเช่นกันในขณะที่พวกอินเดียนล้มตายลงเพราะไข้ทรพิษถึงหนึ่งในสองเลยทีเดียว

สําหรับในดินแดนอื่นอย่างเกาะไทโน่ บาทหลวง ลาส คาซาส บันทึกว่าไข้ทรพิษคร่าชีวิตผู้คนไปจนแทบสูญพันธุ์ บนเกาะเหลือชนพื้นเมืองไม่ถึงหนึ่งพันคน

“จากจำนวนผู้คนที่เราเคยพบเห็นว่ามีจำนวนมหาศาล”

บาทหลวงโดมิงนิกันท่านนี้เล่าให้ฟังถึงการระบาดอันรวดเร็วหลังจากที่ชนพื้นเมืองลงไปอาบน้ำร่วมกันในแม่น้ำ ในขณะที่พวกสเปนเมื่อแลเห็นการล้มตายเป็นจำนวนมาก ได้พากันเก็บตัวเงียบในที่พักและบำรุงร่างกายให้เข้มแข็งแทนและพยายามหาตัวยาที่รักษาผู้ป่วย

ซึ่ง ลาส คาซาส กล่าวว่า “พวกเขาควรทำเช่นนี้เนิ่นนานแล้วไม่ใช่ในยามวิกฤต”

ปัญหาการขาดแคลนอาหาร การเคยชินกับการเปลือยกาย และการอาศัยอยู่ตามพื้นดินเป็นที่หลับนอนพักผ่อน รวมถึงการถูกใช้ให้ทำงานหนัก และการไม่แยแสสุขภาพของตนเอง สิ่งเหล่านี้ในความเห็นของ ลาส คาซาส ล้วนก่อให้เกิดความเจ็บป่วยและการติดเชื้อจนเสียชีวิตได้อย่างง่ายดาย

การระบาดของโรคไข้ทรพิษส่งผลต่อการปกครองแบบใหม่และการจัดระเบียบดินแดนในเวลาเดียวกัน ในแถบฮิสปานิโอล่า ผู้ตรวจการ โรดิโก้ เด ฟิเกอรัวร์ ต้องการยึดครองหมู่บ้านสิบสามหมู่บ้านของชาวไทโน่เข้ามาเป็นที่ตั้งมั่นของชาวสเปน

ในตอนแรกพวกเขาคิดว่าจะมีการต่อต้าน แต่การระบาดของโรคในช่วงปลายปี 1518 ถึงต้นปี 1519 ทำให้การต่อต้านนั้นไม่เป็นผล

จำนวนประชากรของชาวไทโน่หลงเหลือไม่เพียงพอสำหรับการสู้รบ แม้ว่าจะมีการกบฏขึ้นครั้งหนึ่งเมื่อผู้บุกรุกชาวสเปนข่มขืนภรรยาของหัวหน้าเผ่าคนหนึ่ง แต่เหตุการณ์สงบโดยเวลาอันรวดเร็ว ความโหดร้ายของผู้มาใหม่และโรคภัยได้สยบชาวไทโน่ให้อยู่ภายใต้โอวาทและไม่อาจแข็งขืนได้อีกเลยแม้ในอนาคต

การแพร่ระบาดของโรคไข้ทรพิษลุกลามจากเกาะแก่งในทะเลแคริบเบียนไปยังริมฝั่งเม็กซิโกในเวลาต่อมา นายทหารคู่ใจคนหนึ่งของ แฮร์นัน คอร์เตซ (ผู้พิชิตอาณาจักรแอซเต็ก) นาม ฟรานซิสโก้ โลเปซ เด โกมาร่า-Francisco Lopez de Gomara ได้บันทึกว่า

“มีทาสผิวดำคนหนึ่งติดที่เคยอยู่แถบนาร์วาเรซนำไข้ทรพิษมา เขาติดมันจากเซมโปล่าอันเป็นที่ที่เขาจากมา และทำให้โรคร้ายเริ่มกระจายจากเขาสู่พวกอินเดียน จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งและสู่อีกหลายคน สาเหตุเพราะพวกเขากินอยู่หลับนอนด้วยกันและทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว”

