ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“ยุทธศาสตร์ เป็นกระบวนการที่มีเหตุผล… (แต่) บางครั้งรัฐเข้าสู่สงคราม โดยปราศจากเป้าหมายที่ชัดเจน หรือมีเป้าหมายที่ไม่อาจบรรลุได้”
Thomas G. Mahnken
“Strategic Theory” (2007)
การจัดหายุทโธปกรณ์เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่เป็นถึง “ปัญหาใจกลาง” ของนโยบายการป้องกันประเทศหรือนโยบายยุทธศาสตร์ของรัฐ
ดังนั้น เมื่อรัฐจัดซื้อยุทโธปกรณ์จึงเป็นภาพสะท้อนของนโยบายด้านการทหารของรัฐนั้นอย่างชัดเจน
และที่สำคัญก็คือ การจัดซื้อเช่นนี้ยังบ่งบอกถึงการเตรียมการด้านการทหารว่ารัฐดังกล่าวเตรียมรบในจินตนาการของการสงครามแบบใดอีกด้วย
ดังนั้น สำหรับผู้ที่สนใจในนโยบายการป้องกันประเทศของไทย การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยจึงเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองและได้รับความสนใจมาโดยตลอด
เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจัดซื้อในแต่ละครั้งคือการบ่งบอกถึงทิศทางทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกองทัพไทยอย่างชัดเจน
และยังเป็นการส่งสัญญาณทั้งทางการเมืองและการทหารต่อระบบพันธมิตรด้านความมั่นคงในแต่ละช่วงเวลาที่เกิดขึ้นอีกด้วย
ประเด็นสำคัญก็คือ การบ่งบอกถึงทิศทางในการเตรียมรับภัยคุกคาม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการจัดหายุทโธปกรณ์ในแต่ละครั้ง คือภาพสะท้อนถึง “ทัศนะต่อภัยคุกคาม” ของรัฐบาลและกองทัพในช่วงเวลานั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย
หนึ่งในการจัดหาของกองทัพไทยที่ถูกจับตามองอย่างมากในปัจจุบันก็คือ การจัดซื้อรถถังหลัก (main battle tanks) ของกองทัพบกไทย (รถถังในปัจจุบันไม่ได้ถูกจัดแบ่งเป็นรถถังเบา รถถังกลาง และรถถังหนักแบบในอดีต แต่ใช้เป็นรถถังหลักแทน)
โดยหลังจากรัฐประหาร 2549 แล้ว กองทัพบกได้จัดหารถถังหลักเข้ามาทดแทนต่อรถถังเก่าที่ประจำการอยู่แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นรถถังแบบเอ็ม-41 (สหรัฐ) และรถถังแบบที-69 (จีน) ซึ่งอาจจะไม่อยู่ในสถานะที่จะสามารถใช้ได้จริงในทางยุทธการ
ฉะนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว กองทัพบกไทยได้ตัดสินใจจัดซื้อรถถังแบบที-84 อ๊อปลอต (T-84 Oplot) จากยูเครน ยอดการจัดซื้อมีจำนวนประมาณ 59 คัน
แต่ผลจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ยูเครนสามารถส่งมอบรถถังดังกล่าวให้แก่ไทยได้เพียง 10 คัน (ตัวเลขปลายปี 2558)
สภาพเช่นนี้ทำให้ในช่วงต้นปี 2559 จึงมีข่าวปรากฏในวงการค้าอาวุธอย่างมากถึงความต้องการรถถังหลักของกองทัพบกไทย โดยมีวงเงินงบประมาณเกือบ 9 พันล้านบาท และมีตัวเลือกทั้งรถถังที-90 (T-90) จากรัสเซีย เค-1เอ1 (K-1A1) จากเกาหลีใต้ และวีที-4 (VT-4) จากจีน
หรือแม้มีข่าวว่ากองทัพไทยสนใจต่อรถถังใหม่ล่าสุดของรัสเซียคือแบบที-14 (T-14 Armata) เป็นต้น
ในทางยุทธศาสตร์นั้น การจัดหารถถังเป็นจำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมหาศาล เป็นวิวาทะด้านความมั่นคงของนักการทหารอยู่พอสมควร
หากย้อนกลับไปในอดีตของสงครามโลกครั้งที่ 2 คงต้องยอมรับว่ารถถังมีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวรบด้านตะวันออก
สงครามรถถังระหว่างเยอรมนีกับรัสเซียมีส่วนอย่างมากต่อการชี้ขาดชัยชนะของสงครามในแนวรบนี้ ดังจะเห็นว่าการรบที่ครุสก์ (The Battle of Kursk) ในปี 2486 ถือว่าเป็นสงครามรถถังที่ใหญ่ที่สุดของโลก
