ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ทำอย่างไรให้ขบวนการปลดแอกชนะเผด็จการ

การชุมนุมของเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 กรกฎาคม กำลังนำสังคมไทยไปสู่สถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะมีจุดจบอย่างไร กิจกรรมปลดแอกที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางแสดงว่ามีคนเห็นด้วยกับสามข้อเสนอเยอะแน่ๆ ต่อให้จะยังไม่รู้ว่าเยาวชนปลดแอกเป็นใครก็ตาม

เยาวชนปลดแอกเปิดศักราชใหม่ของการเคลื่อนไหวมวลชนในสังคมไทย เพราะขณะที่การชุมนุมในอดีตต้องมีแกนนำและการจัดตั้งมวลชน การชุมนุมของเยาวชนปลดแอกมีลักษณะเป็นไปเองโดยแทบไม่มีการจัดตั้งอะไรเลย นอกจากการนัดแนะกันเองผ่านโซเชียลเพื่อรวมตัวกันในเวลาที่รวดเร็ว

ขณะที่ประชาชนในอดีตไปชุมนุมเพื่อฟังแกนนำ ปราศรัยประเด็นต่างๆ กิจกรรมปลดแอกแต่ละพื้นที่คือการรวมตัวของปัจเจกชนที่มีความคิดหลายอย่างตรงกันอยู่แล้ว ผู้ปราศรัยจึงไม่ต้องเสียเวลากับการพูดยืดเยื้อเพื่อบอกโลกว่าคิดอะไร แต่ใช้เวลาไปกับการแสดงออกของคนที่ชุมนุมได้ทันที

การขยายตัวของเยาวชนปลดแอกคือหลักฐานว่ามีความคิดบางอย่างไหลเวียนเป็นกระแสแรงกล้าในสังคม ความคิดแบบนี้มีมาก่อนเยาวชนปลดแอกจะเกิดขึ้น และจะคงอยู่แม้เยาวชนปลดแอกล่มสลาย เพราะกลุ่มปลดแอกเป็นเพียงช่องทางให้ความคิดนี้เผยร่างหลังจากที่อำพรางกายมานานเท่านั้นเอง

ข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการของกลุ่มเยาวชนปลดแอกคือจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่, ยุบสภา และหยุดคุกคามประชาชน แต่ข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นทางการคือสิ่งที่อยู่ในคำปราศรัยของคนนั้นคนนี้ซึ่งทำให้เกิดความสับสนว่าตกลงอะไรคือสิ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษารอบนี้ต้องการ

นายพลสังกัดพรรครัฐบาลและวุฒิสมาชิกหลายคนโจมตีคำปราศรัยของทนายอานนท์และนักศึกษาบางคนที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 10 สิงหาคม และถึงแม้จะเป็นความจริงว่าคำปราศรัยของคนกลุ่มนี้โลดโผนจนล้ำเส้นที่น่ากังวล สารที่ผู้มีอำนาจต้องเห็นและได้ยินคือมีคนในสังคมที่คิดแบบนี้จริงๆ

หัวหน้าพรรคก้าวไกลเปรียบเทียบสิ่งที่ประชาชนคิดเป็น “ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วน” แห่งยุคสมัยหัว ความกระอักกระอ่วนคืออะไรที่พูดแล้วอึดอัด คุยต่อไม่ได้ คนได้ยินได้ฟังแล้วไม่อยากยุ่ง ต่อให้เรื่องที่พูดนั้นจะไม่ได้ผิดกฎหมายหรือหลักศีลธรรมก็ตาม

ในสังคมและในชีวิตจริง ทางออกของการแก้ปัญหาความกระอักกระอ่วนเริ่มจากทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ผู้พูดบางประเภทยุติเรื่องที่พูดแล้วทุกคนกระอักกระอ่วน หรือไม่ก็พูดจนพบด้วยตัวเองว่ายิ่งพูดคนฟังยิ่งลดลงเรื่อยๆ ส่วนผู้ฟังก็ทำได้ทำแค่ทำท่าเบื่อหน่าย ถอนหายใจ หรือไม่ก็อาจจากวงสนทนาไปเลย

“ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วน” คือแบบทดสอบความอดทนและมีใจกว้างของสังคม เพราะความกระอักกระอ่วนเป็นผลของความคิดที่ต่างกันว่าอะไรควรคุยหรือไม่ควรคุย แต่ความคิดที่ต่างกันในหัวแต่ละคนไม่ใช่อาชญากรรมที่ใครจะมีสิทธิทำร้ายใครได้ ทำได้แค่ไม่ต้องคุยแล้วแยกทางกัน