บันทึกจากบุคคลอื่นก็กล่าวเช่นนั้นว่าการระบาดเริ่มจากทาสผิวดำคนหนึ่งอันทำให้เชื่อได้ว่ามีการแพร่กระจายจากคิวบามายังชายฝั่งเมโสอเมริกันผ่านทางแรงงานทาส

และเมื่อมันขึ้นฝั่งได้แล้ว มันก็เริ่มต้นเดินทางลึกเข้าไปในแผ่นดิน

การระบาดลึกเข้าไปในแผ่นดินนั้นเกิดขึ้นพร้อมกองทัพสเปนที่ต้องการจับตัว แฮร์นัน คอร์เตซ-Hernan Cortes บุรุษผู้ที่ตั้งตนเป็นกบฏกับคำสั่งของผู้ว่าการคิวบาในขณะนั้น คอร์เตซมุ่งหน้าสำรวจดินแดนรกร้างในเม็กซิโก

และในขณะที่เขากำลังคิดหาวิถีทางโจมตีอาณาจักรแอซเต็กอยู่นั่นเอง โรคระบาดก็คร่าชีวิตคนพื้นถิ่นไล่หลังเขามา บันทึกของคนอินเดียนที่รอดชีวิตเล่าว่าโรคไข้ทรพิษระบาดในช่วงเทศกาลทีโอทีเล็กโก้-Teotlecco ในปีนั้น (วันที่ 10-29 กันยายน 1519) การระบาดนั้นกินเวลาราวหกสิบวันและฆ่าพวกเราไปมหาศาล

โลเปซ เด กามาร่า บันทึกเพิ่มเติมว่า “พวกอินเดียนเรียกโรคร้ายนี้ว่า ฮุยซาฮัวร์-Huitzahuatl ซึ่งหมายถึงโรคเรื้อนขนาดใหญ่ และพวกเขาถือเอาการระบาดครั้งนั้นเป็นการเริ่มต้นปฏิทินศักราชแบบใหม่เลยทีเดียว”

สิ่งที่คร่าชีวิตชนพื้นเมืองพร้อมกับโรคระบาดคือความหิวโหย พวกสเปนที่เคยผ่านประสบการณ์การระบาดของกาฬโรคมาเมื่อสองศตวรรษก่อนรู้ดีว่าการขาดอาหารคือสาเหตุสำคัญของความตาย

ในขณะที่ชนพื้นเมืองไม่มีความรู้เช่นนั้น เมื่อเกิดโรคระบาด พ่อแม่จะทิ้งลูก สามีจะทิ้งภรรยา และทำให้คนเหล่านั้นไม่มีใครคอยพยาบาลดูแล พวกเขาอาจทนพิษไข้ได้ แต่ไม่อาจทนการขาดแคลนอาหารได้ โลเปซ เด โกมาร่า เล่าถึงการขาดแคลนอาหารของชนพื้นเมืองว่า “พวกเขาหิวโหยจนสิ้นใจ ขนมปังนั้นไม่เพียงพอ พวกเขาต้องการอาหารที่มากกว่านั้น พวกผู้หญิงที่มีชีวิตเหลือเอาข้าวโพดหนึ่งฝักมาเผาแบ่งกันกิน ก่อนจะล้มป่วยลงด้วยไข้ทรพิษและตายลงด้วยความหิวโหย”

เช่นเดียวกันกับการจัดระเบียบโรคใหม่ที่ชาวสเปนโชคดีที่ได้พึ่งพาการระบาดของโลกมาลดจำนวนผู้ต่อต้าน เหตุการณ์ใหญ่อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เข้าข้างพวกสเปนคือการถล่มอาณาจักรแอซเต็ก ในขณะที่คอร์เตสกำลังรีรอการเข้าโจมตีนั้นเอง ไข้ทรพิษก็แพร่ระบาดเข้าไปในอาณาจักรแอซเต็ก

และทำให้พวกสเปนสามารถถล่มอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่นั้นได้แม้ว่าผู้นำของเขาจะคิดค้นวิธีรับมือกับทหารม้าของสเปนได้แล้ว

ย้อนอ่านตอนที่ 23