หรือสำหรับแนวรบด้านตะวันตกแล้ว สงครามรถถังครั้งสำคัญระหว่างสหรัฐกับเยอรมนีที่เมืองบาสโตน หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “ยุทธการโป่งพอง” (The Battle of the Bulge) ในปี 2487 ก็เป็นอีกตัวอย่างของการรบด้วยรถรบขนาดใหญ่ (บางคนอาจจะเรียกด้วยชื่อของภาพยนตร์ว่า “ยุทธการรถถังประจัญบาน”)
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นดังยุคที่สงครามทางบกมีรถถังเป็นพลังอำนาจหลัก ซึ่งก็สอดรับกับยุคสมัยของอำนาจทางอุตสาหกรรมของโลก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สงครามโลกครั้งที่ 2 มีลักษณะเป็น “สงครามยานยนต์” ที่จักรกลการเคลื่อนที่เป็นเครื่องมือหลักในการสงครามทางบกของรัฐ หรือที่เรียกสงครามทางบกเช่นนี้ในทางทฤษฎีว่า “Mechanization of Warfare”
ซึ่งคุณลักษณะเช่นนี้ทำให้สงครามยานยนต์เป็นกลไกหลักของการสงคราม
สำหรับในโลกปัจจุบันแล้ว ความต้องการในการสร้างพลังอำนาจทางทหารของรัฐผ่านกองทัพรถถังขนาดใหญ่ จึงเป็นดังจินตนาการของสงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการมองภาพการรบในลักษณะของ “สงครามตามแบบ” (conventional warfare) ของยุคสงครามโลก ซึ่งจะขอเรียกภาพลักษณ์นี้ว่าเป็นแบบ “ยุทธการนอร์มังดี” (The Battles of Normandy) ในปี 2497 อันเป็นตัวแบบของสงครามระหว่างรัฐเต็มรูป
ดังนั้น บทความนี้จึงขอเรียกความต้องการในการสร้างกำลังรบขนาดใหญ่ของสงครามตามแบบว่า “นอร์มังดีซินโดรม” (The Normandy Syndrome)
เพราะความต้องการเช่นนี้คือภาพสะท้อนถึงจินตนาการของสงครามในแบบเดิม ที่มีการยุทธ์ด้วยกำลังรบตามแบบขนาดใหญ่
และคุณลักษณะของการยุทธ์นี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีพลังอำนาจของรถถังเช่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเครื่องมือหลักของการสงครามที่เกิดขึ้น
ในยุคสงครามเย็นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีจินตนาการแบบ “นอร์มังดี” คงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสนามรบของการเผชิญหน้าของรัฐมหาอำนาจตะวันตกและตะวันออกในยุทธบริเวณของยุโรป รถถังจึงเป็นกำลังสำคัญในแผนการทัพทางบกของทั้งสองฝ่ายในยุคนั้น
แต่ในอีกมุมหนึ่งของสงครามเย็น ได้เห็นสงครามก่อความไม่สงบ (insurgency warfare) เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศกำลังพัฒนา รถถังดูจะเป็นเครื่องมือการรบที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก
เช่น ในสงครามเวียดนาม เป็นต้น
และยังเห็นได้ชัดเจนว่าในสงครามนี้ บทบาทของรถถังกลับถูกทดแทนด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์โจมตี (attack helicopters) และปืนใหญ่รถถังก็ถูกทดแทนด้วยอาวุธปล่อย (missiles) จากเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ… โลกของรถถังกำลังเปลี่ยนแปลงไปกับเงื่อนไขสงคราม รถถังเป็นเครื่องมือที่ไม่ทรงพลังในสงครามเช่นนี้
ต่อมา เมื่อโลกก้าวสู่ยุคหลังสงครามเย็นด้วยจุดเริ่มต้นของสงครามอ่าวเปอร์เซีย (The Gulf War) ในปี 2534 ก็เห็นได้ชัดเจนว่ารถถังเริ่มหมดขีดความสามารถทางทหารในแบบเดิมลง ในยุทธการ “พายุทะเลทราย” (The Desert Storm Operations)
เฮลิคอปเตอร์โจมตีได้มีบทบาททดแทนต่อรถถังมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
จนทำให้นักการทหารบางคนเชื่อว่ายุคของรถถังกำลังจะจบลงแล้ว…
รถถังหลักกลายเป็นของล้าสมัยในสงครามสมัยใหม่ ที่อำนาจการทำลายมาจากอากาศ
