ต่างประเทศอินโดจีน : คุณหมอ “ปฏิวัติ”

A health worker wearing protective gear marches towards the state university grounds in Manila on July 27, 2020, ahead of Philippine President Rodrigo Duterteís State of the Nation Address in congress. (Photo by Ted ALJIBE / AFP)

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในฟิลิปปินส์ยังคงอยู่ในระดับที่อันตรายอย่างมาก ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เรื่อยมาจนถึงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในแต่ละวันมีหลายพันคน

แล้วก็เพิ่งสร้างสถิติผู้ป่วยรายวันสูงสุดขึ้นมาใหม่เมื่อ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา วันเดียวมีผู้ติดเชื้อเพิ่มถึง 5,000 ราย

ซึ่งทำให้ฟิลิปปินส์ก้าวขึ้นเคียงคู่กับอินโดนีเซีย ในฐานะประเทศในอาเซียนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมมากที่สุด ประเทศละเกิน 1 แสนคนไปแล้ว

ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” ต่อเนื่องกันยาวนานที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

ชาวตากาล็อกต้องทนรับมาตรการเข้มงวดมาตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม เพิ่งจะมาผ่อนคลายความเข้มงวดลงอย่างเห็นได้ชัดในวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง

เหตุผลของรัฐบาลในการปลดล็อกก็เหมือนกับในหลายประเทศ นั่นคือต้องการรื้อฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายขึ้นมาอีกครั้งหลังจากหดหายไปจนเกือบหมดสิ้น

 

องค์การเพื่อการพัฒนาและเศรษฐกิจแห่งชาติ (เอ็นอีดีเอ) ประเมินว่าภาวะล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในเขตเมโทรมะนิลา หรือมหานครมะนิลากับจังหวัดใกล้เคียง ตั้งแต่คาวิเต้, ริชาล, บูลาคัน และลากูนา ทำให้เศรษฐกิจเสียหายมากถึง 1.1 ล้านล้านเปโซ

คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 5.6 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมด และยังไม่นับรวมกับการที่ทำให้เกิดคนตกงานราว 7 ล้านคน

ล็อกดาวน์ เศรษฐกิจพัง แต่พอคลายล็อกปุ๊บ เป็นเรื่องปั๊บ เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่ที่ดูแล้วรุนแรงมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม สมาคมด้านการแพทย์ราว 50 สมาคมที่ฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์เตือนว่า ที่ระดับการระบาดหลายพันคนต่อวันอย่างนี้ ไม่ช้าไม่นานระบบสาธารณสุขของชาติจะล่มสลาย

ตอนนี้หลายโรงพยาบาลกำลังตกอยู่ในสภาพตึงเปรี๊ยะ เตียงรองรับผู้ป่วยหนักจวนเจียนจะเต็มเต็มที บุคลากรมีงานล้นมือ แทบไม่อาจรับผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้ามาดูแลได้อีกแล้ว

ในเวลาเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขก็ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สะท้อนข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบ่นมาตลอดเกี่ยวกับการขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการป้องกันการติดเชื้อทั้งหลายทั้งปวง

ทำงานหนักมากขึ้น แต่รายได้ไม่เพิ่ม แถมต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนไปทำงานหนักเอง ไม่มีรถราบริการ ทั้งที่ระบบขนส่งมวลชนถูกระงับดำเนินการแล้วก็ตามที

 

นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มของกระแสวิพากษ์วิจารณ์ท่านประธานาธิบดีคนดัง โรดริโก ดูแตร์เต ดังระงมขึ้นตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกออนไลน์

ต่อด้วยการที่กลุ่มแพทย์กลุ่มหนึ่งเขียนจดหมายเปิดผนึก ชำแหละและขับไล่ฟรานซิสโก ดูเก้ รัฐมนตรีสาธารณสุข กับบรรดาอดีตนายพลทหารที่เข้ามารับหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักงานเฉพาะกิจต้านโควิดของท่านประธานาธิบดี

บุคลากรสาธารณสุขจำนวนหนึ่งออกมาร่วมประท้วงกับชาวบ้าน แต่ส่วนใหญ่ประท้วงผ่านโลกออนไลน์

โดยอาศัยเพลงฮิตจากภาพยนตร์ เลส์ มิสเซอราบส์ “Do You here the people sing?” มาใส่เนื้อภาษาตากาล็อกเป็นสื่อ

สิ่งที่บรรดาแพทย์เรียกร้องให้รัฐบาลทำก็คือ ให้รัฐบาลกลับมาล็อกดาวน์เข้มงวดใหม่อีกครั้ง เพิ่มปริมาณการตรวจสอบหาเชื้อโดยใช้วิธีอาร์ที-พีอาร์ซี หรือการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก แทนที่การใช้ “แรพพิด เทสต์” ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนสูงมาก

แล้วก็ต้องแกะรอย สอบสวนโรคให้มากกว่าเดิม เคร่งครัด เข้มงวดกว่าที่ผ่านมา

น่าเศร้าที่แม้จะได้ยิน แต่ดูแตร์เตกลับคิดไปอีกทาง ตีหน้าเครียดหันรีหันขวาง หาว่าพวกคุณหมอจะปฏิวัติ แถมท้าทายต่อว่า ถ้าคิดว่าแก้ปัญหาได้ก็เอาสิ!

ถ้ายังไปคนละทางกันอย่างนี้ โควิด-19 ก็คงระบาดในฟิลิปปินส์ต่อไปได้อีกนาน!