ในฐานะปัจเจกบุคคล ข้อดีของการพูดถึง “ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วน” คือการใช้เสรีภาพในการพูดเพื่อบอกโลกอย่างตรงไปตรงมาว่าคิดอะไร แต่ในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม การพูดเรื่องที่ผู้พูดอึดอัดหมายถึงการพูดเรื่องที่คนอื่นยังไม่อยากพูดจนถอนตัวจากกันไปเลย

สามข้อเสนอของเยาวชนปลดแอกแตกต่างจากสิบข้อเสนอของกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” บนเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน แต่สภาพการเคลื่อนไหวที่เยาวชนปลดแอกเป็น Platform ของทุกกลุ่มทำให้ในที่สุดแล้วยากที่ใครจะแยกข้อเสนอของกลุ่มปลดแอกได้จากข้อเสนออื่นบนเวที

ไม่มีใครรู้ว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอกคิดเหมือนหรือต่างกับ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” แต่ที่แน่ๆ คือวุฒิสมาชิกและคนของรัฐบาลกำลังทำให้สิบข้อเสนอจากเวทีธรรมศาสตร์เป็นข้ออ้างสกัดความเคลื่อนไหวของเยาวชนปลดแอกเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่, ยุบสภา และหยุดคุกคามประชาชน

ส.ว.สมชาย แสวงการ เป็นแถวหน้าของคนที่ต่อต้านไม่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญเรื่องพล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจตั้งวุฒิสมาชิก 250 คนไปเลือกตัวเองเป็นนายก และตอนนี้ ส.ว.สมชายและพวกก็กำลังใช้สิ่งที่ปรากฎบนเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เป็นข้ออ้างให้รัฐสกัดการรวมตัวของนักศึกษาทั้งหมดไปเลย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิบข้อเสนอเรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์ทำให้รัฐบาลและคนบางส่วนเห็นว่าควรตัดไฟแต่ต้นลม แต่ข้อเท็จจริงคือข้อเสนอนี้อาจเป็นภาพสะท้อนของความคิดที่มีจริงในสังคมที่มีคนคิดมากขึ้นจริงๆ ไม่มีใครเป็นต้นลม และการตัดไฟอาจทำให้ยิ่งทำให้กระแสลมลุกลาม

ข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในสื่อคือกระแสเยาวชนปลดแอกลามจากนักศึกษาไปถึงเด็กมัธยม และหากสื่อทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา คนทั้งประเทศก็จะรู้ว่าเด็กมัธยมจากโรงเรียนชั้นนำหลายแห่งจัดกิจกรรมต้านเผด็จการโดยชูกระดาษเปล่ายืนเฉยๆ อย่างกว้างขวางจนการตัดไฟอาจสร้างพายุเพลิง

ด้วยความเป็นจริงของประเทศและความรู้สึกนึกคิดที่คนรุ่นใหม่คิดจริงๆ สามข้อเรียกร้องของกลุ่มปลดแอกเป็นสิ่งที่ไม่อาจกำจัดให้หมดไปได้แล้ว ส่วนสิบข้อเสนอของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เป็นเรื่องที่เพิ่งปรากฏในวันที่ ๑๐ สิงหาคม จนยังสรุปไม่ได้ว่าคือวาระสังคมแล้วหรือยัง

คนที่สนใจสถานการณ์ของประเทศจริงๆ รู้ว่าปัญหาใหญ่ของประเทศไทยช่วงก่อนและหลังปี 2557 คือปัญหาเรื่องชนชั้นนำจะถ่ายโอนอำนาจอย่างไร ความไม่มั่นใจอนาคตสมทบกับความไม่สามารถสร้างฉันทานุมัติเรื่องถ่ายโอนอำนาจทำให้เกิดรัฐประหาร คสช.เพื่อแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีเผด็จการ

ประโยคที่พลเอกประยุทธ์และพวกชอบพูดหลังรัฐประหาร 2557 คือ คสช.เข้ามาเพื่อทำให้ประเทศไทย “เปลี่ยนผ่าน” และถึงแม้จะไม่มีคำอธิบายว่าเปลี่ยนจากอะไรไปสู่อะไร ความกังวลว่าประเทศจะมีเรื่องก็ทำให้ทุกคนยอมรับ หรือยอมจำนน กับระบอบการเมืองที่พลเอกประยุทธ์สร้างขึ้นมา

คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ต้องการเผด็จการ และการที่พลเอกประยุทธ์ใช้กฎอัยการศึกยึดประเทศห้าปีคือหลักฐานโดยตัวเองแล้วว่าคนต่อต้านพลเอกประยุทธ์มีเยอะไปหมด เพียงแต่กระบอกปืนและ “สลิ่ม” กลายเป็นผนังควบคุมประเทศให้อยู่ใต้กะลาพลเอกประยุทธ์สร้างเท่านั้นเอง