ยุทธการแบบ “รถถังประจัญบาน” ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นความล้าสมัยและไม่คุ้มค่าในการลงทุน
อีกทั้งการสงครามในโลกปัจจุบันมีความเป็น “อสมมาตร” หรือที่เรียกในทางทฤษฎีว่า “สงครามอสมมาตร” (asymmetric warfare) ก็ยิ่งบ่งบอกถึงความเปราะบางของรถถัง
ภัยคุกคามที่น่ากลัวสำหรับรถถังในสนามรบปัจจุบันก็คือ “ระเบิดแสวงเครื่อง” (improvised explosive devices) และทุ่นระเบิด
ดังจะเห็นได้จากประสบการณ์ของรถถังอเมริกันในสงครามอิรักในปี 2546 ก็คือ รถถังแบบเอ็ม-1 ถูกทำลายจากระเบิดแสวงเครื่องและทุ่นระเบิดเป็นจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งรถถังก็อาจจะไม่มีคุณประโยชน์อย่างเต็มที่กับการรบในเมือง (urban combat) อย่างเช่นที่ฟาลูจาร์ในอิรัก เป็นต้น
ด้วยเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงของสงครามเช่นนี้ทำให้กองทัพหลายๆ ประเทศตัดสินใจลดปริมาณรถถังลง
กองทัพบกอังกฤษเป็นตัวอย่างหนึ่งในกรณีเช่นนี้ ด้วยเหตุผลว่าอังกฤษจะไม่เผชิญกับภัยของสงครามตามแบบจนต้องมีความจำเป็นในการใช้รถถังเป็นจำนวนมากในแบบเดิม
แต่สำหรับบางประเทศแล้ว การคงกำลังรถถังจำนวนมากไว้ในประจำการโดยไม่มีภัยคุกคามจากภายนอกที่ชัดเจนนั้น ก็น่าจะเป็นเหตุผลจากปัญหาความมั่นคงภายใน
กล่าวคือ รถถังคือสัญลักษณ์ของพลังอำนาจทางบกของทหาร
แต่ถ้าไม่มีสงครามทางบกแล้ว รถถังก็คือสัญลักษณ์ของพลังทหารในการรักษาความมั่นคงภายใน
ดังเช่นที่เมื่อครั้งสหภาพโซเวียตรัสเซียใช้รถถังในการปราบปรามการเรียกร้องเสรีภาพของประชาชนในฮังการี และในเชโกสโลวะเกียในยุคสงครามเย็นมาแล้ว
ดังนั้น เมื่อกองทัพบกไทยจัดหารถถังใหม่ จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า กองทัพไทยกำลังเตรียมรับสงครามทางบกแบบใดและจากใคร
เพราะคู่ขนานกับการซื้อรถถังชุดใหม่ก็คือการออกพระราชบัญญัติกำลังพล ที่จะเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับการฝึกทหารอันนำไปสู่คำถามว่า กองทัพไทยกำลังเตรียมฝึกกำลังพลสำรองขนาดใหญ่ในยามสันติ ซึ่งก็เท่ากับว่ากองทัพในยุคนี้กำลังเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่สงครามใหญ่
เพราะการเตรียมการเช่นนี้ไม่อาจจะตีความเป็นอย่างอื่นได้ เพราะรัฐบาลทหารกำลังสร้าง “ความพร้อมรบ” ขนาดใหญ่ในยามสันติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ซึ่งก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลทหารและกองทัพไทยกำลังเตรียมการสงครามอย่างมีนัยสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน
ทั้งที่ภัยคุกคามที่ประเทศต้องเผชิญไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมแต่อย่างใด…
วันนี้ไม่มีสงครามขนาดใหญ่จากแนวรบด้านตะวันออกเช่นในยุคที่เวียดนามยึดครองกัมพูชาหลังปี 2522
แต่ในความเป็นจริงของโลก ปัญหาความมั่นคงในสถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างออกไปจากจินตนาการสงครามในแบบเดิมอย่างมาก
วันนี้ประเทศไทยและหลายๆ ประเทศในโลกกำลังเผชิญกับโจทย์การสงครามที่เป็นอสมมาตร
และในโจทย์ชุดนี้มีการก่อการร้ายเป็นพลังอำนาจของการทำลายล้างที่น่ากลัวที่สุด
ใช่แต่เพียงการก่อการร้ายใหม่ที่เริ่มเห็นได้ชัดเจนจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 ที่อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และวอชิงตันเท่านั้น
