จดหมาย มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21-27 เมษายน 2560

หมุด (1)

โปรดพิจารณาด้วยครับ

สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์ครับ

———-

“หมุดหาย กับ หมุดหมาย”

แม้หมุดจะหาย

แต่หมายหมุดยัง

(แม้จะใหญ่คับฟ้าขับเรือดำน้ำหรือมากับรถถัง

แต่กะตังค์ก็ยังเป็นของประชาชน…ขนไปซื้อ)

นายบุญชิด ฮาดะ

 

บก.ตอบจดหมาย

ประวัติศาสตร์มีหลายด้าน

ประหลาดนัก ที่มักจะมีผู้อยากให้ประวัติศาสตร์มีด้านเดียว

และบังคับจดจำอยู่เพียงด้านที่อยากให้จำ

นี่ พ.ศ.2560 แล้ว

ไม่น่าเชื่อ จะมีเหตุการณ์ “หมุดหาย” เกิดขึ้นอีก

 

หมุด (2)

ขอทวงคืนหมุดคณะราษฎร

ตามที่ปรากฏเป็นการทั่วไปว่ามีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรบริเวณลานหน้าพระบรมรูปทรงม้า

ซึ่งเป็นหมุดที่ทำขึ้นเพื่อสะท้อนเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย

อันเนื่องในเหตุการณ์การอภิวัฒน์สยาม 2475 ซึ่งพระยาพหลพลพยุหเสนา

หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร ได้ยืนอ่านประกาศคณะฉบับที่ 1

เสร็จสิ้นในเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475

โดยภายในหมุดเดิมมีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง

คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”

แม้หมุดดังกล่าวจะเคยถูกอำนาจรัฐสั่งรื้อสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของชาติไทยไปในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ตาม

แต่เมื่อพ้นยุคสมัยไปแล้วเลขาธิการรัฐสภาในสมัย นายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ ได้ให้กรุงเทพมหานครเอาหมุดดังกล่าวกลับมาประดิษฐานดังเดิมอีกครั้ง

การที่มีบุคคลหรือหน่วยงานใดได้กระทำการอันพยายามบิดเบือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาติในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยการจัดทำหมุดขึ้นมาใหม่ โดยมีข้อความรอบนอกว่า

“ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี

ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี

ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

ส่วนข้อความในวงด้านใน ระบุว่า

“ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส

เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน”

และนำไปสับเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรเดิมนั้น

เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาญา

และขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 57 (1)

ประกอบมาตรา 78 ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คือ กรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม

จะต้องเร่งดำเนินการนำหมุดคณะราษฎรดังกล่าวกลับมาประดิษฐานยังที่เดิม

หากไม่ดำเนินการ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญจะใช้สิทธิตามมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไปแน่นอน

ประกาศมา ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2560

ศรีสุวรรณ จรรยา

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

 

บก.ตอบจดหมาย

ผลแห่งการออกมาทวง “หมุด” คณะราษฎรคืน

ทำให้ “ศรีสุวรรณ จรรยา” หายเข้าไปในค่ายทหาร

แต่ก็คง “หาย” ไปชั่วระยะหนึ่ง

ที่สุดทหารก็ต้องปล่อยตัวออกมา

ชะตากรรมนี้ จะหมายรวมถึง “หมุดคณะราษฎร” หรือไม่ ไม่ทราบ

แต่มีแนวโน้มสูง ที่จะ “หายสาบสูญ”

กระนั้น ถึงจะสาบสูญ แต่ “หมาย” ใน “หมุด” อันหมายถึง “ประชาธิปไตย” นั้น

จักคงอยู่ในความ “ทรงจำ”

 

หมุด (3)

เรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็พยายามให้เป็นเรื่อง

ผมเห็นว่า ควรสืบหาหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญให้พบ

แล้วฝังไว้ ณ จุดเดิมตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อการ

ส่วนหมุดใหม่ ให้สืบสวนดูว่า ใครเป็นผู้จัดทำขึ้นมา และมีเจตนาอะไร

แล้วให้เอาไปฝังในที่ที่ผู้จัดทำต้องการ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ด้วยแผ่นป้าย

ในขณะที่ยังไม่มีผู้ประกาศตนเป็นผู้จัดทำ

ให้เรียกหมุดใหม่นี้พร้อมติดแผ่นป้ายว่า หมุดอีแอบไปพลางก่อนครับ

พีระศักดิ์ แฟนเก๊าเก่า

 

บก.ตอบจดหมาย

ความพยายาม

ที่จะไม่ให้เป็นเรื่อง

ตามข้อเสนอของ “พีระศักดิ์ แฟนเก๊าเก่า”

ดูจะเป็นเรื่องมากกว่า (ฮา)

 

หมุดหมายที่เอเวอเรสต์

เรียน บรรณาธิการ และผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์

เนื่องด้วยช่วงสงกรานต์เลยไปจนถึงปลายเดือนเมษายน

ผม-นิ้วกลมมีอันต้องเดินทางไกลไปค่ายฐานเอเวอเรสต์

ณ สถานที่สูงชันเช่นนั้น มิสามารถนำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไปได้

เพราะเกรงใจลูกหาบ เกรงจะได้รับการกระทบกระแทก

และต่อให้นำไปได้ ก็ใช่ว่าจะมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้ใช้สอย

จึงขออนุญาตแจ้งข่าวก่อนเดินทางว่า ขออนุญาตขาดส่งต้นฉบับ

ในช่วงเดือนเมษายนไปพักใหญ่ โดยจะรีบกลับมาประจำการ

ในเดือนพฤษภาคม เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว

ด้วยความเกรงใจท่านบรรณาธิการและผู้อ่านอย่างสูงครับ

นิ้วกลม

 

บก.ตอบจดหมาย

แม้ก้าวแรกจะเป็นเพียง “ฐานเอเวอเรสต์”

แต่ก็ถือเป็นก้าวอันท้าทาย

แม้เราจะไม่ได้อ่านงานของ “นิ้วกลม” ระยะหนึ่ง

แต่เชื่อว่า หลังจากทริปเอเวอเรสต์

เราคงได้อ่านงาน “หิมาลัย” และอื่นๆ ที่น่าสนใจต่อไป