ด้วยรัฐธรรมนูญคุณมีชัย ระบอบการเมืองที่คนยอมจำนนเพราะเชื่อว่าอยู่แค่ชั่วคราวช่วงเปลี่ยนผ่านกลายเป็นระบอบถาวร การเปลี่ยนผ่านซึ่งเป็นปัญหาของประเทศจริงๆ ถูกพลเอกประยุทธ์ใช้เป็นข้ออ้างถ่ายโอนอำนาจการเมืองไปสู่ตัวเองอย่างเด็ดขาดราวกับจะอยู่จนถึงวันที่ตายคาเก้าอี้ไปเลย

สามข้อเสนอของเยาวชนปลดแอกมีพลังเพราะแตะปัญหาที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเหตุของปัญหาอื่น พลเอกประยุทธ์ไม่ควรมีอำนาจแต่งตั้ง 250 ส.ว.เพื่อล็อคเก้าอี้นายกให้พลเอกประยุทธ์ตลอดกาล การยุติเรื่องนี้คือการยุติปัญหาอื่นซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะมีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

ด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อปลดแอกประเทศจากพลเอกประยุทธ์ ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่ระบบการเมืองปกติที่ทุกพรรคแข่งขันบนความเสมอภาค การเมืองแบบเปิดจะเป็นกระบวนการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่บิดเบี้ยวช่วงก่อนและหลังปี 2557 ให้ถูกทางขึ้นโดยปริยาย

ต่อให้พลเอกประยุทธ์จะมีอำนาจสูงสุดทางการเมืองและการทหารในปัจจุบัน แต่ทันทีที่กลุ่มปลดแอกชูข้อเรียกร้องเรื่องเลิก 250 ส.ว. คนกลุ่มเดียวที่ต่อต้านเรื่องนี้ก็มีแค่ตัววุฒิสภาซึ่งถูกแต่งตั้งโดยพลเอกประยุทธ์เท่านั้น ส่วนพรรคการเมืองหรือประชาชนกลุ่มอื่นๆ ไม่มีใครเสียเวลาพูดเรื่องนี้เลย

โดยพื้นฐานแล้วพลเอกประยุทธ์ไม่ต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ยิ่งกว่านั้นก็คือพลเอกประวิตรก็ไม่ต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญด้วย เพราะ 250 ส.ว.เท่ากับพรรคการเมืองที่พลเอกประยุทธ์ตั้งโดยภาษีประชาชนจ่าย และการมี 250 ส.ว.คือกลไกที่พลังประชารัฐใช้บีบพรรคอื่นร่วมรัฐบาล

ด้วยพฤติกรรมฉวยโอกาสทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์และส.ว. สิบข้อเสนอธรรมศาสตร์ถูกคนกลุ่มนี้ใช้เป็นข้ออ้างในการขัดขวางการชุมนุมทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการดึงมหาวิทยาลัยมาเป็นพันธมิตรสกัดการรวมตัวของนักศึกษา ผลก็คือนักศึกษาต้องต่อสู้โดยมีศัตรูมากขึ้น แต่มีพวกน้อยลง

พลเอกประยุทธ์คือสัญลักษณ์ของการรวบอำนาจที่บิดเบี้ยวและไร้ประสิทธิภาพจนคนแทบทุกกลุ่มไม่พอใจ กองหนุนพลเอกประยุทธ์เวลานี้เหลือเพียงนักการเมืองและทหารที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากพลเอกประยุทธ์จนมีต้นทุนทางสังคมที่เทียบกับนิสิตนักศึกษาและประชาชนไม่ได้เลย

ประชาธิปไตยคือการดึงอำนาจจากคนส่วนน้อยกลับมาเป็นของประชาชน และในเงื่อนไขที่คนส่วนน้อยผูกขาดกฎหมายและความรุนแรง พื้นฐานของการเมืองแบบประชาธิปไตยจึงได้แก่การรวมพลังคนส่วนใหญ่ให้ได้มากที่สุดเพื่อไปทวงอำนาจจากคนส่วนน้อยในบั้นปลาย

แฟลชม็อบนักศึกษาคือตัวแปรที่ทำให้ประเทศเข้าใกล้การเปลี่ยนแปลงใหญ่มากที่สุดในรอบหลายปี แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไหนที่ปราศจากแรงต้าน ความเปลี่ยนแปลงที่ประสบผลสำเร็จเกิดขึ้นจากการหาจุดแข็งที่สุดของพลังที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปชนกับจุดอ่อนที่สุดของฝ่ายต่อต้านเท่านั้นเอง

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่หัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่มีพลังไหนใหญ่กว่าพลังอื่นอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และในวินาทีที่ประวัติศาสตร์ใกล้จะเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ใครช่วงชิงความยอมรับนับถือจากสังคมได้มากที่สุดคือผู้ที่ประสบความสำเร็จในระยะยาว