แต่หลังจากเหตุดังกล่าว เราเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดในระยะใกล้ๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ปารีส (2558) หรือที่บรัสเซลส์ (2559) ก็ตาม หรือกรณีราชประสงค์ในไทย (2558) ก็เป็นคำเตือนถึงการมาเยือนของสงครามในรูปแบบใหม่เช่นกัน
ในสงครามก่อการร้ายหรือสงครามอสมมาตรในอีกแบบหนึ่งนั้น แทบจะเห็นได้อย่างไม่มีข้อโต้แย้งว่า อำนาจกำลังรบตามแบบกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพมากเช่นในการสงครามแบบเดิม
ดังจะเห็นในทฤษฎีของการป้องปรามว่าอาวุธต่างๆ ของรัฐที่มีอยู่นั้นไม่ใช่ปัจจัยที่เป็น “อำนาจการป้องปราม” ต่อการก่อการร้ายที่ถูกวางแผนมาอย่างดีได้แต่อย่างใด…
ผู้ก่อการร้ายไม่เคยต้องกลัวอำนาจในการป้องปรามจากกองกำลังของฝ่ายรัฐ
และขณะเดียวกันอำนาจเช่นนี้ก็ไม่เคยทำให้ฝ่ายตรงข้ามจะยับยั้งชั่งใจในการเปิดการโจมตี ดังเช่นที่ทฤษฎีการป้องปรามคาดหวังไว้แต่อย่างใด
จนต้องสรุปว่าเครื่องบิน รถถัง และเรือรบ (รวมถึงเรือดำน้ำ) ไม่เคยมีประสิทธิภาพในการป้องปรามผู้ก่อการร้ายที่มีจิตใจมุ่งมั่นได้เลย ดังนั้น ประเทศไทยในสถานการณ์เช่นนี้อาจจะต้องการอาวุธในอีกแบบหนึ่ง
การกล่าวเช่นนี้มิใช่จะบอกเป็นข้อสรุปว่า กองทัพไทยจะต้องยุติการซื้ออาวุธ แต่การซื้ออาวุธที่มีประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์นั้น คงต้องเป็นอาวุธที่เอื้อให้รัฐสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการลดทอนผลของภัยคุกคามที่รัฐนั้นๆ ต้องเผชิญลงให้ได้
แม้การจัดหายุทโธปกรณ์สำหรับสงครามตามแบบจะอยู่ภายใต้วาทกรรมเพื่อการเตรียม “รับสงครามในอนาคต” แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันก็ไม่มีความชัดเจนว่า สงครามตามแบบในอนาคตจะเป็นจริงเพียงใด
หรือว่าในแผนการทัพนั้น กองทัพไทยยังเตรียมตัวรับ “สงครามใหญ่” (major wars) แบบยุคสงครามเย็น ที่เชื่อว่ากำลังรบข้าศึกขนาดใหญ่จะเปิดการยุทธ์รุกข้ามพรมแดนเข้าตีประเทศไทย…
คำถามก็คือ โจทย์การสงครามเช่นนี้เป็นจริงเพียงใดในยุคประชาคมอาเซียน ที่รัฐในภูมิภาคมีกฎกติกาทางการเมืองเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติมากขึ้น และแม้ความต้องการด้านอาวุธเช่นนี้จะถูกทำให้เป็นนโยบาย แต่ความต้องการดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่เป็นความจำเป็นและเร่งด่วนแต่อย่างใด และยังเป็นความไม่เหมาะสมกับเงื่อนไขเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ความมั่นคงร่วมสมัย รัฐบาลไทยยังคงต้อง “ลงทุนด้านความมั่นคง” เพื่อรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ๆ
และดังได้กล่าวแล้วว่าภัยสำคัญที่หลายๆ ประเทศต้องเผชิญก็คือสงครามก่อการร้าย รัฐและสังคมไทยจะรับมือโดยไม่ลงทุนอะไรเลยกับภัยเช่นนี้อย่างไร
หรือวันนี้เราจะเชื่ออย่างมั่นใจว่าองค์กรและงบประมาณที่มีอยู่ในแบบเดิมมีประสิทธิภาพเพียงพอในการรับมือกับภัยนี้
และถ้ามีปัญหาก็ใช้วิธีเพิ่มงบฯ ให้ กอ.รมน. (ที่บริหารและควบคุมโดยกองทัพ) ให้เข้ามาเป็นผู้แก้ปัญหา ซึ่งก็ไม่น่าใช่ทางออกที่ดีแต่อย่างใดในปัจจุบัน
ถ้าคิดว่าจะลงทุนสำหรับความมั่นคงไทยอย่างจริงจังแล้ว บางทีเราอาจต้องการ “คิดใหม่” ทั้งกระบวน
และการคิดใหม่เช่นนี้บางทีอาจจะโหดร้ายที่จำเป็นต้องทำลายความคุ้นเคยและจินตนาการเก่าที่เชื่อว่าพลังอำนาจทางทหารในรูปแบบของอาวุธใหม่ๆ เป็นคำตอบสำหรับการแก้ปัญหาความมั่นคงไทยทุกเรื่อง
ดังนั้น ในขณะที่ผู้นำกองทัพยังยึดโยงอยู่กับ “จินตนาการนอร์มังดี” แต่โลกที่เป็นจริงกลับอยู่กับตัวแบบจากปารีสและบรัสเซลส์มิใช่หรือ?